ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นอนัตตา ถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง เป็นธรรมหรือไม่

 
pdharma
วันที่  15 พ.ค. 2562
หมายเลข  30861
อ่าน  1,399

ขอเรียนถามเพื่อความเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร อะไรไม่ใช่ธรรม
เมื่อธรรม คือสิ่งที่มีอยู่จริงทั้งปวง และเป็นอนัตตา
อะไรคือสิ่งไม่มีจริง สิ่งไม่มีจริงนั้นเป็นธรรมและเป็นอนัตตาหรือไม่
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่มีจริงและไม่ใช่ธรรมหรือไม่ แต่จิตที่ปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอะไร จึงเป็นธรรม

สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม เช่น โต๊ะ ใช้เป็นเครื่องพิจารณาไตรลักษณ์ได้หรือไม่

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ธรรม หรือ ธัมมะ มีหลายหลายนัยและหลายความหมาย ครับ

ซึ่งพออธิบายได้ดังนี้ครับ

ในคำว่า ธมฺม นี้ ธัมมศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถทั้งหลายมี ปริยัตติ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา บุญ อาบัติ เญยยะ และจตุสัจจธรรม เป็นต้น.

ดังนั้น ธรรมจึงมีหลายความหมาย

1. ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก

ก็ชื่อว่า ธรรม

2. ธรรม หมาย ถึงปัญญา

3. ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ

4. ธรรม หมายถึง สภาวะ คือ ลักษณะของสภาพธัมมะของสภววะธรรมต่างๆ เช่น สภาวะธรรมของกุศล อกุศล กิริยา

5.ธรรม หมายถึง จตุสัจจธรรม คือ อริยสัจ 4

6.ธรรม หมายถึง บุญ หรือ กุศล

7.ธรรม หมายถึง บัญญัติ เรื่องราว ก็ชื่อว่า ธรรม

8. ธรรม หมายถึง อาบัติของพระ

9.ธรรม หมายถึง ปัจจัยของสภาพธรรมต่างๆ ก็ชื่อว่า ธรรม

10.ธรรม หมายถึง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ชื่อว่า ธรรมเช่นกัน

เชิญคลิกอ่าน ความหมายของ ธรรม ในพระไตรปิฎก ครับ

อรรถกถาอธิบายธัมมะศัพท์

ศัพท์ว่า ธัมมะ

ตามที่เราได้ศึกษาเข้าใจกัน เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึง ลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานจึงอยู่ในหมวด ที่อธิบาย คำว่าธรรมในพระไตรปิฎกใน ข้อที่ 4 ที่อธิบาย คำว่า ธรรม คือ สภาวะ ลักษณะที่มีอยู่จริง ครับ

จะเห็นนะครับว่า ธรรม มีหลากหลายความหมายในพระไตรปิฎก ตามที่กระผมได้กล่าวมา ดังนั้น จึงไม่ใช่ไปปฏิเสธความหมายของธรรม ในความหมายนั้น ความหมายนี้ แต่จะต้องศึกษาและอ่านข้อความในพระไตรปิฎก หรือ เรื่องราวที่อ้างนั้นว่า ท่านมุ่งหมายให้เข้าใจ ในเรื่องนั้นว่าอย่างไร คำว่า ธรรม ก็เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยด้วยครับ แต่ที่สำคัญ หากเรามีพื้นฐานที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้น เราก็จะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมผิด เพราะ เข้าใจถูกก่อนครับว่า ธรรมในความหมายต่างๆ เช่น บุญ ปัญญา ปริยัติ คำสอน บัญญัติเรื่องราว เป็นต้น ล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่มีความหมายถึง สภาวะ ลักษณะ ที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงที่มี สภาวะ ลักษณะ ก็จะไม่มีบัญญัติเรื่องราว ไม่มีบุญ ไม่มีปัญญา ที่เป็นความหมายใน คำว่า ธรรมโดยนัยอื่นๆ เลยครับ เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมเข้าใจคำว่าธรรมที่เป็นสัจจะ ความจริงผิดไป จากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และย่อมเข้าใจคำว่า ธรรมเพียงแคบๆ ตามความคิดของตนเอง เช่น ธรรม คือ ธรรมชาติทุกๆ สิ่งแต่ไม่ได้เข้าใจความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ ของคำว่า ธรรม ที่เป็นสัจจะความจริง คือ มีสภาวะ ลักษณะให้รู้ คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจความหมายที่ถูกต้องที่เป็นเบื้องต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่จริงที่มีสภาวะ ลักษณะ เมื่อได้ยินความหมาย คำว่า ธรรมในพระไตรปิฎกในความหมายอื่นๆ ก็เข้าใจถูก และไม่ขัดกัน เพราะมุ่งแสดง คำว่า ธรรมโดยนัยอื่น แต่ถ้าไม่เข้าใจถูกในเบื้องต้น ในคำว่า ธรรม ก็จะทำให้เข้าใจผิด ในคำว่า ธรรม ตามที่พระพุทธเจ้างทรงแสดง และย่อมไม่เข้าถึงตัวธรรมคือ ไม่รู้ตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะ ไม่เข้าใจเบื้องต้นจริงๆ ที่เป็นสัจจะว่า ธรรม คือ อะไร การศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบย่อมเกื้อกูลต่อความเห็นถูกและความเจริญขึ้นของปัญญา ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้

ธรรมคืออะไร ก่อนอื่นถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ก็คงจะยาก ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างตอบ แต่ถ้าจะถามว่าขณะนี้ความจริงคืออะไร หรือว่าความจริงของชีวิต เพราะเหตุว่าทุกคนเกิดมาแล้วมีชีวิตแน่นอน ที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วแต่ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นความจริงของทุกคน คืออะไร

ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด แต่ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมทุกคนก็เห็น ทุกคนก็ได้ยิน เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ นะคะ แต่ว่าเป็นเรา ไม่คุ้นเคยกับการที่จะเข้าใจว่า ที่เข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงก็คือธรรม

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราก็คงจะได้ความเข้าใจความหมายของคำว่าธรรม ว่า ธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ซึ่งอาจจะไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เห็นก็เป็นธรรม เสียใจในวันหนึ่งๆ ก็มี ความรู้สึกเสียใจมีจริงก็เป็นธรรม เสียงมีจริง เสียงเป็นธรรม กลิ่นมีจริง ก็เป็นธรรม รวมความว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม คือ รู้แจ้งความจริงของสภาพที่มีจริงๆ ที่ปรากฏกับทุกคนในชีวิตประจำวันซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ทุกขณะ เช่น ขณะนี้เป็นธรรมขณะที่เห็น มีธรรมไหม เคยขาดธรรมบ้างไหม ตั้งแต่เกิดมาขาดธรรมได้หรือเปล่า

สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ท่านผู้ฟังไม่เคยประจักษ์ชัดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะขณะใดที่ยังเห็นว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีคน ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ในขณะที่สภาพนั้นๆ กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นของจริง กำลังปรากฏ ขอเพียงให้ปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ ถูกหรือผิดคะ อย่างนี้ค่ะ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น รู้แค่นี้ตามความเป็นจริง รู้ได้ไหม ยากหรือง่าย หยาบหรือละเอียด ที่จะรู้ว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปซึ่งมีจริงเพราะกำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางตา ที่จะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคลเลย หยาบหรือละเอียด ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ละเอียดแล้ว แต่ความจริงโดยนัยของรูป ๒๘ รูป สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่รูปละเอียด เป็นรูปหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นรูปหยาบ ก็ยังไม่รู้รูปหยาบตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 พ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรม ก็เข้าใจบัญญัติได้

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ