เยือนเมืองน่าน

 
kanchana.c
วันที่  11 ก.พ. 2557
หมายเลข  24454
อ่าน  3,774

ในวันที่ 18 – 20 ก.พ. 57 นี้ ดร. อนุสรณ์ กุศลวงศ์ ได้กราบเรียนเชิญท่าน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และสมาชิกชมรมบ้านธัมมะไปเที่ยวพักผ่อนชมเมืองน่าน และ ดร. อนุสรณ์ หรือพี่เปี๊ยก ได้กรุณาค้นประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่น่าหลงใหลของ เมืองน่าน มาให้ผู้ร่วมเดินทางได้ศึกษาก่อน ส่วนภาพประกอบนั้น คุณวันชัย ภู่งาม ตากล้องมือระดับพระกาฬ (ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร แต่คิดว่าต้องเก่งกว่าใครๆ ทั้งหมด) จะนำมาประกอบภายหลังการเดินทางแล้วค่ะ

เมืองน่าน

แม่ อุ้มชูดูแลแผ่อุทก

น้ำ ในอกธรณินหลั่งรินไหล

น่าน นทีที่หล่อเลี้ยงคู่เคียงไพร

สาย น้ำใจใหญ่กว้างสร้างชุมชน

ธาร ทอดทอก่อสุขทุกทิวทุ่ง

ลานนา รุ่งอารยะผลิตผล

ตะวัน ฉายลานน้ำงามผู้คน

ออก แรงตนรู้ตระหนักรักษ์แม่น้ำ

(คำประพันธ์ จิระนันท์ พิตรปรีชา)

ภูมิหลังเมืองน่าน

เมืองน่านเริ่มก่อตั้งเป็นนครรัฐในพุทธศตวรรษที่ 18 โดยพระญาพูคา ผู้ครอง เมืองย่าง ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในลุ่มน้ำย่าง สาขาหนึ่งของแม่น้ำน่าน (อยู่ในอำเภอ ท่าวังผาปัจจุบัน) ตำนานกล่าวว่า พระญาพูคาได้ส่งโอรส 2 พระองค์ไปสร้างบ้านแปง เมืองขยายอาณาเขต องค์พี่ชื่อ ขุนนุ่น ไปสร้างเมืองหลวงพระบาง ส่วนขุนฟองผู้น้อง ไปสร้างเมืองปัว ซึ่งต่อมาคือ วรนคร หลังจากนั้นในสมัยพระญากานเมือง ได้ย้ายเมือง หลวงมาสร้างใหม่ที่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง จนถึงยุคพระญาผากอง ทรงเห็นว่า ชาวเมืองต้องลำบากเพราะขาดแคลนน้ำ ในปี พ.ศ. 1911 จึงได้อพยพไพร่พล ข้าม แม่น้ำน่าน มาตั้งบ้านเมืองบนฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นตัวเมืองน่านในทุกวันนี้

(วิหารวัดภูมินทร์ น่าน)

น่านเคยเป็นแว่นแคว้นอิสระ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นสุโขทัย จนกระทั่งพระเจ้าติโลกราชยกทัพมายึดครองเมื่อปี พ.ศ. 1991 ซึ่งในหนังสือพื้นเมือง น่าน กล่าวว่า ด้วยทรงต้องการแหล่งเกลือของเมืองน่านนั่นเอง แคว้นน่านจึงได้ถูก ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลานนา และเมื่อพม่าแผ่อิทธิพลเหนือลานนา น่านก็ ตกอยู่ใต้อำนาจพม่าไปด้วย ยุครัตนโกสินทร์ น่านมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ ๕ กองทัพสยามได้แวะเกณฑ์ไพร่เกณฑ์ช้าง ที่นครน่าน จนเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2326) มีการตกลงทำสัญญาแบ่ง อาณาเขตดินแดน ระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส ที่เข้ายึดครองลาวเหนือ ประเทศราชน่าน จึงกลายมาเป็น 1 ใน 6 หัวเมืองของมณฑลพายัพ และ การสืบทอด อำนาจของราชวงศ์น่านก็สิ้นสุดลง จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ 1 ปี มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก น่านก็กลายสถานภาพมาเป็นจังหวัดหนึ่ง ของประเทศสยาม

สายน้ำน่านในงานจิตรกรรม

(ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ น่าน)

จิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว คือองค์ประกอบศิลป์ของภาพชีวิต เมืองน่านเมื่อ 100 กว่าปีก่อน น่าชื่นใจที่มีผู้ศึกษาและสืบทอดผลงาน “หนานบัวผัน” อย่างจริงจัง ดังเช่น อาจารย์วิชัย ปราบริปู ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ และศิลปินผู้นำแนวทางพ่อครูมาประยุกต์เป็นผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งยังได้อุทิศ พื้นที่ใน “หอศิลป์ริมน่าน” ของตนเป็นห้องจัดแสดง เพื่ออธิบายนัยสำคัญ ของมรดก เมืองน่านชุดนี้ด้วย

ในอุโบสถวัดมิ่งเมือง สีสันสดใสของจิตรกรรมฝาผนังบ่งบอกให้รู้ว่า เป็นงานที่วาดขึ้น ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่ลีลาสันสีและเรื่องราวเป็นการสืบทอดขนบศิลป์วิญญาณน่าน ของหนานบัวผันอย่างเต็มภาคภูมิ อาจารย์สุรเดช กานะเสน คือผู้รังสรรค์งานจิตรกรรม ย้อนยุคชุดนี้ น่าเสียดายที่ยังวาดไม่เสร็จสมบูรณ์ ศิลปินสายเลือดน่านผู้นี้ก็ด่วนจากไป ในวัย 48 ในปี พ.ศ .2548

อาจารย์สุรเดชได้ถ่ายทอดตำนานประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำน่าน เป็นภาพการอพยพ ย้ายเมืองของพระญากานเมือง โดยมีพระองค์ประทับนั่งอยู่บนแพหลวง ห้อมล้อมด้วย แพข้าราชบริพาร และแพสำหรับวงมโหรีซึ่งได้ชื่อภายหลังว่า”ซอล่องน่าน” และ “ฟ้อน ล่องน่าน” ถือเป็นการร้องรำ แสดงความอาลัยต่อบ้านเมืองเดิมที่จากมา และบรรยาย ความงดงามของภูมิประเทศ 2 ฝั่งลำน้ำน่าน

(บุคคลสำคัญผู้สืบทอดเผยแพร่ลีลาซอล่องน่าน จนเป็นเสียงเพลงอมตะในหัวใจคน เมืองน่าน คือ พ่อครูคำผายนุปิง ศิลปินแห่งชาติ)

ลายน้ำไหล สายใยผูกพัน

ไม่เคยเลยสักวัน ที่เสียงกี่กระตุกจะจางหายไปจากบ้านหนองบัว อำเภอ ท่าวังผา หมู่บ้านไทลื้อแห่งนี้มีชื่อเสียงในการทอผ้าลายน้ำไหล ซึ่งเป็นลายที่ทอยาก ที่สุด แต่ลายน้ำไหลที่เราเห็นในทุกวันนี้ เกิดจากจินตนาการสร้างสรรค์ของแม่หญิง น่าน ผู้นำลวดลายดั้งเดิมของบรรพชนชาวลื้อมาประยุกต์ จากลายเล็กๆ ละเอียดยิบ ย่อยให้ดูอลังการเต็มผืนและมีสีสันยิ่งขึ้น ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกเทคนิคการทอแบบลายน้ำ ไหลว่า “ผ้าเกาะหรือล้วง” ตามลักษณะการใช้มือจับเส้นด้าย หรือไหมต่างสีสอด (ล้วง) ให้เกิดลายที่ต้องการขณะทอ

ความสวยงามแปลกตาของผ้าทอเมืองน่าน ทำให้มีผู้นิยมซื้อหาและมีการจัด ระบบสหกรณ์ทอผ้าในหลายๆ หมู่บ้าน มีการคิดค้นลวดลายใหม่ๆ ไม่ขาดสาย ลายผ้า น่านส่วนใหญ่จะเลียนแบบธรรมชาติ อย่างเช่นดอกไม้ ใบไม้ แมงมุม ช้าง ม้า โดยเฉพาะ ลายน้ำไหล ที่ได้แรงบันดาลใจจากแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลคดเคี้ยว มีเกลียวคลื่นพลิ้วไหว เปี่ยมด้วยพลัง

เครื่องเงิน

หัตถศิลป์แผ่นดินน่าน

เครื่องเงินน่าน ผลงานประณีตศิลป์ที่สืบทอดและประยุกต์จากฝีมือช่างเงิน เมืองเมี้ยน จนมีลวดลายเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว และ ยังมีโรงงานหัตถกรรมที่ผลิตเป็นสินค้าส่งออกด้วย

นี่คือมรดกศิลป์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนความมั่นคั่งของน่านนครในอดีต ในยุคก่อน ที่จะมีธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ ชิ้นโลหะเงินขนาดต่างๆ คือสื่อกลางการค้าที่ใช้แทน เงินตรา สมัยนั้นยังไม่มีประกาศห้ามสูบฝิ่น และชาวดอยทำไร่ฝิ่นกันแพร่หลาย เล่ากัน ว่า เวลาซื้อขายกัน พวกพ่อค้าจีนฮ่อหรือคนที่ติดฝิ่น จะต้องเอาเงินมาชั่งแลกเปลี่ยน ด้วยน้ำหนักเท่าๆ กัน ถือว่า 2 สิ่งนี้คือของ “มีราคา” ยิ่งกว่าไม้สัก หรือช้างเสียอีก ผู้มี ฐานะมั่งคั่ง ก็นิยมใช้เครื่องประดับเงินแทนทองคำ หรือเพชรนิลจินดา ซึ่งถ้ามองดูในยุค สมัยของเราจะเห็นว่า เป็นรสนิยมที่เข้ากันเหมาะเจาะกับชุดแต่งกายพื้นเมือง ที่เรียบ ง่ายและงามสง่าของสตรีพื้นบ้าน

คารวะน่านนที

แม่น้ำแต่ละสายไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีพชุมชน หากยังเป็นแหล่งฟูมฟักอารยธรรม ไปพร้อมกัน บรรดานครที่เรืองอำนาจและเป็นศูนย์กลางศิลปะวิทยาการในประวัติศาสตร์ โลก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทั้งสิ้น

ประเพณีแข่งเรือยาวเมืองน่านมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระ นครสวรรค์วรพินิต เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน ครั้งนั้นจังหวัดน่านได้จัดแข่งขัน เรือยาวถวายให้ทอดพระเนตรด้วย แต่ในสมัยโบราณเมื่อมีงานถวายตานก๋วยสลาก หรือ ทำบุญสลากภัตที่วัดใด ชุมชนที่มีเรือแข่งก็จะนำเรือไปประชันขันแข่งเป็นกิริยาบุญ อย่างหนึ่ง หัวเรือแข่งเมืองน่านเป็นรูปพญานาคถือเป็นรูปแบบหัวเรือที่สวยที่สุดในภาค เหนือ สืบเนื่องจากชาวลานนามีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค อันเป็นสัญลักษณ์ของ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน สายน้ำ และฝนฟ้า ที่ตกต้องตามฤดูกาล อาจกล่าวได้ว่า ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน ก็คือ การบวงสรวงสักการะสายน้ำน่านและบูชาพญานาค นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีการฟ้อนล่องน่านของชายหญิงในขบวนเรือที่มาร่วมพิธี อย่าง สวยงามน่าชมด้วย

ปัจจุบัน งานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี ที่ท่าน้ำสะพานพัฒนาภาคเหนือ นัดชิงถ้วยพระราชทานจะจัดขึ้นใน วันเสาร์ – อาทิตย์แรกหลังออกพรรษา แน่นอนว่า แม่น้ำน่านที่เอ่อเต็มในช่วงเวลานั้น จะสะพรั่งด้วยสีสันของเรือแข่งประมาณ 150 ลำ กับกองเชียร์ ที่จัดกันมาอย่างเต็มที่

ในม่านหมอกอุดมการณ์

(ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติดอยภูคา น่าน)

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน แดนดอยเมืองน่าน ได้ผ่านคืนวันแห่งการสู้รบระหว่างฝ่าย รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันเป็นผลจากการแปลกแยก แตกต่างทางอุดมการณ์การเมือง พื้นที่ป่าเขาห่างไกลมีเส้นทางเชื่อมต่อกับชายแดน ลาว ได้กลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญในภาคเหนือของฝ่าย พคท. เหล่านักศึกษาปัญญา ชนนับร้อยพันที่ขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้น ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อร่วมกับ พคท. จัดตั้งกองกำลังอยู่ตามดอยสูง เช่น ดอยผาจิตและดอยวาว ตามแนวเทือกเขาภูคา – ป่าแดง นี่คือพื้นที่เก่าในฐานที่มั่นน่านเหนือเขต 1 ที่เรียกว่าเขตภูแว และดอยวาว อีก ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมเป็นชาวไทยภูเขาทั้งม้งและลัวะ ด้วยแรงขับจากความทุกข์ยากเหลื่อม ล้ำ จนฝ่ายทหารได้กำหนดให้น่านเป็นพื้นที่สีชมพู และมีการล้อมปราบปรามอย่าง จริงจัง กระทั่งภายหลังเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 สงครามอุดมการณ์ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดน่านมาเกือบ 20 ปี จึงสิ้นสุดลง

ปัจจุบันงานชุมนุมประจำปีของ “สหายเก่าเขตน่าน” ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ณ อนุสรณ์สถานพูพยัคฆ์ เริ่มเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและเหล่าช่างภาพสารคดี เนื่องจากมีการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์นอกตำรา กับการแสดงของอดีตสหาย ชนชาติลัวะ – ม้ง ในบรรยากาศสดชื่นท่ามกลางไอหมอกและลมหนาว

เมืองเก่าที่มีชีวิต

พื้นที่ “ใจเมือง” ซึ่งมีทั้งข่วงเมืองน่าน (สนามหลวง) วัดสำคัญ คุ้มเก่า เรือนไม้ รายรอบแซมสลับด้วยบ้านเมือง ตึกแถวร้านค้า ผู้คนสัญจรไปมาค้าขาย ทำงานใช้ชีวิต ตามปกติ ด้วยความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้บริเวณนี้ของเมือง น่าน เป็น “พื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า” เป็นแห่งที่ 2 รองจากเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อคุ้มครองดูแลมรดกของชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการใช้ประโยชน์ อย่างรู้คุณค่าโดยมีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองน่านเก่า เป็นคณะทำงานสนอง นโยบาย

(วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร)

(วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน)

นอกตัวเมือง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่าง ยั่งยืน “อพท.” ก็ได้ผลักดันให้มีการประกาศให้หลายตำบลเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่อง เที่ยวอย่างยั่งยืน และ ชุมชนต่างๆ ก็ได้รวมพลังกันจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสืบทอด มรดกปกป้องวิถีเมืองน่าน และเดินหน้า สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลป วัฒนธรรม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำให้เมืองน่านที่เคยต้อนรับเฉพาะผู้ แสวงหาความสงบสุขท่ามกลางธรรมชาติและบรรยากาศพื้นเมือง กลายเป็นจุดเชื่อม บนเส้นทางการค้าและคมนาคมระหว่างประเทศ เสน่ห์เมืองน่านจะดำรงอยู่ต่อไปได้ อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งสำหรับคนน่านและคนต่างถิ่นที่หลงรักเมืองนี้

หอมข้าวหลาม งามไม้ไผ่

แผงขายข้าวหลามที่เรียงราวอยู่บริเวณหน้าวัดภูมินทร์ สะท้อนภาพวิถีการ กินอยู่ของคนน่านที่แนบชิดธรรมชาติ ข้าวเหนียวชั้นดีจากทุ่งไร่ท้องนานอกเมือง ถูกนำ มาแช่น้ำจนพองอิ่มก่อนบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่เพื่อเผาเป็นข้าวหลามหอมนุ่ม แห้งสนิท ไม่ติดมือ แตกต่างจากข้าวหลามภาคกลางที่นิยมรสหวานเข้ม และกรอกหัวกะทิลงไป ผสมด้วย ที่สำคัญการเผาข้าวหลามเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่จะต้องใช้ไม้ไผ่สด ที่มี กลิ่นหอมดิบๆ ของธรรมชาติ ต้องกะปริมาณน้ำในกระบอกกับไฟที่คลอกเผาให้พอดี มิฉะนั้นจะแฉะไปบ้าง ดิบไปบ้าง หรือไม่ก็กระบอกไหม้เกรียมจนไม่สามารถเหลาลอกผิว ไผ่ให้เหลือชั้นสีขาวนวลบางๆ ได้

บ้านดอนมูล อำเภอปัว คือศูนย์รวมแหล่งเผาข้าวหลามที่พ่อค้าแม่ค้าในเมือง มาสั่งซื้อไปขายปลีก และเบื้องหลังรสชาติโอชะของข้าวหลามเมืองน่าน ก็คือ ความ อุดมสมบูรณ์ของป่าไผ่ พืชสารพัดประโยชน์ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ และมีการปลูกเป็น พืชเศรษฐกิจอย่างแพร่หลายในจังหวัดน่าน พื้นที่โล่งกว้าง แดดดี มีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ ทำให้ลำไผ่ของที่นี่เขียวสดยาวตรงดี สามารถนำไปทำข้าวหลามกระบอกงาม จักสานเครื่องใช้ไม้สอยและตัดขายส่งในปริมาณมาก

กินลำ กาดน่าน

เมืองคงไร้สีสัน ขาดชีวิตชีวาหากไม่มีตลาดสด “กาด” คือ แหล่งชุมนุมของผู้คน หลากหลาย และข้าวปลาอาหารอันบ่งบอกถึงรสนิยมและความอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น นี่คือสถานที่ที่เราจะได้เห็นวิถีการกินการอยู่ การแต่งกาย การทักทายเจรจา อู้คำเมือง แบบคนเมืองน่าน แผงอาหารคาวหวานอันหลากหลาย บ่งบอกความสมบูรณ์พูนสุข ในท้องถิ่น

ชุมชนคนชายขอบ น่าน – ลาว

อำเภอเฉลิมพระเกียรติตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยตัดแบ่งพื้นที่ตำบลห้วยโก๋น อำเภอทุ่งช้าง กับ ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ มารวมเข้าด้วยกัน อำเภอนี้ อยู่ติด ชายแดนดอนบนสุดของจังหวัดน่าน ในวันเสาร์บริเวณพรมแดนห้วยโก๋น – น้ำเงิน จะมีตลาดนัดที่คึกคักเปี่ยมสีสัน นอกจากชาวลาวจากเมืองหงสาและเมืองเงินที่ข้ามมา ซื้อขายสินค้าแล้ว ยังมีชาวม้ง ขมุ และ ชาวถิ่นที่เดินเท้าหรือเหมารถจากสองฟากชาย- แดน นำผ้าปัก ผัก ผลไม้ ของพื้นบ้านมาขาย และหาซื้อของกินของใช้ที่มาจากในเมือง จากจุดนี้ นักท่องเที่ยวสามารถขับรถไปถึงเมืองหลวงพระบาง ที่อยู่ห่างออกไป 152 กม. ตามเส้นทางที่ผ่านเมืองเงิน หงสา และไชยะบุรี ก่อนถึงชายแดนลาวมีแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์ชนชาติลัวะและม้ง อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ซึ่งบอกเล่า ประวัติศาสตร์การสู้รบอันเข้มข้นของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และตลอดเส้นทางมีภูมิทัศน์ อันงดงามชวนหลงใหลอีกด้วย

(ข้อมูลจากหนังสือ แม่ น้ำ น่าน สายธารลานนาตะวันออก)

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

ธรรมะจากน่าน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ตราประจำจังหวัดน่าน

คำขวัญประจำจังหวัดน่าน

"แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง"

ขอบคุณ และ ขออนุโมทนาครับพี่แดงครับ

น่าน เป็นสถานที่ที่น่าเที่ยว สงบ และ มีธรรมชาติที่สวยงาม การไปน่านกับท่านอาจารย์ครั้งนี้ เป็นโอกาสดี ที่หาได้ยาก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jans
วันที่ 12 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kanchana.c
วันที่ 12 ก.พ. 2557

ทุกท่านคงประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า คุณวันชัยฝีมือระดับไหน อนุโมทนาในกุศลวิริยะเช่นกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wirat.k
วันที่ 16 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ