ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย 13 [ปฏิเวธในปริยัติ]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  11 ก.ค. 2559
หมายเลข  27973
อ่าน  2,181

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สืบเนื่องจากการที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปสนทนาธรรมที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และพะเยา ระหว่างวันที่ ๕-๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา

ข้าพเจ้า แม้ไม่มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปร่วมฟังการสนทนาธรรมในครั้งนี้ แต่ได้ติดตามชมและฟังการถ่ายทอดสดการสนทนาตลอดระยะเวลาทั้งสามวันอยู่ที่บ้าน พร้อมๆ กับทำภารกิจการงานไปด้วย นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะทำงานของมูลนิธิฯ ที่ได้คำนึงถึงประโยชน์อันยิ่งของการที่จะเมตตา เกื้อกูล แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสในการเดินทางไปร่วมรับฟังการสนทนาธรรม ตามสถานที่ต่างๆ ให้สามารถรับชมและรับฟังการสนทนาธรรมจากการถ่ายทอดสดๆ จากที่สนทนาธรรม โดยทุกๆ ท่าน สามารถติดตามรับฟังได้พร้อมๆ กันจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งก็ปรากฏโดยบ่อยว่ามีคำถามจากผู้ที่ติดตามฟังการสนทนาจากประเทศญี่ปุ่นบ้าง สหรัฐอเมริกาบ้าง ส่งคำถามมาร่วมสนทนาด้วย อนึ่ง หากท่านพลาดการรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสด ก็ยังสามารถรับชมรับฟังการสนทนาธรรมย้อนตามหลังสถานที่ต่างๆ ดังกล่าวนั้น ได้ตามลิงค์ที่ทางมูลนิธิฯ ได้ประกาศไว้ในกระดานสนทนาของเวปไซต์บ้านธัมมะแห่งนี้

จากที่ได้ติดตามรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดการสนทนาธรรมทั้งสามวันดังกล่าว ข้าพเจ้ารู้สึกมีความประทับใจ ซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง ในความการสนทนาที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เมตตาแสดงความละเอียดของหนทางของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในช่วงเช้าของวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ณ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ จังหวัดพะเยา

โดยแสดงเปรียบเทียบความหมายของคำว่า ปริยัติ ปฏิปัตติ (ปฏิบัติ) ปฏิเวธ กับ คำว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เป็นการตอกย้ำหนทางที่ถูกต้องของการศึกษาพระธรรม ที่เป็นหนทางที่ถูกต้องในอริยมรรค เพื่อบุคคลที่สนใจในพระพุทธศาสนา จะเห็นถึงความจริงว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาของผู้รู้ เป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่บุคคลจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ด้วยปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก จากการได้ฟังความจริงที่ทรงแสดงแล้วเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ไม่ใช่การรู้ได้ด้วยการไปปฏิบัติสิ่งใด ในสำนักปฏิบัติไหนๆ เลยทั้งสิ้น เมื่อได้เข้าใจถูกต้องในหนทางที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้จริงๆ แล้ว ย่อมมีความมั่นคงขึ้นในหนทางของการอบรม เจริญปัญญา มีความอดทน และความเพียร ที่จะฟัง จะศึกษา เกิดศรัทธาที่มั่นคงขึ้นในหนทางอันยาวไกลนี้ เพื่อถึงความรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ในวันหนึ่ง โดยทั่วกัน

อนึ่ง ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณบุญยวีร์ รัชนี คุณเผดิม ยี่สมบุญ และพี่แอ๊ว (คุณฟองจันทร์ วอลช) สำหรับภาพถ่ายทั้งหมดในกระทู้นี้ ครับ

ท่านอาจารย์ การฟังธรรมะ ก็คือ เข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคฯ ได้ตรัสไว้ ด้วยเหตุนี้ "ปริยัติ" ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น อย่าเอาอะไรมาแทรกเลย ไม่ว่าใคร ว่าอะไรทั้งสิ้น!!! คำนั้นๆ ไม่ใช่ปริยัติ คือ ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้งมาก ... สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้ทันทีไหม? ครเป็นอย่างนั้นบ้าง? เป็นไปไม่ได้เลย!!

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำว่า "ปฏิเวธในปริยัติ" คำภาษาบาลี เป็นคำที่ใช้กันอยู่ใกลุ่มบุคคลพวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง ภาคหนึ่ง ประเทศหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภาษามคธี ก็เป็นภาษาที่ชาวมคธ ในแคว้นมคธ รัฐหนึ่ง ส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียใช้ ในยุคสมัยพุทธกาล

เพราะฉะนั้น เป็น "คำธรรมดา" พอได้ยินคำบาลี เราตื่นเต้น เอ๊ะ! คำนี้อะไร? คำนี้แปลว่าอะไร? แต่ความจริงก็คือ "คำธรรมดา" ถ้าเราบอกว่า "ปฏิเวธ คือ การแทงตลอด" เราก็สงสัยว่า แค่ไหน? ขั้นไหน? แต่...ฟังธรรมะ...เข้าใจไหม?... หรือไม่เข้าใจ?... ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ใช่ปริยัติ เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง จึงเป็นปริยัติ

แต่ว่า ฟังแล้ว รู้ทั่วถึงโดยตลอดทันทีไหม? ฟังแล้ว จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าไหร่ รูปมีเท่าไหร่ ปฏิจจสมุปปาทมีเท่าไหร่ ฟังแล้วไปสำนักปฏิบัติ ชื่อว่า รอบรู้ แทงตลอดในปริยัติหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น จึงต้องมี "คำ" กำกับไว้ เมื่อมีการฟังปริยัติ ไม่ใช่แค่ฟัง แต่ "เข้าใจอย่างมั่นคง" แล้วก็รอบรู้จริงๆ ว่าทุกคำ สอดคล้องกันทั้งหมด ไม่มีความขัดแย้งกันเลย ถ้าสามารถเข้าใจความสอดคล้องของพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม และแต่ละคำที่ได้รู้ ก็เป็นการแทงตลอดที่ว่า ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

เดี๋ยวนี้เอง!! สภาพธรรมเกิดดับ แล้วจะไปไหน? หนีเดี๋ยวนี้ จะไปรู้อะไรที่ไหน? ในเมื่อเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้!!! ก็ต้องไม่รู้ไปตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คือว่า ผู้นั้นไม่ได้มีความรอบรู้ในปริยัติ ไม่ได้แทงตลอดในปริยัติ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้ฟังเข้าใจแล้ว มีความมั่นคง เป็นสัจจญาณของปริยัติ ในอริยสัจสี่

แต่ละคำ ไม่ใช่ให้เราไปนั่งจำ แล้วก็นั่งคิดเอง แล้วผ่านๆ ไป เผินไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจจริงๆ แล้วก็สอดคล้องกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ "เข้าใจปริยัติจริงๆ เป็นสัจจญาณ" เมื่อมีปริยัติที่สามารถที่จะเป็นสัจจญาณแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด "ปฏิปัตติ" ซึ่งเป็น "กิจจญาณ" ไม่ใช่ว่า ฟังแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย!! อยู่แค่นั้น!! ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว ปัญญาเจริญขึ้น!!! ไม่ใช่เราไปพยายามเร่งรัดให้เกิดปัญญามากๆ นั่นก็ลืมคำว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" ก็ไม่สอดคล้องกันแล้ว!!!

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมด ลึกซึ้ง พูดคำเดียว สอดคล้องกับคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น พูดคำว่า ปริยัติกับสัจจญาณ ก็ไปสอดคล้องกับ อริยสัจจะ ด้วย เพราะเหตุว่า ฟังทำไม? เพื่อจะรู้อะไร? เข้าใจอะไร? รู้ได้หรือเปล่า? ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความอดทน เป็นบารมี ถ้าขาดความอดทนที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมะ ก็ไม่สามารถที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึง "เห็นผิด" ได้ แม้แต่จะได้รู้ว่า จิตมีเท่าไหร่ เจตสิกมีเท่าไหร่ แล้วก็พากันสอบ สอบทำไม? อะไรทำให้สอบ? ถามเขา เขาบอกว่า วันหนึ่งๆ เขาว่างมาก ก็ต้องไปเรียน สอบก็จะได้ขยัน ถ้าไม่สอบก็เรียนไปเฉยๆ เฉื่อยๆ เนือยๆ นั่นหรือ? ประโยชน์ของการฟังธรรมะ!!!

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง และรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น นี่ก็สอดคล้องกับ ทั้งปริยัติ ทั้งสัจจญาณ เป็นปัจจัยให้ "ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม" ตรงตามที่ได้ฟัง เป็น "กิจจญาณ" คือ กิจของสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติ นั่นแหละ คือ กิจจญาณ ที่ไม่ใช่กิจจญาณของอกุศล ของโลภะ ของโทสะ แต่เป็น "กิจจญาณของมรรค" ซึ่งเป็นหนทาง ที่จะทำให้สู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ไม่ใช่ว่า พอ สติสัมปชัญญะ เกิดนิดหนึ่งเป็น วิปัสสนาญาณ แล้ว ไม่ใช่!!! แล้วมีใครจะไปทำวิปัสสนา? เพราะขัดกันแล้ว "ธรรมะทั้งหลาย เป็นอนัตตา" แล้วมีใครจะทำปริญญา? ทำได้อย่างไร? ในเมื่อปริญญาคือวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ทั้งหมด เป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่แค่สติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติ

เพราะฉะนั้น จาก "ปฏิปัตติ" ซึ่งเป็น "กิจจญาณ" ของสภาพธรรมะที่เป็นมรรคที่เจริญขึ้นแล้ว ก็จะถึง "ปฏิเวธ" แทงตลอดสภาพธรรมะที่ปรากฏ ตรงตามที่ได้ฟังทุกคำ ขณะนั้นก็เป็น "กตญาณ" คือ รู้แล้ว!!! ขณะนี้ รู้แล้วหรือยัง? กตญาณหรือยัง? ก็ยัง !!!

เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะไม่ใช่ใจร้อน ได้ยินคำนี้ก็อยากรู้ แต่ไม่รู้เลยว่า พื้นฐานมีพอหรือเปล่า? พอที่จะสอดคล้องให้เข้าใจในคำที่ได้ฟังหรือเปล่า? เพราะถ้าไม่เคยได้ฟังเรื่องของธรรมะ คือ จิต เจตสิก รูป เรื่องของนามธรรม รูปธรรม เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าไม่ได้เอ่ยชื่อ ก็จะไม่ถึงการที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมะ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังเพื่อจะจำหรือเข้าใจ ต้องรู้ประโยชน์ว่า (ฟัง) เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส ที่ไม่รู้ความจริง และยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา!!!

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


ขอเชิญติดตามรับชมและรับฟังการสนทนาธรรมย้อนหลังในครั้งนี้ทั้ง ๓ วัน ได้ที่นี่....

ชมการถ่ายทอดสด (ย้อนหลัง) วันที่ ๕ - ๗ ก.ค.๕๙ สนทนาธรรมเมืองเหนือ


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 11 ก.ค. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วความเคารพยิ่งค่ะ

อนุโมทนาขอบพระคุณคุณวันชัย ภู่งามและทุกท่านที่เกี่ยวข้องค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Boonyavee
วันที่ 11 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pulit
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
apiwit
วันที่ 19 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wirat.k
วันที่ 20 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ