[คำที่ ๗๗] ภย

 
Sudhipong.U
วันที่  14 ก.พ. 2556
หมายเลข  32197
อ่าน  363

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ภย ”

คำว่า ภย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า พะ - ยะ นิยมแปลทับศัพท์เป็นไทยว่า ภัย  หมายถึง สิ่งที่น่ากลัว  สิ่งที่นำมาซึ่งความหวาดสะดุ้งแห่งจิต มีความหมายครอบคลุมภัยทุกอย่าง หลายนัย ในที่นี้ขอนำเสนอในความหมายที่เป็นภัย คือ กิเลส ในอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ มีข้อความว่า อกุศลแม้ทั้งปวง ชื่อว่า กิเลสภัย กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต  เป็นภัยภายในที่ยากจะเห็นได้ เกิดขึ้นมาเมื่อใดก็ทำร้ายจิตใจเมื่อนั้น ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย ดังข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปุริสสูตร ว่า 

ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓ อย่าง เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน? ธรรม ๓ อย่าง คือ โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความไม่รู้) ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓  อย่างนี้แล เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย


มนุษย์เมื่อเกิดมาแล้ว แต่ละบุคคลย่อมไม่พ้นจากภัยประการต่างๆ ในชีวิต ทั้งภัยคือความแก่ ภัยคือความเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด และในที่สุดไม่พ้นไปจากภัยคือความตาย ซึ่งทั้งหมดสืบเนื่องมาจากการเกิด และตราบใดที่ยังเกิดวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น  เกิดกับแต่ละบุคคลเมื่อใด

ในขณะนี้ทุกคนย่อมมีความกลัวภัยอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าชีวิตไม่ได้ปลอดภัยอยู่ทุกขณะ ถ้ากล่าวถึงส่วนรวมที่เห็นได้ชัด คือ บ้านเมืองยังต้องมีการป้องกันข้าศึกศัตรูภายนอกด้วยเครื่องป้องกันประการต่างๆ ฉันใด ทุกคนก็ควรจะได้ป้องกันภัยจากข้าศึกภายใน คือ กิเลส  ด้วยกุศลธรรม ฉันนั้น ถ้ากล่าวถึงตัวบุคคลแต่ละบุคคล ก็ย่อมกลัวภัยที่จะมาถึงจากศัตรู แต่ว่าภัยภายใน คือ กิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นกุศลธรรม ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเบียดเบียนทุกขณะ จะป้องกันอย่างไร? เพราะเหตุว่าส่วนมากจะไม่คิดถึงการป้องกันภัยจากศัตรูซึ่งเป็นกิเลสของตนเอง  

เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ทำให้ได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังมีกิเลสที่หนาแน่น ยังเต็มไปด้วยภัยภายในคือกิเลสที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง และทำให้รู้ว่าตนเองยังต้องอบรมปัญญาต่อไปอีกเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะสามารถละกิเลสที่สะสมมาอย่างยาวนานได้ เพราะเราสะสมเพิ่มพูนกิเลสอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โอกาสจะเจริญกุศลก็มีน้อยในชีวิตประจำวัน และกุศลที่ว่าน้อยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จะเห็นได้ว่าหากไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งเพื่อดับความเห็นผิดว่ามีตัวตนแล้ว ไม่มีหนทางใดที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ (การเกิดวนเวียนอยู่ในภพภูมิต่างๆ) ได้เลย  

เพราะฉะนั้นการป้องกันภัยคือกิเลสนั้น ต้องอาศัยการเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย มีศรัทธา  หิริ  โอตตัปปะ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะถ้ามีปัญญาแล้ว กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญเพิ่มขึ้น ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเครื่องป้องกันกุศลแล้ว เพราะขณะนั้นกุศลเกิดไม่ได้ จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น โดยมีพื้นฐานความเข้าใจพระธรรมที่มั่นคงจากการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อนั้นจึงจะเป็นผู้ปลอดภัยอย่างแท้จริง ปลอดจากภัยคือกิเลส  ปลอดจากการที่จะต้องเกิดมาในสังสารวัฏฏ์ประสบกับภัยต่างๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้พ้นจากทุกข์ เป็นผู้พ้นจากภัยโดยประการทั้งปวง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ