การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ

 
chaiyakit
วันที่  25 ส.ค. 2557
หมายเลข  25394
อ่าน  2,740

การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ มีมาตั้งแต่สมัยใหนครับ มีมาก่อนศาสนาพุทธ หรือ เพิ่งมีตอนศาสนาพุทธเกิด แล้วการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญาและความเห็นถูกครับ การกระทำอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่รู้ ทำแล้วสงสัย ทำแล้วเป็นไปในการเพิ่มอกุศลจิต อกุศลธรรม มีความไม่รู้ ความไม่สบายใจ โทสะและกิเลสอื่นเพิ่มขึ้น นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นหนทางที่ผิด ไม่ใช่หนทางที่ถูกและไม่ใช่ปัญญาเลยครับ แต่การกระทำอะไรก็ตามเมื่อกระทำแล้ว กุศลเจริญขึ้นและปัญญาเจริญมากขึ้น นั่นเป็นพระพุทธศาสนาและเป็นหนทางที่ถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับ

ดังนั้น เมื่อรู้ว่าการกระทำนั้นเพิ่มอกุศล ไม่ได้เพิ่มปัญญา ความเห็นถูกอะไรเลย เพราะความเห็นถูกและปัญญาที่เจริญ ย่อมนำมาซึ่งความอาจหาญ ร่าเริงด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่การทนไม่ได้เพราะความคิดนึกที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจาก สมาธิ ที่เป็นสมาธิที่ผิดครับ คำว่า จงกรม ก็ดี สมาธิ ก็ดี ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลย จะไม่เข้าใจผิดว่า จงกรม และ สมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ

เพราะจงกรม ก็คือ การเดินปกติ ไม่ใช่สร้างท่าทางขึ้นมาให้ผิดปกติ เดินตามปกตินี้เอง คือ จงกรม (ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า จงฺกม แปลว่า การก้าวเดินไป ก้าวไป) สภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น ส่วนสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มีทั้งมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความจดจ้องต้องการว่าเป็นทางที่จะทำให้หลุดพ้น นั่นล้วนเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไป ส่วนสมาธิที่เป็นกุศลก็มี เพราะสมาธิเป็นเจตสิกประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท (เอกัคคตาเจตสิก) ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับอกุศล (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) เป็นอกุศลสมาธิหรือเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นต้องเริ่มที่การฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ.

เชิญคลิกอ่านที่นี่นะครับ มีประโยชน์มาก

ตอบคำถาม FQA เรื่อง จะไปปฏิบัติ (นั่งสมาธิ เดินจงกรม)

การนั่งสมาธิ

จะนั่งสมาธิ หรือจะเข้าใจสมาธิ

สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หนทางเดียว ที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง นั้น ต้องฟังพระธรรม ต้องศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความตั้งใจจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดนั้นแสดงให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง และสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาในการที่จะรู้ธรรม ต้องเป็นปกติจริงๆ ไม่ใช่ผิดปกติ

การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยสติ และปัญญา

พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศลเป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิเป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศลเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดให้หนาแน่นยิ่งขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2557

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปตามลำดับขั้น คือ ขั้นแรก ฟังธรรมให้เข้าใจก่อน ปัญญาขั้นการฟังจะนำไปสู่ขั้นปฏิบัติที่ถูกต้อง และสุดท้ายนำไปสู่การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
danai2523
วันที่ 26 ส.ค. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 27 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chaiyakit
วันที่ 8 ก.ย. 2557

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านนะครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ