ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๗

 
khampan.a
วันที่  20 ม.ค. 2562
หมายเลข  30400
อ่าน  1,547

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้



ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๗

~ ต้องเข้าใจว่า เมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร ความไม่ใช่ศัตรู ขณะใดที่หวังเกื้อกูล คิดถึงประโยชน์ของคนอื่น ขณะนั้นเป็นจิตที่เมตตา ซึ่งเมื่อจิตเมตตาเกิดขึ้นแล้ว เวลาที่กุศลจิตเกิด ย่อมมีทางของกุศล คือ กายบ้าง วาจาบ้าง ขณะที่เมตตาเกิดจริงๆ นี้ กายจะเป็นกุศลจริงๆ ช่วยเหลือได้ทันที ไม่อิดเอื้อน หรือไม่รู้สึกว่า ไม่ใช่ธุระ หรือทางวาจาที่เมตตา คำพูดก็จะต่างกับขณะที่ไม่เมตตา เป็นคำพูดที่คำนึงถึงผู้ฟัง ไม่ทำให้เขาเกิดความเสียใจ เพราะว่าพระธรรมนี้ละเอียดมาก แม้แต่การที่เพียงแต่จะย้อนเพื่อน ขณะนั้นก็รู้ว่า กำลังย้อนนั้น ไม่ใช่เพื่อน คนละขณะกับที่เป็นเพื่อนแล้ว จิตขณะนั้นเป็นอกุศล ปราศจากเมตตาแล้ว เพราะฉะนั้น การที่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดนี้ ก็จะทำให้กาย วาจาเพิ่มความระมัดระวัง และเป็นกุศลขึ้น

~ ถ้าวันหนึ่งๆ โกรธคนอื่น แล้วเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว มีวาจาที่บาดหูคนฟัง แล้วพอค่ำๆ ก็ท่องเมตตา ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นความจริงใจ

~ ฟังธรรมแล้ว เข้าใจ แต่สวดมนต์แล้วไม่เข้าใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่ออะไร? เพื่อให้เข้าใจความจริงโดยคำที่พระองค์ตรัส แต่ไม่ใช่ให้พูดคำที่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ประโยชน์อยู่ที่ว่าจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้เข้าใจธรรมจากพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว

~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังความจริงของสิ่งที่มีจริง ยังไม่ชื่อว่าได้ฟังพระธรรม, ต้องเป็นผู้ตรง จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกของตนเองหรือว่าจะพูดคำที่ไม่รู้จัก?

~ ถ้าผลุนผัน ฟังพระธรรมแล้วก็ไม่ไตร่ตรองก็เข้าใจพระธรรมผิดได้ ถ้าเข้าใจผิดก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

~ ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้ว่าคนอื่นจะทำกรรมที่ไม่ดีกับเรา แต่เรามีกรรมดี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับกรรมไม่ดีที่คนอื่นกระทำกับเรา เพราะว่าใครทำกรรมอย่างใดก็ได้อย่างนั้น แล้วเราจะไปคิดที่จะพยาบาทเบียดเบียนเขาทำไม ในเมื่อรู้ว่าเขาต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน แล้วความพยาบาทไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเก็บให้มีมากๆ เลย เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ในขณะที่เกิดขึ้นด้วย

~ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม ปัญญาจะทำให้ปรุงแต่งชีวิตข้างหน้าให้เป็นไปตามความเข้าใจถูก

~ อวิชชา (ความไม่รู้) เป็นลิ่มสลักใหญ่โตมาก ไม่มีใครสามารถที่จะใช้ความเป็นเราไถ่ถอนหรือว่ายกอวิชชานั้นขึ้นได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สะสมและมีความเข้าใจ จึงจะค่อยๆ ขยับลิ่มสลักที่ตอกไว้แน่นที่จะไม่ให้ออกไปสู่ความจริงได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้ว่าความจริงคืออะไร

~ อยากจะเห็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น อยากได้ยินเสียงที่ดีทั้งนั้น แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด จิตได้ยินเกิด เหล่านี้เป็นผลของกรรม ต้องเข้าใจละเอียดด้วย

~ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าที่อกุศลยังมากมาย เพราะกุศลยังน้อย ยังน้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีการสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคือความเห็นถูก

~ กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต เมื่อมีปัจจัยให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด เมื่อมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิดเป็นไปต่างๆ นานา ใครจะไปยับยั้งก็ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่าที่โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต เกิดทำกิจการงานของโมหะคือหลงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม จึงทำให้มีโลภะเกิดร่วมด้วย โทสะเกิดร่วมด้วย และอกุศลเจตสิกทั้งหลายก็จะเกิดร่วมด้วยเฉพาะกับโมหเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท

~ เราไม่ถูกใครทำร้ายเลย นอกจากอกุศลซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกเกิดเมื่อไหร่ ก็ทำร้ายเมื่อนั้น

~ คิดด้วยความเมตตา ว่า บุคคลใดก็ตามที่ได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ มารดาบิดาก็ช่วยไม่ได้ ญาติพี่น้องมิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ ก็จะทำให้เรามีแต่การที่จะคิดเป็นมิตรและก็ช่วยเหลือคนอื่น

~ เวลาติดข้อง ต้องเป็นทุกข์ อยากจะได้สิ่งที่เราต้องการ ถ้าไม่ได้ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ติดข้องมากนัก เริ่มเห็นความสุขขึ้นมาบ้าง คือ ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม

~ ถ้าทำดีแล้วปลอดภัยแน่นอน ไม่มีสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนใจด้วยประการใดๆ เลยทั้งสิ้น

~ ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ยึดมั่นในความเห็นที่ไม่ตรงกับพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าก็ไม่ทิ้งหรือว่าทิ้งไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ถ่ายถอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้ง รู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏ

~ ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งพัดไปทำให้ไม่กลับมาสู่ความเห็นถูกเพราะฉะนั้นเป็นอันตรายมาก ถ้ามีความเห็นผิดเพียงเล็กน้อย แล้วก็จะทำให้ความเห็นผิดนั้นพาไปสู่ความเห็นผิดที่มากขึ้นและลึกขึ้น ก็ยากแก่การที่จะละ

~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุศล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะได้สะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม

~ การศึกษาพระธรรมทั้งหมดก็จะละคลายความไม่รู้ และละคลายอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่นอกจากจะละชั่วแล้วก็บำเพ็ญความดี ยังชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ด้วย

~ ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม แม้ในวันนี้ ก็คือได้ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ว่า เป็นธรรม
เริ่มเข้าใจ ความเป็นธรรม

~ เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ ก็ลองคิดดูว่า เมื่อไรจะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

~ สัตว์โลกเป็นที่ดูบุญและบาป เพราะฉะนั้น น่าจะพิจารณาจิตที่เป็นเหตุในขณะนี้ด้วยว่า วันหนึ่งๆ นั้น กุศลจิตเกิดมากไหม ถ้ากุศลจิตเกิดน้อยกว่าอกุศลจิต ก็ต้องพิจารณาอีกว่า เป็นอกุศลกรรมหรือไม่ เพราะเหตุว่าเพียงความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) เป็นสมโลภะ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่ถึงกับให้เกิดกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้นแม้ว่ายังเป็นผู้ที่ยังมีโลภะอยู่ ก็จะต้องระวังที่จะไม่ทำอกุศลกรรม เพราะเหตุว่าถ้ากระทำอกุศลกรรมแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด

~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ก็จะต้องถูกพัดไป และเป็นผู้หนาด้วยอกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

~ ปัญญามีกิจที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเรารู้กิจของปัญญา ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราก็จะอบรมเจริญปัญญา ให้ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด แล้วจะอ้อนวอนขอให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องอบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น

~ มีชีวิตอยู่อย่างประมาท ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ตายแล้ว เพราะผู้ที่ตายแล้ว ไม่สามารถเจริญกุศลได้ ไม่สามารถฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาได้

~ ความดี แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่ทำหรืออกุศล (ความชั่ว) แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่เว้นขณะนั้นก็พอกพูนอกุศล,พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าแต่ก่อนนี้ เคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

~ น่ากลัว (อย่างยิ่งสำหรับ) ความไม่ดีและควรกลัวด้วยความไม่ดี ไม่ได้นำผลที่ดีมาให้เลยทั้งสิ้นสิ่งที่ควรกลัว ไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรที่จะสะสม คือ ความชั่วทั้งหลาย (อกุศลทั้งหลาย) แล้วคิดอย่างนี้หรือเปล่า ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่?

~ ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคง ฟังธรรมด้วยความเข้าใจ ในขั้นของการฟัง ก็จะต้องประกอบด้วยเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีสอง เพราะเหตุว่า ทรงแสดงตามที่ทรงตรัสรู้ ที่จะกลับไปกลับมาเป็นไปไม่ได้

~ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อใดๆ เรียกเลยก็ตาม เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น แต่ก็กำลังเห็นในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งหมด ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น โดยไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ

~ ชีวิตของชาติหนึ่งซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจะมากหรือจะน้อย เพราะว่าบางชีวิตก็สั้นมาก บางชีวิตก็อาจจะยืนยาวพอสมควร แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

~ แต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มากน้อยต่างๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุด ก็คือต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่ง

~ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท แต่ก็ยากเหลือเกินในเมื่อมีอกุศลสะสมมามากมายทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอาศัยสติ การระลึกได้ เป็นผู้อารักขา (รักษา) การที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในการที่จะเจริญกุศลมากขึ้น

~ สำหรับชีวิตแต่ละชาติ จะเห็นได้ว่า ถ้าในทุกๆ ชาติที่เกิดมามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ถ้ายังไม่ละคลายอกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วยความตั้งใจมั่น ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ก็ย่อมไม่ถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า กิเลสมากมายเหลือเกิน

~ สิ่งที่ควรเจริญในชาตินี้ ก็คือ ปัญญา เพราะเหตุว่า สิ่งอื่นไม่สามารถจะติดตามไปได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ติดตามไปไม่ได้ แต่ปัญญา ความเข้าใจพระธรรมจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น.


ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๘๖



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
mammam929
วันที่ 20 ม.ค. 2562

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่งและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ทุกท่านที่เกื้อกูลให้ผู้ฟังได้เข้าใจพระสัทธรรมที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 20 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 21 ม.ค. 2562

อนุโมทนา กุศลธรรมทั้งปวงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 21 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
meenalovechoompoo
วันที่ 21 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณณท่านอาจารย์มากค่ะ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
panasda
วันที่ 21 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kukeart
วันที่ 21 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 22 ม.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
siraya
วันที่ 22 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
anuraks168
วันที่ 28 ม.ค. 2562

ขอกราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ