ขณะสลบชวนจิตรู้อารมณ์อะไร

 
benzene
วันที่  2 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25859
อ่าน  1,953

เรียนถามท่านวิทยากร

ในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปหน้า 108 หัวข้อ วิถีจิตที่ 5 คือ โวฏฐัพพนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้เพราะเกิด 1 ขณะ (หรือแม้ว่าเกิด 2-3-ขณะเมื่อรูปดับก่อนชวนวิถีจิตเกิด)

ถามว่าโดยธรรมชาติของจิต โวฏฐัพพนจิตสามารถเกิดมากกว่า 1 ขณะ หรือคะ แม้ว่ารูปจะดับก่อนชวนวิถีจิตเกิดก็ตาม วิถีจิตที่ 6 คือ ในระหว่างสลบชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน 6 ขณะ

ถามว่าขณะสลบชวนจิตรู้อารมณ์อะไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


การสั่งสมสันดานของตนในชวนวิถีก็เป็นกิจของจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะที่จิตเป็นชวนวิถี ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง การอบรมเจริญปัญญาบ้าง หรืออกุศล คือ เป็นไปกับด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ติดต่อกัน ๗ ขณะ

การสั่งสมก็คือเมื่อจิตประเภทใดเกิดแล้วย่อมเป็นปัจจัย เป็นอุปนิสัยให้จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก จึงทำให้คนเรามีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนมักโลภ บางคนมักโกรธ บางคนใจดี มีเมตาต่อผู้อื่น เป็นต้น ก็เพราะสะสมมาแตกต่างกันก็ตรงขณะที่เป็นชวนวิถี นั่นเอง

ควรที่ได้เข้าใจว่า โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นกิริยาจิต ซึ่งจิตที่กระทำโวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวาร นี้ คือ มโนทวาราวัชชนจิต (โวฏฐัพพนจิต เรียกตามกิจของจิต) ซึ่งจะต้องเกิดก่อนที่ชวนจิตทางปัญจทวารจะเกิดเสมอ เมื่อแปลโดยศัพท์แล้วคือ ตัดสินอารมณ์ เมื่อว่าโดยอรรถแล้ว ก็เป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนจิตเกิดสืบต่อนั่นเอง ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้ นี้เป็นความแน่นอนของจิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาในการกำหนดตัดสินได้ตามใจชอบแล้วแต่การสะสมในอดีตของแต่ละบุคคลว่า เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ตามการสะสมจริงๆ ซึ่ง โวฏฐัพพนจิต เกิดเพียงขณะเดียว ไม่ใช่เกิดสองขณะ หรือ หลายขณะ ก่อนที่จะเกิดชวนจิต ครับ

ขณะที่สลบ ชวนจิตเกิด ๖ ขณะ ซึ่งเป็นขณะที่อ่อนกำลังกว่าขณะปกติ ซึ่งปกติจะมีชวนจิต ๗ ขณะ และในขณะที่เป็นชวนะก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น มีชวนจิต เกิด ๕ ขณะซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ซึ่งก็ย่อมแตกต่างจากขณะที่เป็นปกติอย่างสิ้นเชิง ซึ่งขณะที่สลบ ชวนจิต 6 ขณะ ขณะนั้นมี บัญญัติ เป็นอารมณ์ก็ได้ ที่คิดเรื่องราวต่างๆ ครับ

ตามความเป็นจริงแล้ว ชวนจิต เกิดขึ้นเป็นไปเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างตามการสะสมของแต่ละบุคคล สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ประโยชน์ที่สำคัญของการศึกษาเรื่อง วิถีจิต ชวนจิต สำคัญที่สุดคือเพื่อเข้าใจความจริงว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่โกรธ โลภ ไม่ใช่เราที่ทำกุศล มีแต่ธรรมที่เป็นไปตามวิถีจิต ตามแต่ละประเภทของจิต การศึกษาอภิธรรมเช่นนี้จะไม่หนักครับ แม้จะไม่สามารถตอบคำตอบได้ทั้งหมด คือ ทำให้ตนเองคลายสงสัยได้หมด แต่ประโยชน์คือ ให้เข้าใจว่าไม่มีเรา เมื่อศึกษาเช่นนี้ก็จะเบาเพราะรู้ว่าตนเองเข้าใจได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น สิ่งไหนไม่รู้ก็ไม่รู้ หากเหลือวิสัย และกลับมาที่การเข้าใจว่า สิ่งที่ศึกษาเป็นแต่เพียงการทำหน้าที่ของจิต เจตสิก ที่ไม่ใช่เรา ประโยชน์ที่ได้คือการไถ่ถอนความเห็นผิด และดับกิเลสได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของจิต คือ เป็นธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหน ประเภทไหน ก็ต้องรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

ขณะที่สลบ มีจิตเกิดขึ้น เพราะยังไม่ตาย แต่เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แผ่วเบา เหมือนไม่รู้สึกอะไร แต่ก็จะไม่ปราศจากอารมณ์อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเบื้องต้นต้องไม่ลืมในความเป็นจริงของจิต และที่สำคัญไม่ว่าจะฟังจะศึกษาในเรื่องใดก็เพื่อเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 2 ธ.ค. 2557

ขณะที่สลบ รู้อารมณ์อะไรก็ได้แล้วแต่ไม่ระบุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 2 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 3 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 3 ธ.ค. 2557

เบื้องต้นต้องไม่ลืมในความเป็นจริงของจิต และที่สำคัญไม่ว่าจะฟังจะศึกษาในเรื่องใดก็เพื่อเข้าใจความจริงว่า "เป็นธัมมะ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน" ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kullawat
วันที่ 3 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 3 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
papon
วันที่ 5 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 25 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ