นิยตมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิดแบบไหนครับ

 
papon
วันที่  26 ก.ย. 2556
หมายเลข  23705
อ่าน  6,600

นิยตมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิดแบบไหนครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิดมีโทษมาก โดยเฉพาะ ความเห็นผิดที่ดิ่ง สามารถทำบาปได้ทุกอย่าง เพราะมีความเห็นผิดเป็นปัจจัย ความเห็นผิดที่ดิ่งมี 3 อย่าง คือ นิยตมิจฉาทฎฐิ ๓ ได้แก่

คลิกอ่านที่นี่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ - อเหตุกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองเป็นเอง ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ คลิก อเหตุกทิฏฐิ

นัตถิกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลอันเนื่องมาแต่เหตุผลของการทำดีทำชั่ว ไม่มีโลกนี้ โลกหน้า สัตว์บุคคลไม่มี เป็นแต่ธาตุประชุมกันตายแล้วสูญไม่เกิดอีก เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น คลิก นัตถิกทิฏฐิ

อกิริยทิฎฐิ เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ ผลบาปบุญไม่มีแก่ผู้ทำกระทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป ปฏิเสธการกระทำโดยประการทั้งปวง

คลิกอ่านที่นี่ครับ.. อกิริยทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม ฆ่าบิดา มารดา (เป็นต้น) เพราะอนันตริยกรรมยังพอกำหนดอายุที่จะไปอบายได้ เช่น ไปนรก 1 กัป ดังเช่น พระเทวทัตทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตก) ซึ่งเมื่อครบกำหนดอายุกรรมแล้ว ก็สามารถไปเกิดในสุคติภูมิ และบรรลุธรรมภายหลังได้ ดังเช่น พระเทวทัต ภายหลังท่านก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล แต่ว่ามิจฉาทิฏฐิไม่สามารถออกจากวัฏฏะได้เลย (ตอวัฏฏะ) และยังเป็นเหตุให้ที่ทำบาปกรรมต่างๆ มากมายด้วย มีการทำอนันตริยกรรม เป็นต้น จึงไม่สามารถไปสุคติภูมิได้ และไม่มีทางบรรลุมรรคผล จึงมีโทษมาก ดังนี้ ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่ง อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย กระบวนโทษทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง และแม้ความเห็นผิด จะไม่ได้มีกำลังมากถึงกับดิ่ง แต่ความเห็นผิด แม้การเห็นผิดในข้อปฏิบัติ และอื่นๆ ก็มีโทษมาก เพราะเมื่อมีความเห็นผิดย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมอื่นๆ ตามมามากมายและล่วงศีลได้ เมื่อเห็นผิด ย่อมคิดผิด ย่อมมีวาจาผิด (พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ) ย่อมมีการงานผิด ประพฤติทางกายผิด (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) ย่อมเลี้ยงชีพผิด ย่อมเพียรผิด ย่อมระลึกผิด ย่อมตั้งมั่นผิด ย่อมรู้ผิด เป็นต้น สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ ๓๖๐

๒. ทุติยอธรรมสูตร

ว่าด้วยบุคคลพึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความเห็นชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรม มิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มิจฉาทิฏฐิ มีโทษมาก ทำให้ออกจากพระสัทธรรม

มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

มิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

ความเห็นผิด ยังแบ่งเป็นอีก ๒ อย่าง คือ

๑. สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ หรือ ตายแล้วต้องเกิดอีกแน่นอน

๒. อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าขาดสูญ คือ ตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นต้น

ที่สำคัญที่ควรพิจารณาคือ ความเห็นผิดทั้งหมดที่มี เกิดขึ้นได้ เพราะมีสักกายทิฏฐิคือ ความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ เพราะมีสักกายทิฏฐิ จึงทำให้มีความเห็นผิดว่า ตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิดอีก เพราะคิดว่ามีสัตว์ บุคคลที่เกิด หรือไม่เกิด สำคัญผิดว่า การกระทำของสัตว์ไม่มีผล สำคัญว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น ดังนั้นรากเหง้าของความเห็นผิดที่มีได้ด้วยความเห็นผิด ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน คือ สักกายทิฏฐิครับ ซึ่งพระโสดาบันละได้แล้ว และหนทางการละสักกายทิฏฐิ คือ การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจครับ ทุกคนยังมีความเห็นผิดอยู่ มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น แต่สามารถละได้ด้วยการเจริญอบรมปัญญาครับ ขออนุโมทนา

เขิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

สักกายทิฏฐิ

พระธรรมเทศนาเตือนสติ สำหรับผู้ที่ได้ยินได้ฟังอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของผู้นั้น แต่ว่าจิตใจของคน เป็นไปตามการสะสม สะสมมาไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ตรัส แต่เพราะกิเลสที่สะสมหมักหมมอยู่ในจิตมาอย่างเนิ่นนานนี้เอง ทำให้ไม่มีความเลื่อมใส ไม่เกิดศรัทธาที่จะน้อมรับฟังด้วยดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กิเลสมีกำลังที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว วาจาก็ผิด การกระทำทางกายก็ผิด ทุกอย่างย่อมผิดไปหมด ความเห็นผิด จึงเป็นอันตรายมาก ถ้าความเห็นของแต่ละบุคคลคลาดเคลื่อนไปผิดไป ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทุกอย่างก็จะผิดไปด้วย โดยที่สิ่งที่ผิด ก็จะเห็นว่าถูก สิ่งที่ถูกก็จะเห็นว่าผิด นี่แหละคือความเห็นผิดซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย เป็นไปเพื่อความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลธรรมเจริญขึ้น ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นเป็นการขัดเกลาละคลายความเห็นผิด รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ขณะที่กุศลธรรมเกิด อกุศลธรรมจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และความเห็นผิดจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้นความเห็นผิด จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขณะนี้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าทรงแสดงถึงเรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ความเห็นผิด หรือมิจฉาทิฏฐินั้น มีโทษมากอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ย่อมทำให้การกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ ก็ผิดไปทั้งหมด และถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลังเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดที่ดิ่ง) แล้ว ไม่สามารถจะแก้ไขได้เลย มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแน่นอน

นิยตมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดที่ดิ่ง แก้ไขไม่ได้) ๓ ประการ (โดยสรุป) ได้แก่
๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่เป็นอันทำ ปฏิเสธการกระทำดี กระทำชั่ว และปฏิเสธผลว่าไม่มี
๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า ทุกสิ่งไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นไปเอง
๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุและผล

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งสิ้น แม้แต่ในเรื่องของอกุศล คือ ความเห็นผิด พระองค์ก็ทรงแสดงเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจและเห็นโทษ ตามความเป็นจริงว่า ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ความเห็นผิดก็ยังมี ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และสามารถมีกำลังถึงขั้นที่เป็นความเห็นผิดที่ดิ่ง ดังกล่าวมาแล้ว ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเครื่องเตือนสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ประมาทในกุศลแม้เล็กน้อย พร้อมทั้งไม่ประมาทในอกุศลแม้เล็กน้อย ด้วยเช่นเดียวกัน และถ้าได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เหตุย่อมสมควรแก่ผล อกุศลกรรม ย่อมให้ผล เป็นอกุศลวิบาก กุศลกรรม ย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก ไม่ปะปนกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะถึงวาระของกรรมใดจะให้ผล เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ความคิดที่ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป" ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อศึกษาต่อไป ก็จะเข้าใจว่า ตราบใดก็ตาม ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด คือ เป็นพระอรหันต์ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเกิดในภพใหม่ ทันที มีจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นอีก (ชาติหน้า มีจริงอย่างแน่นอน) ซึ่งไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เลย

ดังนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้ละกิเลสทั้งหลาย มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 27 ก.ย. 2556

นิยตมิจฉาทิฏฐิ ปฏิเสธเรื่องบุญบาป เรื่องกรรมไม่มีจริง เรื่องทำดีไม่มีผล ทำชั่วไม่มีผล เรื่องการกระทำ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ