ศีล-อนัตตา

 
Witt
วันที่  19 ม.ค. 2563
หมายเลข  31471
อ่าน  637

กราบเรียนถามท่านอาจารย์

เมื่อธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตาแล้ว เรามีเจตนาตั้งใจที่จะรักษาศีลได้หรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีเรามี มีแต่ธรรม และ บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีเจตนาจะรักษาศีล ไม่มีใครอนุญาตว่าได้ ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่มีเจตนาจะรักษา หรือ ไม่มีเจตนาจะรักษาศีล ก็ตามเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะไม่มีเราอนุญาต มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น จะมีเจตนารักษาศีล ด้วยความเข้าใจผิด เข้าใจถูก ก็ตามเหตุปัจจัย สำคัญที่ว่า รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเรารักษาศีล ไม่ต่างจากศาสนาอื่นที่ก็มีความดีขั้นศีล แต่ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนา คือ ปัญญาความเข้าใจถูก เพราะบางท่านก็รักษาศีลเพราะอยากได้บุญ อยากให้เป็นคนดี ก็ไม่พ้นจากอกุศลธรรม คือ ความอยาก ความติดข้อง นี่คือ ความละเอียดของธรรม

ปัญญาจึงเป็นกิจ จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรม เมื่อมีปัญญา ศีลและความดีทั้งหลายก็เจริญตามปัญญาที่เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Witt
วันที่ 20 ม.ค. 2563

ขอขอบพระคุณ และกราบเรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ

"ปัญญาจึงเป็นกิจ จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรม เมื่อมีปัญญา ศีลและความดีทั้งหลายก็เจริญตามปัญญาที่เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา"

จากข้อความที่อาจารย์ชี้แนะ อาจกล่าวได้ว่า ศีลไม่ใช่ข้อห้ามที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้เพื่อให้เราปฏิบัติตาม แล้ววัตถุประสงค์ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้คืออะไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2563

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

พระพุทธเจ้าสรรเสริญกุศลทุกๆ ประการ เพราะมีปัญญาจึงเห็นโทษของการล่วงศีล ไม่ใช่เพราะความติดข้อง อยากได้กุศล หรือ กลัวด้วยอกุศลที่จะได้รับโทษ เพราะฉะนั้น เพราะมีปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส จึงรักษาศีล เจริญกุศลทุกๆ ประการ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงไว้ว่า ศีล ๕ ได้แก่ .-

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

๒. อทินนาทานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

๔. มุสาวาทา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ)

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี (เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

ศีลเป็นเรื่องปกติจริงๆ ไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสหนาแน่นมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบและจะได้ตรวจสอบตนเองว่ามีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น มีการพูดเท็จ มีการดื่มสุราเมรัยของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่? ซึ่งเป็นการตรวจสอบในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม

ศีล ๕ นั้นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ดังนี้ คือ

ศีลข้อที่ ๑ การเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นการให้ชีวิต ให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัย แก่สัตว์ทั้งหลาย

ศีลข้อที่ ๒ การเว้นจากการลักทรัพย์ ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น

ศีลข้อที่ ๓ การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ชื่อว่าให้ความปลอดภัย แก่บุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น

ศีลข้อที่ ๔ การเว้นจากการพูดเท็จ ชื่อว่า ให้ความจริง แก่ผู้อื่น และ

ศีลข้อที่ ๕ การเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วย

ศีล เป็นการขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากกิเลส ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลส เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทราบว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่น บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ เพียงใด ก็อาจจะเกิดความยินดีพอใจในความไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อสำเร็จเป็นกุศลกรรมประการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี (กุศลวิบาก) ข้างหน้าสำหรับตนเองอีกด้วย เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะงดเว้นก็จะไม่มี แต่ถ้าทราบ ก็จะสามารถละคลายให้เบาบาง หรือว่างดเว้นเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งก็จะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสได้ในชีวิตประจำวัน

ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยเฉพาะในเรื่องกรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม รวมถึงผลของกรรมทั้งสองฝ่ายด้วย ก็ยิ่งจะเป็นเครื่องยับยั้ง หรือ เป็นปัจจัยให้แต่ละบุคคลไม่ล่วงศีลได้ง่าย ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ครับ.

…อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 20 ม.ค. 2563

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่าน และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ