บวชอีกครั้ง ระหว่างที่ผมเป็นพระนั้นผมต้องอาบัติหลายอย่าง

 
Rodngoen
วันที่  16 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24181
อ่าน  950

ผมอุปสมบทครั้งแรกเมื่อ ๒๓ มิย. ๕๖ ลาสิกขาวันที่ ๙ เม.ย. ๕๖

ในระหว่างที่ผมเป็นพระนั้นผมต้องอาบัติหลายอย่างด้วยกัน เช่น ฉันไอศครีม กาแฟ โอวัลติน น้ำขิง น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำชา เมล็ดฝักทอง เมล็ดทานตะวัน เป็นเวลาหลังเที่ยงวันไปแล้ว แล้วมีต้องอาบัติที่จำไม่ได้ละครับจะแสดงอาบัติอย่างไร ผมอยากจะทราบว่าถ้าในอนาคตผมจะบวชครั้งต่อไป ผมจะต้องแสดงอาบัติ หลังจากบวชเสร็จแล้วไหมครับ เพราะผมทราบว่าครั้นเมื่อลาสิกขามาแล้วอาบัติ จะไม่ติดออกมาตอนเป็นฆาราวาส ครั้งนั้นบวชแบบมืดครับบวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่คือ ไม่ได้ศึกษาพระวินัยก่อนบวชครับผม

ขอบคุณและกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมาก ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแน่นอน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือ เครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส ซึ่งถ้าเคยบวชแล้วต้องอาบัติ และยังไม่ได้ทำคืนคือ ปลงอาบัติ หลังจากสึก เมื่อบวชใหม่ อาบัติเก่าก็ยังติดตัวอยู่ ก็สามารถปลงอาบัติ แสดงโทษ ตามที่รู้ได้ โดยแสดงโทษแก่เพื่อพระภิกษุ ครับ สิ่งที่ควรจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สำคัญ ความเป็นบรรพชิต รักษายาก ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีการประพฤติปฏบัติตนไม่สมควรแก่ความเป็นบรรพชิตแล้ว มีแต่จะเป็นโทษแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว ในยุคนี้สมัยนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ สำหรับความเป็นบรรพชิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์

ควรที่จะพิจารณาว่า ทำไมถึงบวช เพราะถึงแม้ว่าไม่ได้บวช ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาและกุศลประการต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชแล้วคือ เพื่ออบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความต่างระหว่างเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ไว้ น่าพิจารณาทีเดียว ว่า ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท ระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวชคือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

เพราะฉะนั้น การจะบวชจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ และจุดประสงค์ของการบวชต้องตรงด้วย เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้ว แทนที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ทรงเพศอันสูงสุด ก็จะทำให้นำพาตนเองลงสู่ที่ต่ำ ก็เป็นได้ เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาพระวินัยไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว

ประการที่สำคัญคือ เพศไหน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังไม่จบสิ้น ก็ต้องจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่น เดียวกัน ถ้าหากล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ขาดความเ คารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้วไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรค ผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำที่จะเป็น ที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้ กับตนเองที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา เป็นอย่างมากทีเดียว

ลาสิกขาออกมาแล้ว ไม่มีอาบัติติดตัว ขอให้สบายใจตรงนี้ได้ และไม่จำเป็นที่จะ ต้องกลับเข้าไปบวชใหม่ เพื่อจะปลงอาบัติหรือแก้ไขตามพระวินัย เพราะไม่มีอาบัติติดตัวแล้ว แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ และสะสมความดีประการต่างๆ ในเพศคฤหัสถ์ สรุปแล้ว คือ เป็นคนดี และฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 16 ธ.ค. 2556

สึกแล้วบวชใหม่ สามารถปลงอาบัติได้ ถ้าไม่ใช่ต้องอาบัติปาราชิก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Rodngoen
วันที่ 16 ธ.ค. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 24181 ความคิดเห็นที่ 3 โดย wannee.s

สึกแล้วบวชใหม่ สามารถปลงอาบัติได้ ถ้าไม่ใช่ต้องอาบัติปาราชิก ค่ะ

แล้วถ้าต้องอาบัติอื่นๆ ที่เราจำไม่ได้ละครับ จะแสดงอย่างไรครับ (ไม่ได้ต้องอาบัติปาราชิก)

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 22 ธ.ค. 2556

ก็ต้องระลึกได้บ้าง จริงใจต่อพระวินัย หลักๆ เพื่อให้สำรวมระวังต่อไปค่ะ แสดงอาบัติตามความเป็นจริง เปิดเผยโทษของตัวเองเพื่อขัดเกลา เพื่อละอกุศลค่ะ ในครั้งพุทธกาลภิกษุรูปหนึ่งเด็ดใบไม้เป็นอาบัติ ท่านก็ลืมปลงอาบัติ ก่อนตาย ท่านนึกได้จะปลงอาบัติก็ไม่มีภิกษุอื่นอยู่ ท่านก็ไม่ได้ปลงอาบัติ ท่านก็ไปเกิด ในทุคติภูมิค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Rodngoen
วันที่ 24 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ