[คำที่ ๒๓๖] ปญฺญาสตฺถ

 
Sudhipong.U
วันที่  3 มี.ค. 2559
หมายเลข  32356
อ่าน  286

ภาษาบาลี ๑ คำคติธรรมประจำสัปดาห์ “ปญฺญาสตฺถ

คำว่า ปญฺญาสตฺถ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัน - ยา - สัด - ถะ] มาจากคำว่า ปญฺญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก,เข้าใจตามความเป็นจริง) กับคำว่า สตฺถ (ศาสตรา,สิ่งที่สามารถตัดได้) รวมกันเป็น ปญฺญาสตฺถ แปลว่า ศาสตราคือปัญญา หรือ ปัญญาเพียงดังศาสตรา เป็นคำที่แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง คือ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง และ ปัญญานี้เองเมื่ออบรมเจริญจนถึงความสมบูรณ์ แล้วก็สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ปัญญาจึงเปรียบเสมือน ศาสตรา เพราะเป็นสภาพธรรมที่สามารถตัดกิเลสได้ ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ “ศาสตราคือปัญญานั่นแหละ ชื่อว่า ปัญญาสัตถะ เพราะอรรถ (ความหมาย) ว่า ตัดกิเลส.”


ในสมัยครั้งพุทธกาล ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความรู้ ความเข้าใจ เห็นจริงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เกิดความปลื้มใจ ปีติ ยินดี เบิกบานที่ได้เข้าใจความจริงเพราะไม่เคยได้เข้าใจมาก่อน มีการชื่นชมพระดำรัสของพระองค์ว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางให้แก่คนหลงทาง และตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่เกิดความเบิกบานก็เพราะได้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เกิดความซาบซึ้งเห็นตามความเป็นจริง ว่า สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้เลย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างแท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม เพียงพอแก่ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้ พระองค์ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นั้นผู้นี้มานับถือพระองค์ แต่พระองค์ทรงแสดงความจริง เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีการพิจารณาไตร่ตรอง เห็นด้วยตนเองตามความเป็นจริง พระบารมีทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกด้วยการทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ดังนั้น ที่จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทจริงๆ ก็คือ การมีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการทรงแสดงพระธรรม สิ่งที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล และ เจริญกุศล สภาพธรรมใดที่มีโทษ ก็ทรงแสดงถึงโทษจริงๆ ว่า ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรละทั้งความติดข้อง ความโกรธ ความหลง ความแข่งดี ความริษยา ความตระหนี่ เป็นต้น ซึ่งการที่จะละได้นั้น ไม่ใช่ด้วยความอยากด้วยความต้องการ แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา และสภาพธรรมใดที่ไม่มีโทษ คือ ความไม่ติดข้อง ความไม่โกรธ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความไม่แข่งดี ความไม่ริษยา ความไม่ตระหนี่ เป็นต้น เป็นธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ฟัง ได้พิจารณา เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว จากที่เคยเป็นผู้มากไปด้วยกุศลประการต่างๆ ก็สามารถที่จะละคลายกุศล ขัดเกลากิเลสของตนเอง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน

นี้คือคุณของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เห็นประโยชน์และมีความอดทน มีความจริงใจ มีความเพียรที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไป ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวง ได้ในที่สุด เพราะปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ เป็นที่พึ่งได้ในทุกระดับขั้น จนถึงสูงสุดกำลังของปัญญา ก็สามารถดับกิเลสได้ ตัดกิเลสได้จนหมดสิ้น จึงเปรียบเสมือนว่า ปัญญา เป็นเพียงดังศาสตรา ก็เพราะสามารถตัดกิเลสได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงการตัดหรือการดับกิเลสได้นั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ