[คำที่ ๒๓๘] ภิกฺขุ

 
Sudhipong.U
วันที่  17 มี.ค. 2559
หมายเลข  32358
อ่าน  372

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ภิกฺขุ

คำว่า ภิกฺขุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า พิก - ขุ] เขียนเป็นไทยได้ว่า ภิกษุ มีความหมายหลายอย่าง ทั้ง ผู้ขอ (โดยธรรม) ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ผู้ทำลายกิเลสมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นได้ เป็นต้น จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก แสดงทั้งความเป็นภิกษุโดยสภาวะจริงๆ คือ ผู้ที่สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ (ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม) และ อีกความหมายหนึ่งแสดงถึงภิกษุโดยเพศ คือ ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติ มุ่งสู่เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพระภิกษุหรือไม่ก็ตามการสะสมของผู้นั้นจริงๆ

ข้อความที่แสดงถึงความหมายของ “ภิกษุ” มีดังนี้

“บุคคลหาชื่อว่าเป็นภิกษุเพียงด้วย การขอคนอื่นไม่ บุคคลสมาทานธรรม เป็นพิษ หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปเสียแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยการพิจารณา ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็น ภิกษุ”

(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภิกขกสูตร)

“บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส)


ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จะไม่สามารถมีความรู้อะไรเลย แม้คำว่า ภิกษุ ก็ไม่รู้ว่า คือใคร ซึ่งลึกซึ้งมาก คือ เป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ภัยคือการมีชีวิตอยู่ที่เต็มไปด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น บุคคลในสมัยพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสเพราะท่านสะสมมาที่จะเห็นโทษของอกุศล และมีปัญญารู้ว่า กุศลย่อมดีกว่าอกุศลและรู้ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะดับอกุศลได้ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ผู้ที่จะอุปสมบท (บวช) เป็นพระภิกษุ ย่อมเป็นผู้ที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์เพราะว่าก่อนจะบวชก็มีกิเลส คฤหัสถ์ก็มีกิเลส และคนที่จะบวชก็จะต้องเห็นโทษกิเลสเป็นสิ่งที่ละยากในเพศคฤหัสถ์ และสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะสละ ละทุกอย่างที่เคยติดข้อง สละหมดไม่เหลือเลยทั้งครอบครัว วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ไม่ผูกพันไม่ติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เพื่อเข้าใกล้ความสงบจากกิเลส นี้คือจุดประสงค์ของการเป็นพระภิกษุ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น และที่สำคัญ พระภิกษุทุกรูปในสมัยพุทธกาล ทั้งหมดและทุกยุคทุกสมัยด้วย ต้องเคารพในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่ง ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดอกุศลพอกพูนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง สิ่งนั้นพระภิกษุ ทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การรับเงินรับทอง การมีเงินมีทอง พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิ งเพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่พระภิกษุโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มณิจูฬกสูตร ว่า

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน, เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดีพึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”

พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้อันเหมาะควรแก่บรรพชิตและอาศัยปัจจัย ๔ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ อาหารบิณฑบาตที่มาจากศรัทธาของชาวบ้าน จีวรเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเกิดอาพาธ (เจ็บป่วย) พระภิกษุรูปใด รับเงินและทอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตย์ สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค ว่า

“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

ต้องสละเงินนั้นในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) ได้ และทำให้เป็นผู้พ้นจากโทษนั้นได้ แต่ถ้าภิกษุรูปใด มีเงินและทอง รับเงินและทอง ยินดีในเงินและทองแม้ที่เขาเก็บไว้ให้เพื่อตน ไม่เห็นโทษของการล่วงละเมิดพระวินัย ภิกษุนั้น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แต่เป็นผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย เป็นมหาโจรหลอกลวงชาวบ้าน เป็นผู้ประพฤติไม่ประเสริฐ เป็นผู้มีความประพฤติต่ำทราม เป็นผู้เน่าใน เป็นผู้ดังหยากเยื่อ อันเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไม่รักษาพระวินัย ล่วงพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว

นี้เป็นเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้นที่พระภิกษุ ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไปแล้วเป็นอาบัติ มีโทษกับผู้นั้น เพราะกิจหน้าที่ที่สำคัญที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะกระทำได้ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง เผยแพร่พระธรรมอย่างถูกต้อง และกระทำกิจอันเหมาะควรแก่ความเป็นพระภิกษุเท่านั้น

ถ้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วแต่เป็นผู้ไม่ดำรงอยู่ในพระธรรมวินัย กล่าวได้เลยว่าเป็นผู้ทรยศต่อพระรัตนตรัย เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองอย่างที่ได้ปฏิญาณไว้ ได้แต่เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย โทษย่อมเกิดแก่ผู้นั้นโดยส่วนเดียวและ เมื่อไม่ได้กระทำคืนในอาบัติที่ตนเองล่วงละเมิดไปตามพระวินัยแล้ว ถ้ามรณภาพไปในขณะที่ยังมีอาบัติติดตัวอยู่ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า กล่าวคือ ชาติถัดไปจะไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ซึ่งพระภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า แต่ละคนควรอบรมเจริญปัญญาในเพศใด แม้ไม่ได้สละอาคารบ้านเรือนอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็สามารถอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีในเพศคฤหัสถ์ได้ เพราะไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และแท้ที่จริงแล้ว การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็ยังยาก และสิ่งที่จะเกื้อกูลให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ