ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ฮานอย-ซาปา เวียดนาม ๒๕ ตุลาคม - ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [ตอนจบ]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  21 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28456
อ่าน  2,183

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ถึง ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจาก บ้านธัมมะเวียดนาม (Vietnam Dhamma Home) โดยคุณ Tam Bach (คุณสุจินต์เวียดนาม) เพื่อไปสนทนาธรรม ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมระยะเวลาทั้งสิ้นในครั้งนี้ ๑๒ วัน โดย ๕ วันแรก เป็นการสนทนาธรรมที่จัดขึ้น ณ โรงแรม Army Guest Hotel เมืองฮานอย หลังจากนั้นท่านอาจารย์และคณะฯ ได้เดินทางต่อไปยังเมือง Sapa เข้าพักที่โรงแรม Victoria Hotel และ Panorama Hotel อีก ๔ วัน และเดินทางกลับมาสนทนาธรรมต่อที่โรงแรม Army Guest Hotel เมืองฮานอย อีกครั้ง ในวันที่ ๒๘ ถึง ๓๑ ตุลาคม และ เดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ซึ่งพลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทอง ได้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางและสนทนาธรรมในครั้งนี้ไว้แล้ว ในกระทู้ "สนทนาธรรมที่ฮานอยและซาปา" ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นรวม ๑๐ ตอนด้วยกัน ท่านที่สนใจสามารถคลิกอ่านและชมภาพได้ ที่นี่ครับ.....สนทนาธรรมที่ฮานอย ซาปา 2559

ในส่วนของข้าพเจ้าเอง ก็ได้นำเสนอภาพและเรื่องราวที่ได้เดินทางติดตามไปกับคณะของท่านอาจารย์ในภายหลัง คือ ระหว่างวันที่ ๒๕ ตุลาคม ถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ไว้ในกระทู้ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ฮานอย-ซาปา เวียดนาม ๒๕ ตุลาคม - ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ [ตอนแรก] ไปแล้ว ในตอนนี้ก็จะขอนำเสนอเป็นตอนจบนะครับ

มีข้อความธรรมะประทับใจอยู่เรื่องหนึ่ง สำหรับการเดินทางไปในครั้งนี้ ที่อยากจะบันทึกไว้และแบ่งปันให้ทุกๆ ท่านได้ทราบด้วย เป็นคำสนทนาที่ท่านอาจารย์เมตตากล่าวแก่ข้าพเจ้าหลังจากที่ท่านจบการสนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติในตอนเย็น ณ โรงแรมวิคตอเรีย ที่ซาปา ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ทุกระดับขั้นของปัญญา คือ "ความเข้าใจ" เท่านั้น ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น ปัญญาเขาจะรู้รอบ รู้ละเอียด จนเกลี้ยง... (ท่านทำมือประกอบคำที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ปัญญา เท่านั้น นำไปในกิจทั้งปวง จนหมดจด เกลี้ยงเกลาจากความไม่รู้) กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำภาพที่ได้บันทึกไว้ระหว่างวันที่ ๒๘ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะของท่านอาจารย์เดินทางกลับจาก ซาปา (Sapa) เพื่อไปยังฮานอยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสนทนาธรรมต่อ และ เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ มานำเสนอประกอบกับความการสนทนาธรรมที่พลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทองและคุณนภา จันทรางศุ ได้ร่วมกันถอดความไว้ ดังนี้ครับ

ท่านอาจารย์ เหมือนกับที่จะเข้าใจเรื่องมโนกรรม...เพียงคำ ซึ่งอะไรที่สามารถที่จะรู้ได้เดี๋ยวนี้ ก็คือ เห็น ได้ยิน...เพราะรู้ว่าขณะนี้ยังไม่ใช่ขณะที่ประจักษ์ เพียงแค่ขั้นฟังเท่านั้น ไม่ต้องเร่ง ไม่อย่างนั้นโลภะก็เป็นนายอีก แล้วเมื่อเข้าใจยังไม่พอ ทุกคนก็ยังเป็นสหายของโลภะและอวิชชาตลอดชีวิต...เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาแต่ละคำด้วยดี ด้วยความเคารพ ต้องเข้าใจในรายละเอียดในคำต่างๆ ในพระไตรปิฏก...

ถ้าไม่ค่อยๆ รู้ขึ้น ก็จะไปกระตุ้นโลภะให้เพิ่มขึ้น ปัญญาจะรู้นอกเหนือจากที่แต่ละคนที่สะสมมา...นอกจากพระอภิธรรมแล้วยังมีพระสูตรที่สามารถเห็นถึงการสะสมของแต่ละคนๆ ทำไมเราจึงชอบอะไรต่างๆ กัน เพราะสะสมมาต่างๆ กัน บางคนทำไมเศร้ามาก บางคนรู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเศร้า แต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าจะเริ่มต้นว่าไม่มีเราในขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น...คิดนึก ไม่มีเราสักขณะเดียว

Sarah: ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ ท่านก็พิจารณาว่าจะสอนธรรมกับใครได้บ้าง เปรียบเทียบเหมือนดอกบัว 4 เหล่า...แม้บางพวกพระอาทิตย์ส่องผ่านก็ยังไม่บาน ในสระบัวก็มีดอกบัวมากมาย แต่ก็มีเพียงไม่กี่ดอกเท่านั้นที่บาน คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่สนใจที่จะฟังธรรม บางพวกก็ต้องฟังนานมากกว่าจะเข้าใจ...บางพวกก็ต้องฟังแล้วฟังอีก แม้ไม่เข้าใจ แต่ก็อดทนที่จะฟังต่อไป เพราะรู้ว่าคำสอนมีประโยชน์...

ท่านอาจารย์: ต้องใช้ความอดทนและกล้าหาญ จนกว่าจะเป็นดอกบัวบาน เข้าใจคำสอนว่าทุกอย่างมาจากความไม่รู้..."จนกว่าดอกบัวจะบาน"

ถาม: คนที่เข้าใจปรมัตถ์แล้วจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ๆ เข้าใจอย่างนี้ได้อย่างไร?...และจะสอนอมนุษย์ให้ประจักษ์เป็นเทวดาได้อย่างไร?
ท่านอาจารย์: จะโอนความเข้าใจไปให้คนอื่นได้อย่างไร? แล้วถ้าเป็นคนที่ไม่ฟัง ก่อนที่จะคิดถึงเปรต แล้วเพื่อนล่ะ!! ถ้าเขาไม่ฟังจะทำอย่างไร? แม้ตายไปเกิดเป็นเปรตก็อาจจะมีปัจจัยให้เขาฟังได้ ตอนนี้มีใครเห็นเปรตบ้าง?...ไม่ ไม่มีสักคน!! คนมากมายที่ไม่ฟังแล้วจะทำอย่างไร? ไม่ต้องไปพูดถึงอมนุษย์!!

ถาม: ใครเป็นคนรับวิบาก? ในเมื่อมีแต่จิต เจตสิก แล้วใครเป็นผู้รับผลของกรรม...อ่านจากพระสูตรมีคนไปถามพระพุทธเจ้าว่าธรรมเป็นอนัตตาหรือไม่? พระองค์ไม่พูดว่าเป็นอัตตา หรือไม่เป็นอนัตตา
Sara: เห็นเป็นจิตที่เห็น เป็นผลของกรรมไม่มีใครที่เห็น เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป

Jon: พระพุทธเจ้าแสดงสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่ควรจะเข้าใจ สิ่งที่ไม่จริงไม่ทรงแสดง ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงแต่ละขณะเดี๋ยวนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งจะต้องเข้าใจตามความเป็นจริง เช่น ธรรมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นเพียงลักษณะของธรรมทุกลักษณะ ถ้าไปพูดถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะมาวิเคราะห์สิ่งที่นอกเหนือจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฎเดี๋ยวนี้ เพราะว่า ในที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ ทรงแสดงให้เห็นว่ามีสีให้เห็น แล้วก็ปรากฎให้เห็น ควรจะฟังสิ่งที่กำลังปรากฎเดี๋ยวนี้ให้มากขึ้น

Sarah: ท่านตรัสรู้ สัพเพธัมมา อนัตตา อันนี้ควรจะรู้ในสิ่งที่ทรงแสดงอย่างชัดเจน สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นนามหรือรูป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีความเป็นตัวตน พระพุทธเจ้ามีปัญญาที่จะรู้ปัญญาของทุกคน เมื่อมีคนไปทูลถามด้วยความเห็นผิด ทรงรู้ว่าจะตอบอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังคนนั้น ตามการสะสมปัญญาของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน...ส่วนพวกเราไม่จะรู้ว่าจะตอบคำถามเหมือนพระองค์ จึงต้องอธิบาย...

Jon: ถ้าทรงแสดงว่าเป็นอัตตา ผู้นั้นก็จะค้าน การที่ทรงแสดงว่าเป็นอนัตตาเมื่อเราศึกษาแล้วก็เข้าใจ ประโยคที่พูดว่าอัตตาก็ไม่มีรายละเอียดอะไร ไม่สามารถจะทำให้ใครเข้าใจได้ ไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าศึกษาธรรมจะสอดคล้องกันหมดว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ท่านอาจารย์: ท่านทรงแสดงว่า เห็น ได้ยิน เดี๋ยวนี้ เกิดดับ คุณคิดอย่างไร?
ตอบ: เห็นด้วย
ท่านอาจารย์: นั่นคืออนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้!!! (ถึงตอนนี้ ผู้ร่วมสนทนาในห้องเปล่งเสียงดังพร้อมๆ กันว่า สาธุ!!)

ถาม: สนทนากับพระภิกษุเรื่องปัจจัย คิดว่าไม่จำเป็นต้องศึกษาเรื่องปัจจัย ควรจะศึกษาพิจารณาสิ่งที่ได้ยินมากกว่าเรื่องปัจจัยซึ่งยากเกินไป
Sarah: การศึกษาเรื่องปัจจัยทำให้เรารู้ว่าไม่มีตัวตน ทำให้เข้าใจว่าธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่นวันก่อนพูดถึงสมาธิ ก็ไปคิดว่าเราทำสมาธิ แต่เพราะเราศึกษาจึงเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปทำอะไร เป็นเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง...เมื่อพูดถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวงเหมือนเอกัคคตาเจตสิกก็เหมือนกัน เจตนาเป็นผลของกรรมก็ได้ เป็นเหตุให้เกิดผลของกรรมก็ได้ เช่นกันกับสมาธิก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลหรืออกุศลก็ได้...

เมื่อเราไปที่เงียบๆ แล้วมีความสงบกับลมหายใจก็คิดว่าเป็นความสงบเป็นสมาธิ เราก็ชอบ ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลอื่นๆ เกิดขึ้นได้อีกต่อๆ ไป เพราะไม่ได้เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา ไม่ได้ช่วยใคร เป็นการติดข้องในสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ...เราพูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้เพื่อให้เข้าใจว่าชีวิตก็คือขณะนี้ ไม่มีใครเห็น ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ...เข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยที่ต่างกัน ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ว่า ไม่มีใครมีสมาธิด้วยความตั้งใจ แต่เป็นแค่สมาธิที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต่างกันเพราะมีปัจจัยที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น การศึกษาก็จะดับความเห็นผิดว่ามีเรา หรือเป็นตัวตนของเรา

Jon: จะมีประโยชน์มากถ้าจริงใจกับตัวเองว่ามีความเข้าใจแค่ไหน? เพราะความเข้าใจมีหลายระดับ และควรรู้ว่าเราต้องศึกษาอะไรอีกในเรื่องของปัจจัย จึงจะมีประโยชน์ในการอบรมเจริญปัญญาจากขั้นปริยัติไปสู่การปฎิบัติ...บางคนคิดว่าถ้าศึกษาปฎิจจสมุปบาทจะเกิดสมาธิ สมาธิจะเจริญ ปัญญาจะเจริญขึ้น อันนั้นก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจ อะไรเป็นอารมณ์เบื้องต้นที่ควรจะศึกษา ถ้าไม่เข้าใจ "เห็น" และ "สิ่งที่ปรากฎให้เห็น" ซึ่งปรากฎตลอดเวลาในขณะนี้ แล้วไปศึกษาเรื่องปฎิจสมุปปบาทก็ไม่ได้ช่วยอะไร
Nina: เมื่อเข้าใจว่าสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย ก็จะทำให้มีศรัทธามากขึ้น

ถาม: สภาพธรรมที่ปรากฎ มีความจำสภาพธรรมอย่างไร?
Sarah: สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทำหน้าที่จำ จำทุกอย่าง ขณะเห็นสัญญาเกิดขึ้นแล้วก็จำกำหนดจำได้หมายรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นเห็นซึ่งเป็นผลของกรรม สัญญาก็เป็นผลของกรรม ทำให้เข้าใจได้ว่าสิ่งที่ปรากฎให้เห็นเป็นอะไร สัญญาก็เกิดจำได้ ขณะที่กุศล อกุศลเกิด สัญญาก็เป็นกุศล อกุศลตามสัญญาที่จำ ขณะที่ติดข้องสัญญาก็จำอารมณ์ที่ชอบ เพราะว่ามีสัญญาจึงทำให้คิดถึงสิ่งที่เคยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น...ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่มีสิ่งที่จำได้ แม้ขณะนี้ กำลังฟัง เราก็คิดถึงสิ่งที่ได้ยิน สัญญาก็จำถึงคำที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อเวลาผ่านไปอาจคิดถึงสิ่งที่ได้ยิน สามารถอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้ เพราะสัญญาจำ ไม่มีใครสามารถทำให้ความจำเกิดขึ้นได้...

ถาม: เมื่อเห็นอาจารย์แล้ว ถ้าหลับตาก็ไม่เห็นอาจารย์อีก แต่จำได้ว่าอาจารย์แต่งตัวอย่างไร อยากจะเข้าใจสภาพธรรมขณะที่เห็น
Jon: สัญญาไม่ได้ทำกิจเห็น สัญญาทำกิจจำ เป็นเจตสิกอีกอย่างหนึ่งที่จำได้ว่าอะไรเป็นอะไรที่รู้โดยจิต เหมือนกับจิตบันทึกไว้ว่าอันนี้อันนั้นเป็นอะไร แต่ไม่ใช่สัญญา การระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่สัญญา แต่เป็นสติและปัญญาระลึกรู้...พูดถึงดูท่านอาจารย์แล้วหลับตา แล้วนึกได้ว่าเห็นอะไร จริงๆ "เห็น" เห็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็น "ตอนเป็นคนไม่ใช่ขณะเห็น" แต่เป็น "คิดว่าเป็นคน" เป็นการคิดถึงสิ่งที่เห็น

การเข้าใจคำสอน เข้าใจพระธรรมก็คือการระลึกรู้ ไม่ใช่การจำ จิตเห็นเป็นอย่างหนึ่ง สิ่งที่ปรากฎให้เห็นเป็นอย่างหนึ่ง เห็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็น ขณะที่เห็นว่าเป็น คน สัตว์ สิ่งของ นั้นเป็น "ความคิด"
การฟังธรรม เมื่อพูดถึงอะไรต้องเข้าใจในภาษาที่เขาพูดด้วย ถึงแม้จะปรากฎว่าเราได้ยินคำ แต่ถ้าไม่เข้าใจในคำก็ไม่รู้เรื่อง สัญญาจำคำที่เคยได้ยิน จึงเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน...ขณะที่จำเสียงต่างๆ กับขณะที่เข้าใจความหมายจะเห็นว่า ความจำเป็นสิ่งสำคัญทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน แต่ถ้าเข้าใจเสียงตามความเป็นจริงอันนั้นเป็นปัญญา...

ท่านอาจารย์: ควรคิดถึงสัญญาที่เกิดกับจิตทุกขณะ ขณะที่เห็นสัญญากำหนดรู้สิ่งที่เห็น ซึ่งเป็นเหตุให้ขณะต่อไป สัญญาจำในสิ่งที่เห็นเร็วมาก หลังเห็นเป็นไปไม่ได้ที่สัญญาจะไปจำสิ่งอื่น เป็นไปไม่ได้เลยเพราะเร็วมาก สัญญาขณะที่เห็นเป็นปัจจัยให้คิดถึงสัญญาขณะต่อไป ได้ยินก็เหมือนกัน
เห็นแล้วคิดถึงสิ่งที่เห็น สัญญาก็เกิดต่อทันที หลังเห็นสัญญาไม่ได้จำเรื่องที่คิด ยังไม่ได้คิดอะไร กำลังจำในสิ่งที่เห็น ยังไม่ได้จำเรื่องอื่น

Sarah: ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลสัญญา เป็นอกุศจิตหลังจากเห็น ได้ยิน.. คิด...ค่อยๆ เกิดขึ้นจนกว่าจะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีสัญญาจำสิ่งที่ได้ยิน สัญญาก็ไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้เลย พิจารณาเกี่ยวกับสัญญาก็จะเข้าใจว่าไม่มีใครทำสัญญา ไม่มีใครรู้ว่าจิตคิดอะไร ได้ยิน สภาพธรรมต่างๆ กัน ตามสัญญาที่ต่างๆ กันด้วย สัญญาที่เป็นกุศลก็เจริญขึ้นพร้อมกับปัญญา

Jon: สำคัญที่จะรู้ว่าสัญญามีบทบาทสำคัญมาก ผู้ศึกษาต้องสนทนากัน สัญญาอย่างเดียวไม่สามารถปรากฎให้รู้ได้ว่าเป็นอะไร...ต้องเกิดกับจิตเห็น เห็นเป็นคน เป็นโต๊ะ ก็ไม่ใช่สัญญาอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคิดด้วย...สัญญาเกิดกับจิตทุกดวง เช่นเดียวกับเจตสิกอื่นๆ อีก 7 ดวง แต่เจตสิกเหล่านี้ก็ไม่ได้ปรากฎกับเรา เพราะฉะนั้น สำคัญที่จะพูดถึงสภาพธรรมที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เพราะสภาพธรรมจะทำให้เราเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง...

ถาม: ขอถามเรื่องขันธ์ 5 "คิด" เป็นขันธ์อะไร?
Sarah: รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ สัญญาสำคัญมากจึงเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาทั้งหมดเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกที่เหลือทั้งหมดเว้นสัญญากับเวทนา เป็นสังขารขันธ์ และจิตทุกอย่างเป็นวิญญาณขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปทันที ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าเป็นขันธ์ทั้งหมด...เพราะฉะนั้น "คิด" เป็นเจตสิกจึงเป็นสังขารขันธ์

ท่านอาจารย์: ขณะนี้มีขันธ์ไหม? เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าขันธ์คืออะไร? สิ่งที่มีจริงคือขันธ์ เพราะว่าเกิดแล้วดับไป เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยคือขันธ์ กำหนดแบ่งออกไปเป็น 5 อย่าง ขณะนี้เห็น เข้าใจเห็นเป็นขันธ์ไหม? "เห็น" เห็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็น แล้วขันธ์อยู่ตรงไหน? ถ้าไม่คิดถึงคำเลย มีสิ่งที่เห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น ได้ยิน คิด สิ่งที่เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไปจึงเป็นขันธ์...

เมื่อพูดถึงปรมัตถ์ จิต เจตสิก จิตต้องรู้อารมณ์จึงเป็นขันธ์ เจตสิกเป็นขันธ์ ใครรู้บ้างว่าขันธ์ไม่เที่ยง? "เห็น" เดี๋ยวนี้ เหมือนไม่เกิดดับ แต่ไม่มีอะไรเที่ยง ทำไมพระองค์ทรงแยกขันธ์ออกเป็น 5 ประเภท...มีรูปมากมายที่เกิดดับ สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปขันธ์ ทรงแยกเพราะมีอุปทานในขันธ์ เช่นมีการติดข้องในรูป ซึ่งแต่ละรูปเป็นอารมณ์ของการติดข้อง เพราะไม่เข้าใจการเกิดขึ้นและดับไปของรูปแต่ละรูป เมื่อพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ยังคงติดข้องในสิ่งที่ดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะความไม่รู้จึงติดข้องในสิ่งที่ไม่มี ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่สามารถดับความเป็นตัวตนได้ คงมีแต่ความคิด หรือความจำที่กำลังคิด เหมือนกับสัญญาความจำการติดข้องในสิ่งที่ดับไปแล้ว...มีอะไรในห้องนี้? มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป!!

ถ้าอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง ก็สามารถละความติดข้องว่าเป็นคนใดคนหนึ่ง ควรพิจารณาเดี๋ยวนี้ จนมีความมั่นคงว่าไม่มีใครไม่มีสิ่งใด มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เข้าใจถูก ที่ใช้คำว่าอบรมภาวนา คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ซึ่งก็ต้องมาจากความเข้าใจที่ฟังแล้วฟังอีก ตอนนี้เพียงพอที่จะประจักษ์ความเข้าใจหรือยัง? นอกจากคนที่จริงใจกับคำสอน จึงสามารถเข้าใจได้ มีสัญญาไหมตอนนี้? ทั้งในอดีต และในขณะนี้
ตอบ: มีสัญญาทั้งอดีตและปัจจุบัน

Sarah: สัญญาไม่มีอดีต มีแต่สัญญาที่กำลังปรากฎในขณะนี้ อนาคตก็ยังไม่มี ไม่มีขณะอื่นนอกจากขณะนี้...ก็เหมือนกัน ไม่มีสัญญาในขณะอื่น มีแต่สัญญาในขณะนี้ คิดก็เป็นคิดในขณะนี้...

ถาม: หมายถึงคิดถึงเรื่องในอดีต ไม่ใช่สัญญาหรือ?
Sarah: คิดถึงเดี๋ยวนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่คิด การที่คิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้ เรื่องที่คิดไม่มี แต่ความคิดมีจริง เราอยู่ในโลกของบัญญัติมาตลอดจึงไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้

ถาม: พูดถึงขันธ์จำแนกเป็น 5 อย่าง ขันธ์ทำกิจอะไร?
Jon: ขันธ์ไม่ได้ทำกิจ แต่เป็นการแยกสภาพธรรมออกเป็น 5 อย่าง เมื่อพูดถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฎต่างๆ กันเดี๋ยวนี้ ก็คือพูดถึงขันธ์เดี๋ยวนี้เอง ขันธ์ ก็คือสภาพธรรม
Sarah: คิดว่าสามารถที่จะทำอะไรได้ "คิดผิด" เพราะไม่มีใครทำอะไรได้ สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป "ตัวเรา" ไม่ใช่ขันธ์ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง "คิด" และพิจารณาว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย.."ความเข้าใจ" จะเกิดจากการฟังสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่จะพยายามไปทำอะไร อันนี้เป็นความติดข้อง เป็นอุปสรรคในการอบรมเจริญปัญญา...

ท่านอาจารย์: ตอนนี้มีสัญญาไหม?
ตอบ: มี
ท่านอาจารย์: ติดข้องกับสัญญาเดี่ยวนี้ไหม?...เมื่อมีความเข้าใจก็จะติดข้องในสัญญาน้อยลง ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสัญญา แล้วจะละคลายเรื่องสัญญาได้ไหม? ทำไมจึงจะรู้? เมื่อฟังเข้าใจ จะค่อยๆ รู้ขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย คำสอนจะนำไปสู่การรู้สภาพธรรมได้ ทรงแสดงให้เข้าใจ ขณะเห็น ได้ยิน...ฯ มีสัญญาแล้ว ขณะคิดก็มีสัญญา คำสอนให้ละคลายสัญญา ไม่ใช่ไปติดข้องในสัญญา

ถาม: ลองฟังอาจารย์มา 2-3 วัน สงสัยว่าศึกษาพระธรรมแล้วจะได้ประโยชน์อะไร? จะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง?
ท่านอาจารย์: ก่อนฟังธรรมเหมือนกับว่าเราอยู่กับคนอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วเราอยู่คนเดียว ขณะที่เห็นใครเห็น? เพียง "เห็น" เกิดขึ้น ไม่มีคนอื่น!! ไม่มีคนอื่นเห็นกับเรา มีเหตุปัจจัยให้เห็น...เวลาคิด คิดคนเดียวหรือเปล่าตอนนี้ (ตอบ-ใช่ค่ะ) ...ในแต่ละวันคิดคนเดียว คิดถึงคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร? แค่คิด เป็นคนไหม? หรือว่าเป็น "คิด" อย่างเดียว คิดก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา...

ค่อยๆ พิสูจน์ความจริงแต่ละขณะที่พูดถึง แต่ละขณะสามารถเข้าใจได้ อันนี้ก็สามารถละคลายอุปสรรคในชีวิตประจำวัน เราเรียนที่จะรู้ ยิ่งอยู่ง่ายขึ้น ก็ยิ่งมีความเข้าใจขึ้น โดยไม่ต้องไปพยายามทำอะไร อยู่อย่างปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่เข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นไปอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นปกติ มีความสุขจากความเข้าใจความจริง ต่างจากสุขที่มีความติดข้อง...และนี่เป็นเหตุให้เข้าใจว่า ถึงจะศึกษาก็ยังไม่พอ ต้องศึกษาให้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น!!!

ถาม: ปัญหาคืออะไร? ไม่ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่...ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหา
ท่านอาจารย์: มีปัญหาไหมตอนนี้?
ตอบ: ไม่มี
ท่านอาจารย์: จริงหรือ? ปัญหามาจากไหน? ปัญหามาได้อย่างไร?
ตอบ: ปัญหามาจากการคิดเรื่องที่เกิดแล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือกังวลเกี่ยวกับอนาคต
ท่านอาจารย์: ปัญหาก็คือ อกุศลที่คิด

Jon: พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ปัญหาจริงๆ ในชีวิต ยังไม่ปรากฎกับเรา ปัญหาจริงๆ คือ ทุกสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ขณะที่เราคิดว่าทุกสิ่งเที่ยง เป็นตัวตน เป็นสุข...เหมือนเห็นเด็กชอบเล่นของเล่น ของที่เด็กร้องไห้อยากได้ สำหรับเราแล้วไม่มีค่าอะไรเลย เหมือนกับเราไม่สามารถจะเห็นอย่างนั้นได้...เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากังวลนั้นคืออะไร? พระพุทธองค์กล่าวว่าเมื่อมีชีวิตก็ต้องมีปัญหาทั้งนั้น และเราควรจะกังวลไหมในสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่ในอนาคตจะดับปัญหาได้ ธรรมไม่ใช่ยาที่จะมารักษาโรคของชีวิต

Nina: ที่มีปัญหาในชีวิตเพราะเราคิดถึงตัวเอง เพราะเราติดข้องในตัวเอง แต่ความเข้าใจว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้...เช่น เมื่อฟังท่านอาจารย์ก็เข้าใจมากขึ้น เริ่มต้นฟัง ฟังซ้ำๆ มีประโยชน์มาก ปัญญาเจริญขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย ไม่สามารถจะคาดหวังว่าฟังแล้วจะเข้าใจ ถ้าหวังก็เป็นความติดข้องกับตัวเอง โลภะตามติดตลอด...ความเข้าใจก็เป็นไปตามลำดับขั้น

.........ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม...ดินแดนแห่งความรุ่งเรืองของพระธรรม ที่กำลังทอแสงแรงกล้าเพิ่มขึ้น ณ ขอบฟ้าแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกอันไกลโพ้น จากความเมตตาอันยิ่งของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้เสียสละและทุ่มเทเวลาให้กับศาสนาจนหมดใจ.........

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
apiwit
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สิริพรรณ
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งอนุโมทนา ขอบพระคุณผู้ร่วมสนทนาและผู้ถ่ายทอดสาระธรรมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มานพ
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ธ.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
sumek
วันที่ 28 เม.ย. 2560

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์

ที่เคารพยิ่ง

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ