ได้รับผลกรรม ... ?

 
lokiya
วันที่  7 ธ.ค. 2562
หมายเลข  31349
อ่าน  1,710

เรียนสอบถามท่านวิทยากร

การได้รับผลของกรรมดีกรรมชั่วเราได้รับอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่าครับ เพราะขณะที่นั่งในห้องมีอารมณ์เฉยๆ หลับตา (อุเบกขา) ไม่สุขไม่ทุกข์ ขณะนั้นได้รับผลของกรรมหรือไม่ อย่างไรครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ธ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า ผลของกรรมและกรรม คืออะไร กรรม คือ เจตนาที่เป็นไปในการทำกุศลกรรม อกุศลกรรม ยกตัวอย่างเช่น การให้ทาน รักษาศีล ก็เป็นกุศลกรรม ที่เป็นกรรม ที่จะทำให้เกิดผลของกรรม ที่เป็นผลของกรรมดี ส่วนการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นกรรมที่ไม่ดี อกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดี

ส่วนผลของกรรม ที่เป็นผล มี สองอย่าง คือ ให้ผลเป็นนามธรรม คือการเกิดขึ้นของจิตเจตสิก เรียกว่า วิบาก และ ผลของกรรมอีกอย่าง คือ รูป ที่เรียกว่า กัมมชรูป มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ที่เป็นรูปที่เกิดจากรรม

ผลของกรรมที่เป็นนามธรรม ที่เรียกว่า วิบาก คือ จิต เจตสิก เริ่มตั้งแต่เกิด คือ ขณะที่เกิด เป็นผลของกรรม เป็น จิต เจตสกิที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เราเกิด แต่ เป็นกิจหน้าที่ของธรรมที่ทำให้หน้าที่เกิด เรียกว่า ปฏิสนธิจิต ขณะนั้น มีความรู้สึก เวทนา เกิดร่วมด้วยเสมอ เวทนาเจตสิก ความรู้สึกจะเกิดกับจิตทุกประเภท แม้ความรู้สึกเฉยๆ ก็สามารถเกิดกับปฏิสนธิจิต ที่ทำหน้าที่เกิด ผลของกรรมดีให้ผล ก็เป็นปฏิสนธิจิตที่มีเจตสิกที่ดีงาม ทำให้เกิดในภพที่เป็นสุคติภูมิ มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดกับความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเฉยๆ จึงไม่ใช่เครื่องวัดว่า ถ้าเฉยๆ แล้ว จะไม่ใช่ผลของกรรม ครับ ขณะนี้ กำลังเห็น มีผลของกรรมไหม ผลของกรรมที่เป็นวิบากที่เป็นนามธรรมในชีวิตประจำวัน คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัผมัส ผลของกรรมดีให้ผล ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ผลของกรรมที่ไม่ดีให้ผล ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นต้น ขณะที่เห็น ที่เป็นผลของกรรม ที่กำลังมีในชีวิตประจำวัน มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามที่กล่าวแล้ว เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นความรู้สึกต้องเกิดร่วมกับผลของกรรมที่เป็นวิบากเสมอ เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม มีความรู้สึกเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะเห็น มีเวทนา คือ อุเบากขาเวทนาเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น แม้จะรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่เห็น แต่ก็เป็นผลของกรรม เป็นวิบากแล้วในขณะนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นความจริงก็คือ ไม่มีเราเห็น ไม่มีเราได้ยิน มีแต่ธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่เราสักขณะ นี่คือจุดประสงค์ของการเข้าใจพระพุทธศาสนา คือ เข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 7 ธ.ค. 2562

ป.ล.

อยากเรียนถามอีกว่า ขณะที่ไม่เห็นไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่นไม่ลิ้มรสไม่ถูกต้องกระทบสัมผัสไม่คิดนึก ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ซึ่งผมก็เข้าใจว่าขณะนอนหลับสนิทขณะนั้นมีภวังคจิต ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ท่านอาจารย์เคยบรรยายธรรมว่า เวลาปกติที่ตื่นแล้ว ก็มีภวังคจิตเกิดแทรกคั่นตลอดเวลา ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเพราะไม่สามารถรู้สึกได้เลยว่าขณะนั้นมีภวังคจิตเกิดอยู่

รู้แค่ว่าขณะตื่น มีการเห็นได้ยินได้กลิ่นลิ้มรสกายถูกสัมผัสนึกคิด เกิดตลอดเวลาทั้งวัน แต่ภวังคจิตนั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลยครับว่าจะเกิด อยากทราบว่า

ขณะตื่นมีภวังคจิตได้อย่างไรครับ มีตัวอย่างหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 ธ.ค. 2562

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ - ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดีที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมี่วิบากจิตอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมาก ถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย

ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ดังนั้น ภวังคจิต ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติ ก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ทั้งหลายๆ ปัจจัย เช่น สหชาตปัจจัย อาศัย จิต และ เจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น และ วิปากปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัย และ ปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ครับ

อันเป็นการแสดงให้เห้นว่า สภาพธรรมต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้น และเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 7 ธ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความละเอียดของพระธรรมที่จะต้องค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ

ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้นก็ไม่พ้นไปจากขณะที่เป็นการได้รับผลของกรรมกับ ขณะที่เป็นการสะสมเหตุ ที่เป็นกุศล บ้าง เป็นอกุศล บ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ขณะที่เป็นกุศล เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เป็นต้น นี้ คือ การสะสมเหตุที่ดี และ ยังเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดีในภายหน้าด้วย แต่เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าผลหรือวิบากจะเกิดขึ้นเมื่อใด ในทางตรงกันข้าม อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ทั้้งความติดข้องยินดีพอใจ ทั้งความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น ถ้ายังไม่มีกำลังถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยังไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า แต่ถ้ามีกำลังล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เมื่อใด ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ อกุศลทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาทเลยเพราะมีแต่โทษเท่านั้น ที่ควรจะเข้าใจคือ เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

สำหรับวิบากในชีวิตประจำวัน ก็ได้แก่ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทำสัมผัสทางกาย ตลอดจนถึงขณะที่ภวังคจิตเกิดขึ้น กล่าวว่าเป็นวิบาก ซึ่งก็คือ จิต และเจตสิกธรรมเกิดขึ้นเป็นการรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง วิบากทั้งหมด ต้องมาจากเหตุ คือ กรรมที่กระทำแล้ว ทั้งหมด ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้เลย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 8 ธ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ