[คำที่ ๒๓๗] ปริยุฏฺฐานกิเลส

 
Sudhipong.U
วันที่  10 มี.ค. 2559
หมายเลข  32357
อ่าน  884

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปริยุฏฺฐานกิเลส

คำว่า ปริยุฏฺฐานกิเลส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริ - ยุด - ถา - นะ - กิ - เล - สะ] มาจากคำว่า ปริยุฏฺฐาน (กลุ้มรุม, พัวพัน, ตั้งขึ้นโดยรอบ) กับ คำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) รวมกันเป็น ปริยุฏฺฐานกิเลส แปลว่า กิเลสที่เกิดขึ้นพัวพันจิต,กิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต แปลทับศัพท์เป็น ปริยุฏฐานกิเลส แสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่กลุ้มรุมพัวพันจิต ซึ่งมีมากในชีวิตประจำวัน เป็นไปกับความติดข้องบ้าง ความโกรธขุ่นเคืองใจไม่พอใจบ้าง แต่ยังไม่มีกำลังกล้าถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมที่เป็นกิเลสนั้นเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เป็นอย่างมาก ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจึงจะสามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่ามากไปด้วยกิเลส และสามารถที่จะขัดเกลาได้เมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น

ข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความหมายของ ปริยุฏฐานกิเลส ไว้ว่า “กิเลสทั้งหลาย ชื่อว่า ปริยุฎฐาน เพราะอรรถว่าหุ้มห่อจิตเกิดขึ้น”


กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลส เวลาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเขาเองเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วยและจะต้องเกิดร่วมกับกุศลจิตเท่านั้น กิเลสจะเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีไม่ได้เลย กิเลสมีมากมายหลายประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ที่สำคัญ กิเลส ไม่ได้อยู่ในตำราเลย แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจะไม่รู้เลยว่า มากไปด้วยกิเลสแค่ไหน เช่น โลภะ (สภาพธรรมที่ติดข้อง ยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มานะ (ความสำคัญตน) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อกุศลธรรม) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อกุศลธรรม) เป็นต้น ทั้งหมดนั้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา

จะเห็นได้ว่า กิเลสในชีวิตประจำวัน มีมากมายประมาณไม่ได้ แม้แต่ในวันนี้เอง เมื่อเทียบส่วนกันระหว่างกุศล กับ กุศล แล้ว เทียบส่วนกันไม่ได้เลย เพราะมีกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต นั่นเอง ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด จะไม่ปราศจากกิเลสเลย ตามแต่ประเภทของกุศลจิตนั้นๆ และสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะอีกด้วย

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงไว้ ว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ (วีติกกมกิเลส) จะเห็นได้จากการประพฤติทุจริต ล่วงศีล ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี ติดข้องเป็นปกติตั้งแต่ตื่นนอนเป็นต้นมา ยังไม่มีอาการจนถึงกับล่วงเป็นทุจริตกรรม กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต (ปริยุฏฐานกิเลส) ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด (อนุสัยกิเลส) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลางและกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสในระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสใดๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามการสะสมของแต่ละบุคคล กิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบ และ ที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือ ขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย การที่จะดับกิเลสได้นั้น ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่น

เมื่อรู้ว่ามีกิเลสมากอย่างนี้ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้นจนสามารถดับกิเลสประการต่างๆ ได้จริง ซึ่งจะต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม นับวันกิเลสก็มีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าตนเองมีกิเลส หรือ เพราะเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว สังสารวัฏฏ์ก็ยังต้องเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องเตือนที่ดี เกื้อกูลให้เห็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่สำคัญมากในพระธรรมวินัยนี้ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินไปถึงการดับกิเลสทั้งปวงได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ไม่เกิดอีกเลย พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Smornmas
วันที่ 16 ส.ค. 2565

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ