หญิงแพศยา - อัมพปาลีเถรีคาถา

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  14 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24174
อ่าน  10,463

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

วันนี้ ฟังธรรมทางวิทยุ มีที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง นางอัมพปาลี ก็เกิดสนใจว่าทำไมถึงต้องมีการคัดเลือกสาวงามไปเป็นหญิงแพศยา และได้ค้นข้อมูลมาตามที่นำมาแสดงนี้ เรียนขอพระสูตรและสรุปข้อธรรมสาระสำคัญแต่ละนัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความระมัดระวังรักษาวาจาสุจริต จาก//saradham.siamtapco.com/wordpress/

๒๖. มนุษย์เกิดโดยการผุดขึ้น มนุษย์ยุคต้นกัปนั้น มีแรกกำเนิด โดยโอปปาติกะกำเนิด คือ เกิดโดยการผุดขึ้น อุบัติขึ้น เพราะยุคต้นกัป ยังไม่มีมนุษย์ ที่เป็นพ่อแม่ และผู้ที่มาอุบัติเป็นมนุษย์ยุคแรก ล้วนมาจากเพศพรหมที่บริสุทธิ์ภายหลังเมื่อมนุษย์มีกิเลสหนาขึ้น ส่วนใหญ่จึงต้องเกิดในครรภ์ ได้รับความอึดอัดทรมานจากการคลอด แต่มนุษย์ยุคหลัง นอกเหนือจากพระนางปทุมวดี ที่กำเนิดจากดอกบัวแล้ว ก็ยังมีมนุษย์อีกหลายคน ที่เกิดโดยโอปปาติกะกำเนิดคนแรกชื่อนางอัมพปาลี เป็นหญิงคณิกามีชื่อของนครเวสาลี ในอดีตชาติ ๓๑ กัปก่อน ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี อัมพปาลีเกิดในตระกูลพราหมณ์นางได้ด่าพระเถรีรูปหนึ่งว่าเป็นหญิงแพศยา ตายไปแล้วจึงต้องไปรับกรรมในนรกอยู่นานแสนนาน เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็ต้องเกิดเป็นหญิงแพศยามานับหมื่นชาติ จนถึงพุทธกาลพระพุทธเจ้าองค์ก่อน อัมพปาลีได้บวชเป็นภิกษุณี เกิดความเบื่อหน่ายเพราะการเกิดในครรภ์ จึงตั้งความปรารถนาไว้เสมอว่า ไม่อยากเกิดในครรภ์ ครั้นถึงพุทธกาลปัจจุบัน นางจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์กำเนิดพิเศษคือ อุบัติขึ้นแล้วโตเป็นสาวทันทีตามคำอธิษฐาน ได้ชื่อว่า อัมพปาลี เพราะอุบัติขึ้น ที่โคนต้นมะม่วง ในราชอุทยานกรุงเวสาลี อัมพปาลี เป็นหญิงสวยมากแต่ด้วยยังมีเศษของอกุศลกรรมที่เคยด่าพระเถรีว่าเป็นหญิงแพศยายังไม่หมดสิ้น ทำให้ความสวยของนางเป็นโทษบรรดาเจ้าชายลิจฉวีเห็นนางแล้ว ทะเลาะกัน เพื่อแย่งนางไปเป็นสนม คณะผู้พิพากษาต้องยุติศึก โดยตัดสินให้ อัมพปาลีเป็นหญิงแพศยา เป็นนางคณิกาประจำนคร เป็นสมบัติของทุกคน การแย่งชิงนางจึงสงบลงได้ ด้วยอุปนิสัยที่เคยบวชมาแล้วในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ก่อน นางอัมพปาลีจึงมีจิตศรัทธาในพุทธศาสนามาก ได้ถวายสวนมะม่วงของตนเป็นอาราม และออกบวชเป็นภิกษุณี ในสำนักของบุตรชาย คือพระวิมลโกณฑัญญะเถระ จนเมื่อมีอายุมากขึ้น ความสวยลดน้อยถอยลง ความชราเข้ามาแทนที่นางพิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นไปของสังขารรู้เท่าทันไตรลักษณ์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ หน้าที่ ๓๕๘

อรรถกถาวีสตินิบาต

อรรถกถาอัมพปาลีเถรีคาถา

ในวีสตินิบาต คาถาว่า กาฬกา ภมรวณฺณสทิสา เป็นต้น เป็นคาถาของ พระอัมพปาลีเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

พระเถรีแม้รูปนี้ ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศล อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ บรรพชาอุปสมบทในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี สมาทานสิกขาบทของภิกษุณีอยู่ วันหนึ่งไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณเวียนขวา เมื่อพระขีณาสวเถรีเดินไปก่อน พลันถ่มน้ำลาย ก้อนน้ำลายก็ตกไปที่ลานพระเจดีย์ พระขีณาสพเถรีไม่เห็นก็เดินไป ภิกษุณีรูปนี้ เดินไปข้างหลังเห็นก้อนน้ำลายนั้นก็คำว่า อีแพศยาชื่อไรนะ ถ่มน้ำลายลงที่ตรงนี้ ภิกษุณีรูปนี้ รักษาศีลในเวลาเป็นภิกษุณี เกลียดการเข้าอยู่ในครรภ์ ก็ตั้งจิตไว้ให้อยู่ในอัตภาพเป็นอุปปาติกะ ด้วยการตั้งจิตนั้น ในอัตภาพสุดท้าย ภิกษุณีรูปนั้น ก็บังเกิดเป็นอุปปาติกะ ที่โคนต้นมะม่วง ในพระราชอุทยาน กรุงเวสาลี พนักงานเฝ้าอุทยานเห็นเด็กหญิงนั้นก็นำเข้าพระนคร เพราะบังเกิดที่โคนต้นมะม่วง นางจึงถูกเรียกว่า อัมพปาลี ครั้งนั้น พวกพระราชกุมาร [เจ้าชาย] มากพระองค์เห็นนางสะสวยน่าชมน่าเลื่อมใส ทั้งแสดงคุณพิเศษมีเสน่ห์น่ารักน่าใคร่ เป็นต้น ต่างก็ปรารถนาจะทำให้เป็นหม่อมห้ามของตนๆ จึงเกิดทะเลาะวิวาทกันคณะผู้พิพากษาได้รับคำฟ้องของนาง เพื่อระงับการทะเลาะวิวาทของพวกราชกุมารเหล่านั้น จึงตั้งนางไว้ในตำแหน่งคณิกาหญิงแพศยา ว่าจงเป็นของทุกๆ คน นางได้ศรัทธาในพระศาสดาสร้างวิหารไว้ในสวนของตน มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานภายหลัง ฟังธรรมในสำนักของพระวิมลโกณฑัญญเถระ บุตรของตน ก็บวชเจริญวิปัสสนา อาศัยความที่สรีระของตน คร่ำคร่าลง เพราะชรา ก็เกิดสังเวชใจ เมื่อจะชี้แจงถึงความที่สังขารไม่เที่ยงอย่างเดียว พระเถรีนี้ พิจารณาทบทวนอนิจจตาความไม่เที่ยงในธรรมที่เป็นไป ในภูมิ ๓ ทั้งหมด โดยมุข คือการกำหนดความไม่เที่ยงในอัตภาพของตนอย่างนี้แล้ว ยกขึ้นสู่ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะในอัตภาพตนนั้น ตามแนวอนิจจลักษณะนั้น มักเขม้นเจริญวิปัสสนาอยู่ ก็บรรลุพระอรหัต โดยลำดับมรรค

ในสมัยอดีตกาล มีการคัดเลือกสาวงาม ให้เป็นหญิงที่ต้อนรับ แขกบ้านแขกเมือง เป็นหญิงสาธารณะ ซึ่งเรียกว่า หญิงงามเมือง หรือ หญิงแพศยา เพราะฉะนั้นกรรมที่ท่านว่า ภิกษุณีพระอรหันต์ ทำให้ท่านต้องเกิดเป็นหญิงแพศยานับชาติไม่ถ้วน แสดงให้เห็นถึงโทษของการทำบาปทางวาจา ที่ควรจะเป็นผู้ระมัดระวังด้วยสติ ที่จะพูดในสิ่งที่ควรพูด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า แสดงให้เห็นชีวิตของปุถุชน ที่เมื่อยังมีกิเลส ก็ยังมีเหตุที่จะทำบาปได้นานับประการ สาระสำคัญคือ เห็นตัวอย่างนี้ เพื่อพิจารณาอกุศลของตนเอง และ น้อมมาที่จะไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพื่อเป็นเหตุในการละ กายทุจริต และวจีทุจริตประการต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมาเกิดเป้นหญิงแพศยา แต่ ปัญญาก็สามารถเกิดได้ เพราะเคยสะสมมาแล้วในอดีต ครับ ควรที่จะศึกษาและอบรมปัญญาในชาติปัจจุบัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 14 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 14 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของกิเลสเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะความประมาทนี้เอง ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป นำพาให้ตนเองตกลงไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิโดยไม่มีใครทำให้เลย จะเห็นได้ว่าความประพฤติเป็นไปของบุคคลในอดีตก็ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกระทำ แต่ถ้าเป็นส่วนที่ดี แล้ว ควรที่จะได้ประพฤติตาม แม้ในความประพฤติเป็นไปของนางอัมพปาลี แม้เป็นหญิงงามเมือง เมื่อได้อบรมเจริญปัญญาก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ก็คือ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ไร้ผลจริงๆ เมื่อปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 14 ธ.ค. 2556

หญิงแพศยา ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่าเป็นหญิงงามเมือง เป็นผู้หญิงสวยมาก เป็นสมบัติส่วนกลาง ชายใดจะเชยชมก็ให้ทรัพย์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 15 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Yongwit
วันที่ 26 พ.ย. 2560

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ