ธรรมเทศนาบริสุทธิ์

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  4 ต.ค. 2556
หมายเลข  23765
อ่าน  1,017

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอความอนุเคราะห์ ช่วยแสดงธรรมและคำอธิบาย เกี่ยวกับ เทปวิทยุแผ่นที่ ๗ ครั้งที่ ๓๘๖ ค่ะ

๑. ช่วยแสดง ทุกพระสูตรและอรรถกถา ในคำบรรยายธรรม ครั้งที่ ๓๘๖ และ สรุปสาระสำคัญให้ด้วยค่ะ

๒. “หลีกไปสู่ทิศ” หมายความว่าอย่างไร ทิศ หมายถึงอะไรคะ

๓. “ลาสิกขา” เข้าใจว่าคือไม่อยู่ในเพศบรรพชิต สิกขา ได้แก่อะไรคะ

๔. “กระทำกาละ” เข้าใจว่าคือตาย กาละ แปลว่าอะไรบ้างคะ นอกจากคำนี้แล้ว มีคำไหนในพระไตรปิฎกอีก ที่หมายถึง ตาย ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย ใช้คำไหนคะ

๕. ช่วยแสดงและสรุป ความหมาย คำแปลบาลี ที่มีกล่าวในครั้งที่ ๓๘๖ (เช่น อิทะ คือ ในธรรมวินัยนี้ ภิกขเว คือ ภิกษุทั้งหลาย หลาย กาเย คือ ในกาย อนุ คือ เนืองๆ เห็นตาม ปัสสี คือ มีปกติ กายเย อนุปัสสี คือ มีปกติเห็นตาม กายในกาย วา คือ ก็ได้ ก็ได้ ได้ ขอเพิ่ม “วิหรติ” ใน ครั้งที่ ๓๘๗ ย่อมอยู่ ย่อมนำไปปกติ นำไปวิเศษ อยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง

“อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน สถานที่ไม่จำกัด”

(อะไรที่ไม่ถูกต้องในข้อความเหล่านี้ ขอประทานอภัยให้ด้วยนะคะ)

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำตอบและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ขอเรียนว่า ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ก็ขอเชิญฟังคำบรรยายของท่าน อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทบทวนในตอนที่ได้กล่าวถึงด้วย ซึ่่งเป็นประโยชน์ มาก จริงๆ แล้วก็เป็นประโยชน์ทุกตอน เป็นประโยชน์ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลยที่จะได้ัฟัง

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 0385

ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 0386

ต่อไปนี้ก็ขอแสดงความคิดเห็น เท่าที่จะเป็นไปได้ นะครับ ดังนี้

-ช่วยแสดง ทุกพระสูตรและอรรถกถา ในคำบรรยายธรรม ครั้งที่ ๓๘๖ และ สรุปสาระสำคัญให้ด้วยค่ะ

-มี ๒ พระสูตรด้วยกัน คือ ปุคคลปสาทสูตร และ จันทูปมสูตร

ปุคคลปสาทสูตร

จาก ...[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๐๑

ปุคคลปสาทสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยความเลื่อมใสในเฉพาะบุคคล คือ เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นเหตุให้ไม่เลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลาย ไม่คบกับภิกษุ ทั้งหลาย ไม่ฟังพระสัทธรรม ในที่สุดก็เป็นผู้เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่มีความเข้า ใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีความชื่นชอบเฉพาะเจาะจง บุคคลหนึ่งบุคคลใด อกุศล ก็จะเกิดตามมาอีกนับไม่ถ้วน ตามที่ปรากฏในพระสูตร คือ เมื่อภิกษุที่ตนเองขื่นชอบ ต้องอาบัติที่จะเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์ลงโทษ ก็ไม่ เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เมื่อภิกษุที่ตนเองขื่นชอบต้องอาบัติที่เป็นเหตุให้ สงฆ์สั่งให้นั่งในอาสนะท้ายสุด ก็ไม่เลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เมื่อภิกษุ ที่ตนเองชื่นชอบหลีกไปอยู่ ณ ที่อื่น ก็ไม่เลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เมื่อภิกษุที่ตนเองชื่นชอบ ลาสิกขา ก็ไม่เลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เมื่อภิกษุที่ตนเองชื่นชอบมรณภาพ ก็ไม่เลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลายเหล่าอื่น เพราะมีแต่ชื่นชอบเฉพาะเจาะจงบุคคล โทษก็ตามมา นอกจากจะพอกพูนความติดข้องแล้ว ก็ไม่ได้สะสมเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าไม่ได้คบหากับภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญา ไม่ได้ฟังพระธรรม นั่นเอง


จันทูปมสูตร

จาก ... [เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒- หน้าที่ ๕๕๐

จันทูปมสูตร สรุปได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ไม่ควรเป็นคนคะนองเข้าไปสู่สกุล ควรเป็นผู้มีความสำรวมระวัง ควรที่จะ ถือเอาแบบอย่างจากท่านพระมหากัสสปเถระที่ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย เปรียบ เหมือนกับพระจันทร์ที่โคจรไป ไม่มีความติดข้องเยื่อใยกับสิ่งใดๆ เลย ต่อจากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร บริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลให้พระ สัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมในเรื่องดังกล่าว พระองค์ตรัสว่า ธรรมเทศนาของผู้ที่มุ่งลาภสักการะ หวังลาภสักการะจากการแสดงธรรม ย่อมเป็นธรรมเทศนาที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนธรรมเทศนาของภิกษุผู้ประกอบด้วยความ กรุณาแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ฟัง จะได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็น จริง ย่อมเป็นธรรมเทศนาที่บริสุทธิ์

“หลีกไปสู่ทิศ” หมายความว่าอย่างไร ทิศ หมายถึงอะไรคะ

-หลีกไปสู่ทิศ หมายถึง ไม่ได้อยู่สถานที่นั้นแล้ว แต่ออกไปอยู่ ณ ที่อื่น คำว่า ทิศ โดยศัพท์ หมายถึง เครื่องบ่งชี้ว่าเป็นทางไหน

“ลาสิกขา” เข้าใจว่าคือไม่อยู่ในเพศบรรพชิต สิกขา ได้แก่อะไรคะ

-ลาสิกขา คือ บอกคืนสิกขาเพื่อที่จะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้อยู่ในเพศบรรพชิตอีก ต่อไป สิกขา กว้างมากครอบคลุมสิ่งที่จะต้องศึกษาที่เป็นสิกขา ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

“กระทำกาละ” เข้าใจว่าคือตาย กาละ แปลว่าอะไรบ้างคะ นอกจากคำนี้แล้ว มีคำไหนในพระไตรปิฎกอีก ที่หมายถึง ตาย ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย ใช้คำไหนคะ

-กระทำกาละ แปลว่า ตาย เป็นสำนวนในภาษาบาลี คำว่า กาละ ในคำนี้ มีความหมายว่า มัจจุ ซึ่ง ก็คือ ตาย นั่นเอง แสดงว่าเมื่อจุติจิตเกิดขึ้น ก็สิ้นสุดความ เป็นบุคคลนั้นในชาตินั้นทันที แต่ถ้ากาละ ทั่วๆ ไปแล้ว ก็หมายถึงช่วงเวลา มีคำหลายคำที่แสดงถึง ความตาย เช่น มรณะ มัจจุ จุติ กระทำกาละ สิ้นชีวิต เคลื่อนจากภพนี้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ เป็นต้น

คำว่า ฆ่าตัวตาย ภาษาบาลี คือ อตฺตานํ ชีวิตา โวโรเปนฺติ

ช่วยแสดงและสรุป ความหมาย/คำแปลบาลี ที่มีกล่าวในครั้งที่ ๓๘๖ (เช่น อธะ คือ ในธรรมวินัยนี้ / ภิกขเว คือ ภิกษุทั้งหลาย กาเย คือ ในกาย / อนุ คือ เนืองๆ เห็นตาม / ปัสสี คือ มีปกติ / กายเย อนุปัสสี คือ มีปกติเห็นตาม กายในกาย /วา คือ ก็ได้ ก็ได้/ได้/ ขอเพิ่ม “วิหรติ” ใน ครั้งที่ ๓๘๗ ย่อมอยู่ ย่อมนำไปปกติ นำไปวิเศษ อยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง “อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน สถานที่ไม่จำกัด”

-การที่จะเข้าใจธรรม นั้น ก็เข้าใจในภาษาของตนๆ จริงๆ แม้จะไม่รู้ว่า คำนี้แปลมาจากภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นความเจริญขึ้นของ ปัญญาเลย สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาของคนไทย เคยได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวอยู่เสมอว่า เมื่อได้อ่านพรสูตรแต่ละ

พระสูตรแล้ว สาระสำคัญอยู่ตรงไหน เพราะไม่สามารถจะจำข้อความได้ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เมื่ออ่านแล้ว ได้ประโยชน์อะไรจากพระสูตรที่ได้อ่าน

-อิธ โดยศัทท์ แปลว่า ใน .... นี้ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละที่นั้นจะมุ่งหมายถึงอะไร แต่ในที่นี้ มุ่งหมายถึง ในพระธรรมวินัย นี้ ซึ่งก็คือ ในพระพุทธศาสนา นั่นเอง ไม่ใช่ที่อื่น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง การดับ กิเลสเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ก็มีเฉพาะในพระธรรมวินัย นี้ เท่านั้น ไม่มีในที่อื่น

-ภิกขเว (ภิกษุทั้งหลาย) มีความหมายกว้างขวางมาก หมายถึง ผู้ที่เป็น ประธานของพุทธบริษัท หมายถึง ผู้ที่ทำลายกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ได้แล้ว หมายถึงผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ เพราะมีการเห็นโทษเห็นภัยของความ ไม่รู้ จึงมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

-กาเย กายานุปัสสี คือ มีปกติพิจารณาเห็นกายในกาย ระลึกลักษณะของสภาพ ธรรมที่ปรากฏที่กาย ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

-วิหรติ คือ อยู่ อยู่เป็นปกติ จะด้วยอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนก็ตาม ก็มีธรรม เกิดขึ้นเป็นไป ก็สามารถรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นปกติในชีวิต ประจำวันได้ สำคัญอยู่ที่รากฐานสำคัญ คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจ

-อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน สถานที่ไม่จำกัด เพราะ สภาพธรรมมีจริงทุกขณะเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้ารู้สภาพธรรมก็รู้สภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติไปจากชีวิตประจำวันเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โทษของความเลื่อมใสในตัวบุคคล คือ เมื่อบุคคลนั้น ไม่อยู่ จากไป ห่างจาก พระธรรมวินัยนี้ ก็ทำให้ ตนเองที่เลื่อมใสบุคคล ก็ทำให้ห่างจากรพระธรรม เช่นกัน และ โทษของการเลื่อมใสในตัวบุคคล ก็ทำให้ ไม่ได้เลื่อมใสในตัวธรรม เมื่อเป็น เช่นนั้น ก็ทำให้ ผู้ใดกล่าวธรรมแม้ถูกต้อง แต่ก็ไม่สนใจ ไม่เลื่อมใจ เพราะ จะ เลื่อมใส เชื่อถือ และ ฟัง เฉพาะคนที่ชอบ ที่รักเท่านั้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะมี พระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่มีคนอื่นเป็นที่พึ่ง ใครก็ตามที่กล่าวธรรมที่ถูกต้องก็ควรเลื่อม ใสในพระธรรมเป็นสำคัญครับ

ธรรมแทศนาไม่บริสุทธิ์ เพราะ เหตุว่า ใจผู้ที่แสดง ไม่บริสุทธฺ์ เพราะ แสดง ด้วยจิตที่เป็นอกุศล ที่มุ่งลาภ สักการะ ยกย่อง สรรเสริญ พระธรรมเป็นสิ่งที่ควร เคารพ ทั้งผู้ที่แสดง และ ผู้ฟัง การแสดงธรรม โดย เคารพ โดยบริสุทธิ์ คือ ด้วย จิตที่บริสุทธิ์ คือ บริสุทธิ์ด้วยจิตที่ดี ที่เป็นกุศล แต่ อย่างไร็ดี ผู้ฟัง ก็ควรเป้นผู้ ที่เคารพธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครแสดง ครับ

หลีกไปสู่ทิศ คือ หลีกไปสถานที่ที่ตนเอง ณ ที่ใด ที่หนึ่ง ตามการสะสมของ คนนั้น

ลาสิกขา คือ หมายถึง สึกออกมา ซึ่ง สิกขา ที่มุ่งในที่นี้ ในเพศพระภิกษุ คือ ศีลสิกขา ที่เป็น ข้อบัญญัติพระวินัยที่แสดง ถึงเพบรรพชิต แต่ เมือ่เป็นเพศคฤหัสถ์ ก็สามารถ อบรม สิกขา สาม ที่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควรศึกษา ที่เป็น สิกขา อันจะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ ครับ


อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน สถานที่ไม่จำกัด ปกิบัติธรรม ที่เป้นการรู้ธรรม ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเป็นการรู้ธรรมก็ต้อง เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร และ ขณะไหน ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน สี เสียง คิกนึก กุศล อกุศล ดังนั้น สภาพธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิต ประจำวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การจะรู้ธรรม ก็รู้ในสิ่งที่กำลังเกิด และ เป้นสิ่งที่มีปกติ ในชีวิตประจำวัน ปกติ เมื่อเห็น แล้ว ก็ติดข้อง เกิดอกุศล ที่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ เมือ่อบรมปัญญา ปัญญาเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน ก็เกิดปัญญา แทน โลภะ แทนอกุศล นี่ก็แสดงถึงการเกิดปัญญา เกิสติปํฏฐานได้ ในขณะนี้ ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ