สอบถามธรรมะเรื่อง สสังขาริก

 
lokiya
วันที่  19 ม.ค. 2563
หมายเลข  31469
อ่าน  456

อสังขาริก สสังขาริก ผมอ่านข้อความบรรยายแล้วก็ยังสงสัยอยู่ว่า จะเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก ถ้าหากเราจะทำกุศลประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น ถ้าหากเราคิดว่าจะฟังธรรม แล้วก็เปิดธรรมะฟังทันที การที่เรามีความคิดอยากฟังธรรมด้วยตนเอง แสดงว่าเราถูกชักจูงด้วยความคิดตนเอง ไม่ใช่ถูกคนอื่นชักชวน เป็น สสังขาริกถูกหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจให้ถูก ว่า อสังขาริก กับ สสังขาริก มีความหมายว่าอย่างไร?

อสังขาริก แปลว่า ไม่มีการชักชวน หมายถึง สภาพของจิตที่มีกำลังเมื่อจะมีการกระทำสิ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะสภาพจิตมีกำลังที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความตั้งใจ เช่น ตั้งใจจะไปชมมหรสพ ถึงจะมีคนชักชวนหรือไม่ ก็ต้องไปอยู่แล้ว ขณะนั้นเป็นจิตที่มีโลภะเป็นมูล ที่เป็นอสังขาริก หรือ ตั้งใจที่จะเจริญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ก็กระทำเลย ขณะนั้น เป็นกุศลจิตที่เป็นอสังขาริก หรือ แม้แต่การฟังพระธรรม เพราะเป็นผู้สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ แล้วฟังเลย ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลที่มีกำลัง

สสังขาริก แปลว่า มีการชักชวน หมายถึง สภาพของจิตที่มีกำลังอ่อน เมื่อจะมีการกระทำสิ่งใด อาจต้องมีการชักชวนด้วยกาย หรือวาจาของบุคคลอื่น หรือชักชวนด้วยใจของตนเอง โดยการใคร่ครวญพิจารณา เพราะสภาพจิตไม่มีกำลังที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ เช่น ไม่ตั้งใจจะไปชมมหรสพ แต่ถูกชักชวนคะยั้นคะยอให้ไป จึงไปชมด้วยโลภะเพราะขัดไม่ได้ หรือ ไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังพระธรรม แต่มีบุคคลอื่น กล่าวให้เห็นประโยชน์ เมื่อบ่อยๆ เข้า ก็เริ่มพิจารณาไตร่ตรอง แล้วจึงฟัง เป็นต้น

แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สภาพธรรมก็หลากหลายมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประโยชน์จึงอยู่ที่ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่จิตที่มีกำลังกล้า (อสังขาริก) และมีกำลังอ่อน (สสังขาริก) ทั้งทางฝ่ายอกุศล และทางฝ่ายกุศล นั้น ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

มีกำลังอ่อนต้องอาศัยการชักจูง-มีกำลังกล้าไม่ต้องอาศัยการชักจูง

สสังขาร

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ