บรรพชา-ปพฺพชฺชา-บวช-อุปสมบท

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  6 เม.ย. 2564
หมายเลข  34003
อ่าน  2,241

ข้อความจากกระทู้ : ความหมายของคำว่า บวช

คำว่า “บวช” เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้ มาจากภาษาบาลี "ปพฺพชฺชา” ซึ่งหมายถึงบรรพชา มีรากศัพท์มาจาก ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว และ วช (วะชะ) แปลว่า เว้น มาเป็นคำว่า “บรรพชา” แล้วกลายมาเป็นคำว่า “บวช” ในที่สุด

คำว่า “ปพฺพชฺชา” หรือ “บรรพชา” แปลว่า เว้นทั่ว หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง หรือ หมายถึง ออกไป คือ ออกไปจากธุระการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์ ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา จะได้นามว่า พระบ้าง ภิกษุบ้าง บรรพชิตบ้าง

ในปัจจุบันคำว่า “การบวช” ที่เราพูดกันนั้น มิได้หมายเอาเฉพาะความหมายที่ตรงกับคำว่า “บรรพชา” เท่านั้น แต่หมายถึงคำว่า “อุปสมบท” ด้วย เพราะตามความหมายเดิม บรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณรเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “บวช” จึงใช้เป็นคำกลางๆ หากต้องการจะสื่อสารให้รู้ว่าบวชเป็นอะไรก็เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย เช่น บวชเณร บวชพระ เป็นต้น

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส นี่คือจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวช ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร? ทำไมต้องบวช?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 11 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ