[คำที่ ๗๖] พรหมวิหาร

 
Sudhipong.U
วันที่  7 ก.พ. 2556
หมายเลข  32196
อ่าน  436

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “พฺรหฺมวิหาร”

คำว่า พฺรหฺมวิหาร (อ่านว่า พรำ - มะ - วิ - หา - ระ  เขียนเป็นไทยว่า พรหมวิหาร อ่านว่า พรม  วิ หาน หรือ พรม มะ วิ หาน) หมายถึง  เครื่องอยู่อย่างประเสริฐ ไม่มีโทษ โดยแสดงถึงธรรม ๔ ประการ มี เมตตา เป็นต้น โดยที่เมตตา เป็นที่ตั้งแห่งพรหมวิหารธรรมทั้งหลาย ดังข้อความบางตอนจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เมตตาภาวสูตร ว่า

“เมตตานี้ มีความประพฤติอาการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีการประมวลประโยชน์เกื้อกูล เป็นกิจ มีการปลดเปลื้องความอาฆาตเป็นเครื่องปรากฏ ผิว่าเมตตา อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาวนา (การอบรมธรรมฝ่ายดี) มีกรุณาเป็นต้น ย่อมสำเร็จได้โดยง่ายทีเดียว เพราะเหตุนั้น เมตตาจึงเป็นที่ตั้งแห่งพรหมวิหารธรรม นอกนี้”   


พรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี, กรุณา ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์, มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข และ อุเบกขา ความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง เป็นธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ หรือ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ ไม่มีโทษใดๆ เลย เพราะบุคคลผู้ประเสริฐ ไม่ได้อยู่ด้วยโลภะ ความเกลียดชัง ความริษยา ความเห็นแก่ตัว แต่อยู่ด้วยเครื่องอยู่ที่ประเสริฐในชีวิตประจำวัน คือ ด้วยพรหมวิหารธรรม  ดังนี้

เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน พร้อมจะเกื้อกูลให้ผู้อื่นมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ให้มีกายวาจาใจที่ถูก นี้คือความเป็นมิตรที่แท้จริง ไม่ใช่ให้ไปนั่งท่องบทเมตตาแล้วหวังผลของเมตตา และที่ใช้คำว่า เจริญเมตตา ไม่ใช่คับแคบเฉพาะอยู่ในหมู่ของเรา ในบ้านของเรา ในวงศาคณาญาติของเรา  เพราะว่าความเป็นมิตรเป็นกุศล กุศลทั้งหลายควรเจริญ ถ้ามีความเป็นเพื่อนแล้ว จะไม่เดือดร้อนเลยสักขณะเดียว และเวลาที่ใช้คำว่า “ความเป็นเพื่อน” จะใช้กับสัตว์บุคคล, แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนใจใครได้ แต่ใจของเราที่ไม่เป็นศัตรู ไม่คิดร้ายต่อใคร ขณะนั้นเราจะไม่มีศัตรูเลย เมตตาเป็นคุณธรรม ซึ่งมีได้ทุกกาล เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อมีปัญญาแล้ว กาย วาจาของเราจะดีขึ้น คนที่เคยพูดคำที่ไม่น่าฟัง แต่พอเข้าใจในความเป็นเพื่อน และคิดถึงว่า คนอื่นก็ไม่อยากได้ยินคำอย่างนี้ ก็จะหยุดทันที แม้ว่ากำลังจะกล่าวคำที่ไม่น่าฟัง นี้คือ ความเป็นผู้มีเมตตา คือ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ทุกกรณี ทุกสถานการณ์

กรุณา ความช่วยเหลือบำบัดทุกข์ของบุคคลอื่น ถ้าสามารถอนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล กรุณาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ผู้ที่มีพระมหากรุณากว่าคนอื่นทั้งหมด ก็คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าสัตว์โลกมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด เข้าใจผิดในธรรม   เต็มไปด้วยกิเลสมากมาย เพราะฉะนั้นจึงทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมมีประโยชน์ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ทั้งกาย วาจา และใจ

มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข สัตว์โลกบางคราวก็ได้ลาภ บางคราวก็เสื่อมลาภ ใครนำมาให้ อาจจะคิดว่าคนอื่นนำมาให้ แต่จริงๆแล้ว กรรมของตนที่ได้กระทำแล้วนำมาให้ มากน้อยตามปัจจัยที่ได้สะสมมาทั้งสิ้น เวลาใครได้รับสิ่งที่ดี เพราะผลของกรรมของเขา ก็ชื่นชมในกรรมที่เขาได้กระทำมาที่ทำให้เขาได้รับสิ่งที่ดี ตรงกันข้ามกับริษยาอย่างสิ้นเชิง

อุเบกขา ความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง บางครั้งก็แปลว่า ความวางเฉย แต่ความวางเฉยที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหารนั้น เกิดจากการที่เห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้หมายความว่าวอยู่เฉยโดยที่ไม่ให้ความช่วยเหลือ แต่ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ แต่เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ก็มีปัญญาที่เข้าใจว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เขามีกรรมที่จะต้องได้รับผลอย่างนั้น ขณะนั้นก็จะสามารถไม่หวั่นไหวได้ด้วยปัญญาที่เข้าใจความจริง   

พรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีที่ควรจะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน โดยที่มีเมตตา เป็นเบื้องต้น เพราะเหตุว่า ถ้ามีเมตตา มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนแล้ว การที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ รวมถึงการที่จะมีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี โดยไม่มีความริษยาเลย และที่จะมีความเป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยโลภะกับโทสะนั้น ย่อมจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตประจำวัน ที่เมื่อเข้าใจแล้วก็อบรมเจริญขึ้นได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ. 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ