[คำที่ ๘๑] ปมาท

 
Sudhipong.U
วันที่  14 มี.ค. 2556
หมายเลข  32201
อ่าน  289

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ปมาท

คำว่า ปมาท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง แปลว่า ความประมาท มุ่งหมายถึง ขณะที่เป็นอกุศลทั้งหมด ดังข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก  วิภังคปกรณ์ ว่า

“ความปล่อยจิตไป ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) หรือ ความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ติดต่อ ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจจริง ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการเจริญกุศล-ธรรมทั้งหลาย,    ความประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท กิริยาที่ประมาท สภาพที่ประมาท สภาพที่ประมาท อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้  นี้เรียกว่า ความประมาท”


ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น เป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรมเลย เพราะทุกขณะของชีวิตมีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่รู้จักสภาพธรรมในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏ,  สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล นั้น แต่ละบุคคลย่อมทราบดีว่าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาเพียงชาติเดียว หรือสองชาติเท่านั้น และในแต่ละชาติก็สั้นมาก การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในภพในชาตินี้ จะมีชื่อเสียง มีตระกูล มีมิตรสหาย และมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า ขณะที่เป็นกุศล มีมากกว่าขณะที่เป็นกุศล ถ้าชาตินี้หมดไป คือ ผ่านไป ซึ่งในที่สุดก็จะต้องหมดไปแน่นอน ผ่านไปโดยไม่มีสิ่งใดเหลือในความเป็นบุคคลนี้อีก และเมื่อเกิดในชาติหน้า (ถ้า) สามารถจะระลึกได้ อาจจะรู้สึกเสียดายว่าชาตินี้เจริญกุศลน้อยไปหรือว่าเสียเวลากับสิ่งที่ไม่มีสาระมากไป ที่เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อหย่อนต่อการเจริญกุศลประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเลย ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างมาก 

ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้น ประมาทแล้ว เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ประมาทอยู่ แม้จะมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปี ก็เป็นเหมือนกับคนที่ตายแล้ว เพราะคนที่ตายแล้วไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้  ไม่สามารถเจริญกุศลได้ เช่นเดียวกันกับผู้ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้ทำความดีอะไรๆ เลย ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ผู้ประมาท จึงไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว, ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะมีการเกิด การตาย จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่งอยู่ แต่โอกาสของการดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีการเกิดการตายอีกเลยนั้น ย่อมมีได้  สังสารวัฏฏ์ มีโอกาสจบสิ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท จึงได้ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย เพราะในที่สุดแล้วก็จะไม่มีการเกิดการตายอีก ไม่เหมือนกับผู้ที่ประมาทอยู่เนืองๆ ซึ่งโอกาสของการหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่มีเลย ไม่สามารถพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ได้เลย    

ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ได้ชื่อว่า เป็นประมาท พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเตือนที่ดี ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด จะเป็นผู้ที่ประมาท ไม่ได้เลย  บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ชาตินี้มีกิเลสมาก ก็ยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ขัดเกลาให้เบาบางด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ชาตินี้ปัญญายังน้อย ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง และจริงใจในการที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ