[คำที่ ๒๓๔] นิจฺจสีล

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ก.พ. 2559
หมายเลข  32354
อ่าน  450

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นิจฺจสีล”

คำว่า นิจฺจสีล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า นิด - จะ - สี - ละ] มาจากคำว่า นิจฺจ (เนืองนิตย์,เป็นนิตย์) กับ คำว่า สีล (ศีล ความประพฤติเป็นปกติ ในที่นี้ กล่าวถึงกุศลศีล กล่าวคือ การวิรัติงดเว้นจากการทำสิ่งที่ไม่ดี มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น)  รวมกันเป็น นิจฺจสีล แปลว่า ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเนืองนิตย์ แปลทับศัพท์เป็น นิจจศีล แสดงให้เห็นความจริง ว่า ความดี ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องบังคับให้ทำอย่างนั้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตามความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับความเข้าใจถูกเห็นถูกของแต่ละบุคคลว่าจะน้อมประพฤติตามได้มากน้อยแค่ไหน เพราะธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ในเรื่องของ ศีล ๕  ซึ่งเป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ควรจะได้รักษา ไม่ก้าวล่วง ซึ่งไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่ต้องด้วยความเข้าใจ ว่า การกระทำในสิ่งที่ผิด ไม่ดีเหล่านั้น มีโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น ก็งดเว้น ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นี้เอง ที่จะอุปการะเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลาย เจริญขึ้น รวมถึง กุศลศีล ด้วย

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงไว้ว่า  ศีล ๕  ได้แก่ .-

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

๒. อทินนาทานา เวรมณี (การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

๔. มุสาวาทา เวรมณี (การงดเว้นจากการพูดเท็จ)

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)         


พุทธศาสนิกชน คือ ผู้ที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล และ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเรื่องของ ศีล ๕  ก็ควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง ให้เห็นโทษของอกุศล และเป็นผู้รักษาศีลซึ่งเป็นนิจจศีล

สำหรับศีลที่เป็นกุศล  ๕ ข้อ  มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั้น  ก็จะพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละเว้นจริงๆ ได้แก่

๑. ละเว้นการฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ทุกชีวิต ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า และที่น่าพิจารณา คือ จะต้องไม่มีการเบียดเบียนด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพียงการฆ่าอย่างเดียว

๒. ละเว้นการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้เพียงความคิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนชอบของของคนอื่น แต่ลองคิดดู สิ่งที่ท่านชอบ เจ้าของเขาต้องชอบด้วยเช่นกัน ในเมื่อท่านยังชอบของของเขา เขาก็ต้องชอบของของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้ความคิดก็ไม่ควรที่จะคิดต้องการถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของคนอื่นมาเป็นของตน  

๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประพฤติผิดในบุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ถ้าเว้นได้ ก็เป็นการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างแท้จริง

๔. ละเว้นจากการพูดมุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เพราะเหตุว่าคำพูดที่ไม่จริง ไม่มีใครชอบเลย แม้แต่ธรรมที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล ก็เป็นมุสาวาท เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความจริง พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ แล้วก็มีวิริยะที่จะงดเว้น  ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่ว่าการเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่า ไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็ยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ พอกพูนอกุศลเป็นเรื่อยๆ จนหนานแน่นขึ้น เป็นผู้ไม่ตรงต่อความจริง 

๕. ละเว้นการดื่มสุรา หรือว่าของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติ ย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ เป็นต้น นั่นต้องเป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มึนเมาและไม่มีความรู้สึกตัว เพราะโดยปกติชีวิตปุถุชนหนาแน่น มากไปด้วยกิเลสอยู่แล้ว ยิ่งเติมเชื้อที่จะเป็นเหตุให้เกิดความมัวเมาขึ้น  ก็ยิ่งส่งเสริมให้กระทำในสิ่งที่ผิด ได้ง่าย 

นี้คือชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นผู้รักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะคิดว่า เมื่อเป็นข้อห้ามก็จะไม่ทำ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่าง เพื่อจะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น ขัดเกลากิเลสของตน  เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล และเข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะอุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และน้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะปัญญา ไม่นำพาไปในทางที่ผิด ไม่นำพาไปสู่ความเสื่อม มีแต่จะนำพาไปสู่ความดีทั้งปวงเท่านั้น.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ