ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ แก่งกระจานคันทรี่คลับ จังหวัดเพชรบุรี ๒๐ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  29 ธ.ค. 2562
หมายเลข  31408
อ่าน  2,045

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๒๐ ถึง ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา กลุ่มสนทนาธรรมบ้านคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ ได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อไปสนทนธรรมที่บ้านพักตากอากาศของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่แก่งกระจานคันทรี่คลับ จังหวัดเพชรบุรี

ดังได้กล่าวถึงแล้วใน ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ แก่งกระจานคันทรี่คลับ เพชรบุรี ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ครั้งที่แล้วว่า เนื่องจากคุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์ เป็นผู้มากด้วยกุศลศรัทธา สนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ มาโดยตลอด จึงได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์และท่านอาจารย์ดวงเดือน เพื่อไปพักผ่อนและสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ที่บ้านพักตากอากาศของท่านอาจารย์ดวงเดือนที่แก่งกระจาน ปีละครั้ง


(ต้นสาละหนึ่งในสองต้น ที่มูลนิธิฯ นำมาจากสถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กุสินารา อีกต้นหนึ่งปลูกไว้ที่หน้าอาคารมูลนิธิฯ)

ครั้งนี้ การสนทนาได้มีขึ้นที่บ้านพักของท่านอาจารย์ดวงเดือน ในบ่ายของวันแรกคือวันที่ ๒๐ และเต็มวันเช้า-บ่าย ในวันที่ ๒๑ และที่บ้านพักที่สร้างขึ้นใหม่ของโครงการ ริมสระน้ำบริเวณสำนักงานและคลับเฮาส์ของโครงการในตอนเช้าของวันเดินทางกลับ คือ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

สำหรับความการสนทนาธรรม ที่จะขออนุญาตถอดเทปมาบันทึกไว้ เป็นความการสนทนาบางตอนของบ่ายวันแรกและเช้าวันที่สอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการที่จะได้พิจารณาใคร่ครวญ ในความถูกต้องของหนทางของการอบรมเจริญปัญญา ที่ทุกท่านกำลังดำเนินอยู่ เพราะเหตุที่ ความยึดมั่นในความเป็นเรา ตัวตนของเรา ที่มีมานานแสนนาน ในแสนโกฏกัปนั้น ยากยิ่งที่จะสละละคลายไปได้ แม้จะเป็นเพียงทีละเล็ก ทีละน้อย จากการที่ได้มีความเข้าใจในความเป็นธรรมะเพิ่มมากขึ้นจากการฟังในแต่ละครั้งก็ตาม ซึ่งความหนาแน่น ความเหนียวแน่นของความเป็นเราที่สะสมมานานนั้น ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่กั้นขวางการเกิดขึ้น เจริญขึ้น ของสติสัมปชัญญะ ที่จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ด้วยความอยาก ด้วยความติดข้อง และด้วยความความเป็นเรา หนทางนี้จึงยากยิ่ง ที่บุคคลต้องอาศัยความอดทน และความเพียร ที่จะฟังและสะสมความเข้าใจไป โดยไม่หวัง จึงเป็นผู้ที่ฟัง-เข้าใจ และมั่นคงขึ้น ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป ในทุกๆ ขณะนี้ "ฟังไป เข้าใจไป โดยไม่หวัง" ดังที่ท่านเมตตากล่าวแสดงไว้ จึงควรเป็นคำตอบสุดท้าย ที่แสนสบายที่สุด สำหรับทุกคน

คุณพรทิพย์ ท่านอาจารย์คะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เข้าใจในคำว่า "ชื่อครอบงำสิ่งทั้งปวง" ซึ่งเมื่อก่อนนี้ เวลาหนูถามคำถามอะไร ท่านอาจารย์บอก คุณพรทิพย์รู้ไหมว่ากำลังติดในชื่อ แต่หนูก็ไม่เข้าใจคำของท่านอาจารย์ว่า ติดในชื่อมันคืออะไร? แต่ตอนนี้ก็จะรู้แล้วว่า การติดในชื่อก็คือเราไปสนใจชื่อ แต่เราไม่สนใจในลักษณะของสภาพธรรมะ

คราวนี้หนูก็จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ความจริง ตรัสรู้ถึงลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละขณะ และท่านก็บัญญัติชื่อขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจ ซึ่งถ้าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะบัญญัติได้ ในชื่อของสภาพธรรมะนั้นๆ การที่บัญญัติชื่อจากสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ผู้ที่ศึกษาก็ต้องเข้าใจในลักษณะของชื่อนั้น คือ มุ่งตรงไปที่ "ลักษณะ" แต่ไม่ใช่มุ่งตรงไปที่ "ชื่อ" เพราะฉะนั้น ก็จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะ อย่างเช่น ในสมัยพุทธกาล บางคนที่ฟังธรรมะ ก็จะเข้าใจเลย นั่นแสดงว่า เขาสะสมมาที่จะเข้าใจในคำที่บัญญัติในสิ่งนั้น เข้าใจในการ "ส่องไปถึงลักษณะของสภาพธรรมะนั้นๆ " ก็ทำให้ พอฟังปุ๊บก็เข้าใจได้เลย แต่พวกเรา ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจในลักษณะนั้นได้ เพราะว่าเรามัวแต่ติดในชื่อกันอยู่ค่ะ

ท่านอาจารย์ ถ้า "รู้สภาพธรรมะ" ก็ตอบตรง แต่ถ้ายังไม่รู้ สภาพธรรมะนั้นยังไม่ปรากฏ ก็เป็นคำที่คนอื่นรู้ แล้วก็กล่าว แม้แต่ "สติสัมปชัญญะ" ถ้าไม่เกิด จะ "รู้ลักษณะ" ที่เป็นสติสัมปชัญญะไหม? ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น เราฟังเพื่อเข้าใจถูก ปริยัติคืออย่างไร ปฏิปัตติคืออย่างไร ความต่างของสติในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ เข้าใจคำ เข้าใจเรื่อง แต่ "ตัวธรรมะ" ในขณะที่กำลังฟังนี้ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา "ติสัมปชัญญะ" ไม่ได้ "รู้ลักษณะ" หนึ่ง ลักษณะใด

เพราะฉะนั้น ถ้าถึงเวลาที่สติสัมปชัญญะจะเกิด การได้ฟังธรรมะมา จนกระทั่งรู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็สามารถที่จะ "รู้อาการของสติ" ซึ่งเกิดโดยความเป็นอนัตตา เพราะ "รอบรู้อย่างมั่นคง" ว่าไม่มีเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิด แม้แต่ "เห็น" เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่เรา "ได้ยิน" ก็ไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่ "แค่ชื่อ" แล้วก็ "จำได้" เห็นไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา รู้ว่าเห็นเกิดเพราะเหตุว่า มีจักขุปสาท ได้ยินเกิดเพราะว่ามีโสตปสาท นี่คือ "เรื่องของธรรมะ" ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นธรรมะ แต่ว่าเรื่องของธรรมะคือ ถ้าไม่กล่าวถึง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง เป็นอย่างเดียวไม่ได้ แม้แต่ธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ขณะที่จะรู้ "รู้" อะไร? "รู้ธาตุรู้" ที่กำลัง "รู้" อะไร?

เพราะฉะนั้น ก็ "เป็นปกติธรรมดา" แต่ว่า "ระดับของความเข้าใจ" ทุกอย่าง นี่เป็นความเข้าใจว่า "ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา" ใช่ไหม? "มั่นคงแค่ไหน" หรือไม่มั่นคงแค่ไหน "แต่ละคนก็รู้" เดี๋ยวนี้ กำลังนี้ เป็นอนัตตาหรือเป็นเรา? เห็นไหม? ก็ต้องเป็นคนที่ "ตรง"

เพราะฉะนั้น ในระดับของความเข้าใจ ว่าธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา จะน้อยสักแค่ไหน? ฟังจริง จำได้จริง เริ่มเข้าใจจริง ว่าเราไม่ได้บังคับบัญชาให้อะไรเกิดขึ้นเลย เห็นก็เห็นแล้ว คิดก็คิดแล้ว ทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ยังไม่ปรากฏ "ลักษณะ หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง" ซึ่งเป็น "หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง" แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ เราไม่ต้องมาคิดว่าเรามั่นคงหรือยัง? อันนั้นจะเกิดหรือยัง? อันนี้จะเกิดหรือยัง? นั่นคือ "ความเป็นเรา" ซึ่งไม่มั่นคง ว่า "เป็นอนัตตา" แต่ว่า ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ถึงเวลา ที่แม้สภาพธรรมะที่เป็น ไม่ใช่ปริยัติจะเกิด เพราะสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะเกิด ปัญญาที่รู้รอบ ในความต่างกันของสติ ก็ "รู้เลย" ว่า ขณะนั้น "ลักษณะนั้น" ปรากฏ "ความเป็นอนัตตา" ซึ่งต่างกับขณะที่สภาพธรรมะนั้นไม่ได้ปรากฏ เป็นแต่เรื่องราวที่จำแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ละเอียดมาก ไม่ใช่ว่าให้เป็นตัวตน แล้วไปนั่งคอย อันนี้เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า? อันนี้เป็นธรรมะอะไรหรือเปล่า? แต่ "ตัวสติ" เอง ก็มีความต่างกัน ขณะที่เข้าใจนี้ มีสติแน่ มีวิตักกะ มีเวทนา มีความรู้สึก มีสัญญา มีทุกอย่างตามที่ได้เรียน แต่ไม่ได้ปรากฏสักอย่าง มีแต่ "ความคิดเรื่อง" แต่ละคำ แต่ละคำ แล้วก็เป็นความเข้าใจ "ขั้นเข้าใจ" แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นนี้ ไม่มีปัจจัยที่ตัวจริงจะปรากฏ!!

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ตัวจริงของสติไม่ได้ปรากฏ แต่ "ขณะใดที่เข้าใจ" ต้องมีสติ มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีเจตสิกหมดเลย เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็เปิดเผยแค่เรื่องราวของธรรมะ ซึ่งถูกปกปิด แต่ว่า "เริ่มรู้" ว่า จะเปิดอย่างไร จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร

ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ เปิดไม่ได้ เพราะว่า ที่เปิด ไม่ใช่เรา แต่...เมื่อพร้อมเมื่อไหร่...สภาพธรรมะที่เป็นสติสัมปชัญญะ ก็เปิดความเป็นสติสัมปชัญญะ ว่า ไม่ใช่เรา!! แล้วจะรู้ว่า ทำไมเป็นสติสัมปชัญญะ "เพราะว่าขณะนั้น กำลังเริ่มเข้าใจ สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ โดยความเป็นอนัตตา" ไม่ใช่มีเราจงใจ ไม่มีเราเลือก ไม่มีเราไปนั่งคิด ว่านี่เห็น เกิดขึ้นเพราะมีจักขุปสาท มีสิ่งที่กระทบตา ไม่ใช่อย่างนั้น!!

นี่เพียงขั้นที่ความเข้าใจค่อยๆ นำไป สู่การที่สติสัมปชัญญะจะเกิด ซึ่งเป็นการ "รู้ลักษณะ" ที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วก็มีความเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่ง แม้ "ลักษณะของสติ" ก็ "ปรากฏเป็นลักษณะของสติ" แม้ "สิ่งที่สติรู้" ก็ "ปรากฏลักษณะ" เป็น "สิ่งที่สติรู้" เพราะฉะนั้น ทุกอย่างชัดเจนและละเอียด แต่ "ขณะนี้" ก็เป็น "การเริ่มต้นของกิจจญาณ" ที่เป็นสติสัมปชัญญะ ที่เป็นสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวลอยๆ ว่าสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน...ไม่มีทาง!! สำหรับคนที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ตรงนั้น ขณะนั้น ไม่ใช่ว่าพูดได้หมดเลย ขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมะหนึ่งหรืออะไรอย่างนั้น นั่นคือ "ขั้นของความเข้าใจ" แต่ "ตัวสติสัมปชัญญะ" ยังไม่ได้เกิด เมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะเกิด ก็มานั่งคิดกัน มานั่งไขว่คว้า มานั่งจำกัน แต่ตามความจริง ธรรมะเป็นเรื่อง "ละ" ตราบใดที่ "ตัวตนยังมีกำลังอยู่" สติสัมปชัญญะก็เกิดไม่ได้!!

ด้วยเหตุนี้ จึงอธิบาย ใช้คำว่า ปริยัติ คือ ปัญญาที่รอบรู้ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รอบรู้คือไม่ใช่เรา และ "ความเป็นเรา" จะไปพยายามสักเท่าไหร่ ก็ "ไม่สามารถที่จะให้สภาพธรรมะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา" ได้ เพราะว่า "ขณะนั้นเป็นเรา"

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมด รู้เอง ปัจจัตตัง แล้วก็ถูกต้อง เมื่อเป็นปัญญ จะไปโน้มสักเท่าไหร่ ก็ไปโน้มเถอะ ไม่ใช่!! เพราะเหตุว่า "เราโน้ม" แต่ "ความเข้าใจจริงๆ " ต่างหาก แต่ละขณะ กำลังทำหน้าที่ ค่อยๆ นำไป ค่อยๆ โน้มไป ทีละเล็ก ทีละน้อย สู่การที่สภาพธรรมะจะปรากฏ ให้รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของธรรมะ สภาพธรรมะ เป็นอย่างนี้ ตรงตามที่ได้ฟัง ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ได้ฟัง จริง เมื่อสิ่งนั้นปรากฏ ตามลำดับขั้นของปัญญา

คุณนภา เวลาเราฟังธรรมะ เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจในคำ จะผ่านไปเยอะ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึงว่า เราต้องจำว่าอันนี้แปลว่าอะไร
ท่านอาจารย์ และที่เรารู้ว่า "เห็น" เป็นธาตุรู้ ได้ยินจนกระทั่งขึ้นใจ แต่ว่า "ธาตุรู้" ปรากฏหรือยัง? ในความเป็นธาตุรู้ ต้องมีขั้นตอน ไม่ใช่พอเราฟังแล้วเป็นธาตุรู้ เราจบแล้ว เรารู้แล้วว่า "เห็น" เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เรา แค่นี้ ง่ายๆ ไม่ใช่อย่างนั้น!!

เพราะว่า จากปริยัติ กว่าจะรู้จักเห็น "ตัวเห็น" ซึ่งเป็น "ธาตุรู้" หมายความว่า ขณะนั้นต้องไม่มี "อย่างอื่น" อย่างเวลานี้มี "เห็น" กับ "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" อะไรเป็นอะไร? แค่ฟังว่า "เห็น" เห็น และ "สิ่งที่ปรากฏ" ปรากฏให้เห็น แค่นี้จบแล้วหรือ? แต่การที่ "ตัวเห็น" จะปรากฏให้รู้ชัดว่า ฉันไม่ใช่ตัวตนเลย แต่เป็นลักษณะของ "สภาพที่กำลังรู้" จากปริยัติ ถึงจะเข้าใจความต่างว่า กว่าจะถึงปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราไม่เข้าใจอะไร เราฟังแค่นี้ แล้วเราปฏิบัติ แล้วเรารู้แจ้งแล้ว นี่ไม่ใช่เลย

เพราะฉะนั้น ที่หลงกันเวลานี้ก็คือ ไปปฏิบัติ ใช่ไหม? แล้วปฏิบัติอย่างไรจะไปรู้ได้? ไม่มีทาง!!! จะไปนั่งจ้องหรือ? ไปนั่งคิดหรือ? ก็ไม่ใช่!! แต่ ความลึกซึ้งของธรรมะ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวถึง สิ่งที่ใครก็ไม่รู้!! ฟังแล้ว ก็ยังไม่รู้!! แต่เริ่มรู้ เริ่มเข้าใจถูกต้อง ทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละเล็ก ทีละน้อย

เพราะฉะนั้น "ตัวเข้าใจ" เป็นสังขารขันธ์ เขากำลังทำหน้าที่ ที่ละเอียดอย่างยิ่ง!!! คือ "ทำหน้าที่เข้าใจ" โดยที่ว่า ไม่ใช่เรามานั่งพูดว่าเราเข้าใจ แต่ตรงเข้าใจตรงไหน นี่คือ "เขาทำหน้าที่" นิดเดียว แค่นั้น และสิ่งที่จะต้องรู้ ก็คือว่า "ไม่มีเรา" เพราะฉะนั้น ที่กำลังเป็น​"เรารู้" อะไรบ้าง? รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ความรู้สึกเดี๋ยวนี้ก็มี นี่คือรู้ว่าไม่ใช่เรา ความจำ จำหมดเลย ฟังสิ่งนี้ก็จำ ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น เอา "ความเป็นเรา" ออกจาก "จำ" ออกจากจำที่กำลังจำ ออกจาก "เห็น" ออกจาก "ธาตุรู้" ที่ื "กำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ" เอา "ความรู้สึก" ที่ว่า "รู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏ" ให้ "รู้" ว่า "เป็นความรู้สึก" ไม่ใช่เรา!!!

นี่คือความละเอียดของธรรมะ ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าใจสภาพรู้ "เพียงแค่ฟัง" แต่ที่จะ "ละความเป็นตัวตน" ได้ ต้องถึง "ขั้นที่ปรากฏลักษณะนั้น" ตามลำดับ จากการที่เป็นธาตุรู้หนึ่ง ไม่ใช่รูป แล้วกว่าจะปรากฏการเกิดดับของสภาพนี้อีก มาได้อย่างไรโดยที่ว่า ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปนั่งจ้อง ขณะนั้น ๕ ขันธ์กำลังเป็นเราหมด ไม่มีทางที่จะเอาเราออกจาก ๕ ขันธ์ ที่กำลังจ้องเลย ไปคิด ไปนึกอะไรก็ ๕ ขันธ์ทั้งนั้น ก็ไม่รู้!!

เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหมด ใช้คำว่าทั้งหมดก็คือว่า เร็วสุดที่จะประมาณได้ ยากที่จะรู้จริง ในแต่ละหนึ่ง จนกว่าฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ ไม่ใช่เราที่เข้าใจ และไม่ใช่เราที่เข้าใจเราก็รู้ว่าไม่มากเลย มันไม่เข้าใจไปหมดเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น การฟัง ก็คือว่า เข้าใจ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ น้อมไป โดยไม่ใช่ตัวเราไปพยายามโน้มน้าวอะไร แต่ว่าความเข้าใจ เขาค่อยๆ จากความไม่เข้าใจไปสู่ความเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งลึกซึ้ง ทั้งละเอียด เป็นสัจธรรม ความจริง ซึ่ง "ผู้รู้" เท่านั้นที่จะประจักษ์ และสามารถที่จะละคลายกิเลสได้

ไม่รู้อะไร จะไปละคลายกิเลสไม่ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องการละคลายหรอก เพราะไม่ใช่เรา แต่เป็น "ความเข้าใจ" เพราะฉะนั้น ความเข้าใจมีแค่ไหน? ก็คือว่า ระดับนั้นยังไม่สามารถที่จะละคลายได้ แต่เมื่อเข้าใจขึ้น ก็ค่อยๆ คลายไป ทีละเล็ก ทีละน้อย ขั้นฟัง ขั้นสติสัมปชัญญะ ขั้นประจักษ์ ตามลำดับ

คุณนภา เมื่อเช้า ท่านอาจารย์พูดคำหนึ่ง ท่านอาจารย์พูดว่า ปัญญาเขาฉลาด ที่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ไปปฏิบัติไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ปัญญาเข้าใจ
คุณนภา เวลาที่คนไปปฏิบัติ แสดงว่า เขาไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ใครล่ะปฏิบัติ?
คุณนภา ก็เป็นเรา เป็นเขา
ท่านอาจารย์ ถามอะไรสักคำก็ไม่รู้เรื่อง
คุณนภา แล้วท่านอาจารย์บอกว่า ปัญญาเขาฉลาดพอที่จะรู้ว่า ปฏิบัติไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ปัญญารู้ความจริง
คุณนภา แต่เราพูดแบบนี้กับคนที่เขาไม่เข้าใจ คนที่เขาไปปฏิบัติ เขาก็ไม่เข้าใจหรอก
ท่านอาจารย์ ก็เขาไม่รู้จัก แต่ละคำนี่ ถามเขา เขาก็ไม่รู้เรื่องหรอก!!

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 279

๕. ทุติยสาริปุตตสูตร

ว่าด้วยองค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา

[๑๔๒๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร ที่เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ * ๆ ดังนี้ โสตาปัตติยังคะเป็นไฉน.
[๑๔๒๘] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โสตาปัตติยังคะ คือ สัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ ๑ สัทธรรมสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑ โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายที่ชอบ ๑ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑.
[๑๔๒๙] พ. ถูกละๆ สารีบุตร โสตาปัตติยังคะ คือ สัปปุริสสังเสวะ ๑ สัทธรรมสวนะ ๑ โยนิโสมนสิการ ๑ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ๑.
[๑๔๓๐] ดูกอนสารีบุตร ก็ที่เรียกวา ธรรมเพียงดังกระแสๆ ดังนี้ ก็ธรรมเพียงดังกระแสเปนไฉน ทานพระสารีบุตรกราบทูลวา ขาแตพระองค ผูเจริญ อริยมรรคประกอบดวยองค ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อวา ธรรมเพียงดังกระแส.
[๑๔๓๑] พ. ถูกละๆ สารีบุตร อริยมรรคประกอบดวยองค ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อวาธรรมเพียงดังกระแส.
[๑๔๓๒] ดูกอนสารีบุตร ที่เรียกวา โสดาบันๆ ดังนี้ โสดาบัน เปนไฉน. สา. ขาแตพระองคผูเจริญ ผูใดประกอบดวยอริยมรรคมีองค ๘ นี้ ผูนี้เรียกวาพระโสดาบัน ทานผูนี้นั้น มีนามอยางนี้ มีโคตรอยางนี้
[๑๔๓๓] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ผูซึ่งประกอบดวยอริยมรรคมีองค ๘ นี้ เรียกวาโสดาบัน ทานผูนี้นั้น มีนามอยางนี้ มีโคตรอยางนี้.

จบทุติยสาริปุตตสูตรที่ ๕

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

ขอเชิญคลิกชมกระทู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่นี่...

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ แก่งกระจานคันทรี่คลับ เพชรบุรี ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
- ผู้เพิ่งจากไป....คุณบรรยงค์ จงจิตรนันท์....


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chvj
วันที่ 7 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ