การบ้าน การเมือง เป็นเรื่องของภิกษุหรือ?

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  4 เม.ย. 2564
หมายเลข  33992
อ่าน  532

อ.จริยา เจียมวิจิตร  : มีคำถามของท่านผู้ฟังท่านผู้ชมว่า "สิทธิ" ของภิกษุ คำว่า "สิทธิ" ได้มีการกล่าวถึงไว้ในพระธรรมวินัยหรือในพระไตรปิฎกอย่างไร หรือไม่ประการใด

อ.คำปั่น อักษรวิลัย  : ในความหมายก็คือหมายถึง ความสมบูรณ์พร้อม เพราะฉะนั้น ในเมื่อท่านจะเข้ามาเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย ท่านต้องพร้อม เป็นผู้ที่พร้อมที่จะมีฐานะของความเป็นภิกษุจริงๆ ตามพระธรรมวินัย หมดสิทธิของความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ ท่านได้สิทธิของความเป็นภิกษุตามพระธรรมวินัย ที่จะศึกษาและประพฤติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะความเป็นภิกษุประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยสิกขา คือการศึกษาพระธรรมคำสอน และประพฤติตาม และถึงพร้อมด้วยสาชีพ สาชีพก็คือ มีความเข้าใจในสิกขาบททั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ที่เมื่อประพฤติตามแล้ว นำมาซึ่งความสงบสุขในหมู่แห่งพระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นประโยชน์สำหรับตนเองด้วย

อ.จริยา เจียมวิจิตร  : อีกคำถามหนึ่ง กราบเรียนถามท่านอาจารย์จรัญว่า ความเสมอภาคของภิกษุกับฆราวาส เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร ตามหลักพระธรรมวินัย เหตุผลที่เด่นชัดที่สุด ไม่ควรให้ภิกษุเป็น สสร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) และการที่ภิกษุเป็น สสร. เป็นผลดีหรือผลเสียต่อพุทธศาสนาอย่างไร

อ.จรัญ ภักดีธนากุล  : คำถามแรก ไม่มีปัญหา ชัดเจนว่า ภิกษุกับฆราวาส อยู่คนละมิติ อยู่คนละฐานะ คนละสภาวะ ถ้าเป็นภิกษุแล้ว จะมาทำตัวให้เหมือนฆราวาส ก็ไม่ใช่ ไม่อย่างนั้น ท่านก็จะมีลูกมีเมียได้สิ ท่านก็จะประกอบธุรกิจการค้า เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีได้สิ แต่นี่ชัดเจนว่า ไม่ได้แน่ๆ และที่ทำกันนี่ แอบทำ แล้วก็ถือว่าผิด เพียงแต่ว่า ยังไม่มีการกำราบปราบปรามกันให้จริงจัง

"..ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะดึงเอาพระภิกษุสามเณร ที่พวกเราชาวพุทธเคารพสักการะบูชา กราบไหว้ ให้ท่านลงมาเกลือกกลั้วมัวหมองอยู่กับการแก่งแย่งอำนาจ แก่งแย่งผลประโยชน์ในทางโลก อย่างนี้มันเสื่อมครับ..."

อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์  : ก็เพียงแต่จะถามพระภิกษุรูปนั้น บวชเพื่อที่จะเป็นสมาชิก สสร. หรือบวชเพื่อขัดเกลากิเลส ที่จะถึงการดับกิเลส? จะได้รู้ตัวว่าเป็นภิกษุหรือเปล่า แล้วภิกษุที่ทำอย่างนั้น ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแน่นอน แต่คฤหัสถ์ที่ทำอย่างนั้น ยังสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเป็นผู้ตรงต่อความจริงว่า สามารถเข้าใจธรรมะในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่ต้องศึกษา ไม่ใช่ว่าสามารถแต่ไม่ศึกษา ก็จะรู้แจ้งได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์

พราะฉะนั้น ถ้าจุดประสงค์ของการเป็นภิกษุ สละเพศคฤหัสถ์เพื่ออะไร? ถ้าจะเป็นสมาชิก สสร. ก็เป็นเพศคฤหัสถ์ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าเป็นภิกษุแล้วใฝ่ในเรื่องของการที่จะไม่ทำกิจของภิกษุ ไม่ทำกิจของพระภิกษุ แล้วเป็นภิกษุได้หรือ? เพราะฉะนั้น ทางเดียวก็คือว่า ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแน่นอน แล้วยังมีโทษอื่นอีกไหมคะ คุณคำปั่น

อ.คำปั่น อักษรวิลัย : การที่พระภิกษุไปทำกิจของคฤหัสถ์ เกลือกกลั้วกับคฤหัสถ์ เป็นการไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลมากมาย แล้วก็สามารถล่วงพระวินัยได้มากข้อด้วย ข้อความในภัททกสูตร มีข้อความแสดงไว้ชัดเจนว่า ภิกษุที่ยินดีในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่ไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ ผิดพระวินัย ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมะได้ เพราะว่า มีอาบัติเป็นเครื่องกั้น และถ้าท่านไม่เห็นโทษ ไม่แก้ไข มรณภาพไป ชาติถัดไป ถัดจากชาตินี้เลย ก็คือ อบายภูมิ เท่านั้น เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงชัดเจนว่า อาบัติที่ภิกษุมีความจงใจที่จะล่วงละเมิด เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมะได้ แน่นอน และมีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ก็คือ ถัดจากชาตินี้เลย

ติดตามชมบันทึกการสนทนาพิเศษ "พระธรรมวินัยกับกฏหมาย"(ภาคบ่าย) ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ ฉบับเต็ม ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ