[คำที่ ๗๔] วิหิงสา

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ม.ค. 2556
หมายเลข  32194
อ่าน  569

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  วิหิสา

คำว่า วิหิสา (อ่านว่า วิ - หิง - สา) เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง เขียนเป็นไทยว่า วิหิงสา แปลว่า การเบียดเบียน แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งทางกาย และทางวาจา, วิหิงสา การเบียดเบียน เป็นธาตุ เป็นธรรมที่มีจริง ดังข้อความบางตอนจาก พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ว่า

“บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตราหรือเชือก ความข่มเหง ความข่มเหงอย่างแรง ความเบียดเบียน ความเบียดเบียนอย่างแรง ความขึ้งเคียด ความเคียดแค้น ความเข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น เห็นปานนี้  นี้เรียกว่า วิหิงสาธาตุ”

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเตือนให้เห็นโทษของการเบียดเบียน เช่น

ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น ย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า, ผู้ใด แสวงหาความสุข เพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น ย่อมได้ความสุข ในโลกหน้า

(จาก...พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย    อุทาน    ทัณฑสูตร)

ถ้าว่า ท่านมีชื่อว่า อหิงสกะ ท่านพึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ, ผู้ใด ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้นั้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า อหิงสกะ (ผู้ไม่เบียดเบียน) โดยแท้

(จาก... พระสุตตันตปิฎก   สังยุตตนิกาย    สคาถวรรค    อหิงสกสูตร)


การเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยการประทุษร้าย โดยประการต่างๆ หรือแม้แต่การเบียดเบียนด้วยคำพูด อย่างเช่น คำพูดที่พูดไปแล้วทำให้ผู้ฟังไม่สบายใจ คำด่า รวมไปถึงคำพูดที่เป็นการเหน็บแนม เสียดสี เป็นต้น นั้น เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล เพียงคิดที่จะเบียดเบียนคนอื่น คิดไม่ดีกับคนอื่น ก็ไม่ดีแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเอง ยิ่งถ้าล่วงเป็นทุจริตกรรม มีการประทุษร้ายคนอื่นเกิดขึ้น ทางกาย ทางวาจา ด้วยแล้ว นั่นเป็นกุศลกรรม   เมื่อกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่ดีกับตนเอง เท่านั้น ในเมื่อเป็นกรรมที่ตนเองได้กระทำ ก็ต้องเป็นตนเองเท่านั้นที่ได้รับผลของกรรม 

การเบียดเบียนผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรโดยประการทั้งปวง เพราะเจตนาเบียดเบียนผู้อื่น นั่นแหละที่จะเบียดเบียนตนเอง เพราะเป็นอกุศลของตนเอง ก็ย่อมให้โทษแก่ตนเอง ดังนั้น พึงเป็นผู้ใคร่ครวญด้วยปัญญา เห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา ตนเองไม่ชอบฉันใด คนอื่นก็ย่อมจะเป็นฉันนั้น คือไม่ชอบเช่นเดียวกัน แล้วละสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นเสีย ไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและด้วยวาจา   เพราะเหตุว่า มีสิ่งควรทำ สิ่งที่ควรพูดอีกมากมายซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ จึงควรทำ และพูดแต่สิ่งทีดี เท่านั้น ถ้าเป็นผู้รักตนจริงๆ แล้ว ก็จะต้องเป็นคนดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมกับฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะสิ่งจะเป็นที่พึ่ง เป็นประโยชน์จริงๆ ย่อมไม่พ้นไปจากความดี และการเข้าใจพระธรรม.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ