อธิศีลสิกขา หมายความว่าอย่างไรครับ ศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ทะลุ เป็นอย่างไรครับ อนุโมทนาสาธุครับ

 
Phooniphat
วันที่  7 ส.ค. 2561
หมายเลข  29981
อ่าน  3,860

อธิศีลสิกขา หมายความว่าอย่าไรครับ ศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ทะลุ เป็นอย่างไรครับ อนุโมทนาสาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพคะภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้งศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญา

เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรม ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ไม่ใช่ อธิศีลสิกขา สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่ สมาธินั้น ไม่ใช่ อธิจิตสิกขา ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ครับ ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การจะเจริญหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา จะต้องรักษาศีลก่อน แล้วค่อยอบรมสมาธิ และจึงจะไปเจริญวิปัสสนาได้ที่เป็นปัญญาครับ ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายอย่าง แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายอย่าง ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ (ทั้ง 2 นี้ เป็น อธิปัญญา) และมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือ สมาธิ) ซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับ สติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิ ด้วย และมีศีลด้วยในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ อินทรียสังวรศีล ศีลที่เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น ครับ เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด

ดังนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดพร้อมกัน ในการอบรมเจริญวิปัสสนา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และ ขณะมรรคจิตเกิดพร้อมกันครับ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของธรรมและความละเอียดลึกซึ้งของหนทางการดับกิเลส ครับ

ที่สำคัญ หากไม่มีปัญญา ความเข้าใจเป็นเบื้องต้นแล้ว ศีล นั้น ก็ไม่ใช่อธิศีลที่เป็นไปในการดับกิเลส สมาธิ สมถภาวนา ก็ไม่ใช่อธิจิต ที่เป็นไปในการดับกิเลส เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงจะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาภาวนาเกิด ขณะนั้น ก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไตรสิกขาในขณะนั้นแล้ว โดยไม่ต้องไปทำศีลก่อน เรียงลำดับเลยครับ เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมากต่อการดำเนินหนทางการดับกิเลสครับ ดังนั้น มีศีล มีสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาได้ แต่เมื่อมีปัญญา ขั้นวิปัสสนา ก็มี ศีล มีสมาธิ ด้วยครับ

ศีลด่าง พร้อย ขาด ทะลุ มีหลากหลายนัย ครับ ศีลที่ด่าง พร้อย ขาด ทะลุ ก็มีทั้งเพศบรรพชิตและ เพศคฤหัสถ์ สำหรับ เพศบรรพชิต ก็ต้องมีสิกขาบท ข้อบัญญัติ ซึ่งหากภิกษุล่วงศีล ข้อต้น หรือ เบื้องปลาย ก็ชื่อว่าขาด และ หากล่วงศีลในข้อกลาง ก็ชื่อว่า ศีลทะลุ และ แม้ขณะที่ล่วงศีล ก็เป็นศีลที่ด่าง พร้อย ไม่บริสุทธิ์ ครับ

สำหรับเพศคฤหัสถ์ การล่วงศีล 5 ก็ชื่อว่า ศีลขาดด้วย และ ด่าง พร้อยในขณะนั้นไม่บริสุทธิ์

ศีลจะถึงความบริสุทธิ์จริงๆ ที่เป็น ศีล 5 สมบูรณ์ คือ เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบันที่สำคัญ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า ศีลจะบริสุทธิ์ได้เพราะอาศัยปัญญา หากไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่ถึงความบริสุทธิ์ได้เลย เพราะ ศาสนาอื่นก็มีการงดเว้นการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ไม่รู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา อันจะไปถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่เป็นการบริสุทธิ์เพราะไม่ก้าวล่วงอีก และบริสุทธิ์เพราะปัญญาเจริญขึ้น ครับ

ซึ่ง ขณะที่ใจเป็นอกุศล แม้จะไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็ชื่อว่า ศีลด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะอกุศล ที่เกิดขึ้น ชื่อว่า บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ครับ แต่เมื่อยังไม่ได้ฆ่ายุง ก็ไม่ครบกรรมบถที่เป็นปาณาติบาติ มีการฆ่าสัตว์ ไม่ผิดศีล ข้อที่ 1 ครับ เพียงแต่ศีลไม่บริสุทธิ์เพราะเป็นอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขนาดล่วงศีล ครับ

หนทางการถึงความบริสุทธิ์แห่งศีล คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ทำให้กาย วาจาดีขึ้น ตามกำลังปัญญาที่เจริญขึ้น และเมื่อปัญญาถึงที่สุด ก็สามารถบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลจริงๆ ที่จะไม่ก้าวล่วงศีลอีกเลย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...ศีลมีที่สุด [ปริยันตศีล]

ศีลขาด

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 8 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 ส.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพคะภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยตลอด ทุกคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่อธิศีล มีจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย คือ ขณะที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นการสังวรสำรวมระวังอย่างยิ่งซึ่งเมื่อเกิดก็พร้อมด้วยอธิจิต คือ สมาธิ และ อธิปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่พ้นไปจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเลย และไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินตามหนทางอันประเสริฐ คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดมีแก่ผู้นั้น ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงสามารถดับกิเลสได้ ตามลำดับ การศึกษาอบรมเจริญปัญญา ควรเป็นไปตามลำดับ ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

เมื่อกล่าวถึง ศีลด่าง ศีลพร้อย ก็คือ การล่วงศีล นั่นเอง มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดในสิ่งที่ผิด เป็นอกุศลเท่านั้น ไม่ใช่ความดีเลยแม้แต่น้อย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 10 ส.ค. 2561

อธิศีลสิกขา หมายถึง ศีลที่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ขณะที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ขณะนั้นมีสติปัฏฐานเกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิคม
วันที่ 12 ส.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thongkhun1937
วันที่ 14 ส.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ