มิจฉาทิฏฐิ มีโทษมาก ทำให้ออกจากพระสัทธรรม

 
pirmsombat
วันที่  22 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21291
อ่าน  4,966

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์   ขอกล่าวถึงโทษของมิจฉาทิฏฐิก่อนที่จะกล่าวถึง โลภมูลจิต ดวงที่ ๓ ซึ่งไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 191

ข้อ ๑๙๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดา และ แก่มนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร

คือ บุคคล ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ใน อสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนเดืยวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและแก่มนุษย์ทั้งหลาย

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นโทษเฉพาะตน คนเดียวเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ความเห็นผิดออกไปสู่บุคคลเป็นจำนวนมากด้วย

ข้อ ๑๙๓

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษมากเหมือน มิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นอย่างยิ่ง

ซึ่ง ข้อ ๑๙๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียว ที่ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและแก่มนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับโมฆะบุรุษชื่อว่ามักขลินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงทิ้งลอบไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่ปลา เป็นอันมากฉันใด โมฆบุรุษชื่อมักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นดังลอบดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก

ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา เอกนิบาต มีว่า

ก็ในคำนี้ว่า เอก ปุคโล บัณฑิตพึงทราบ พระเทวทัตและพร้อมกับครู ๖ คน และชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น คือไม่ใช่จำกัดแต่ ท่านพระเทวทัตหรือ ครูทั้ง ๖ แต่ชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น คือผู้ที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิดทั้งหมด

ซึ่งข้อความต่อไป ได้อธิบายโทษของมิจฉาทิฏฐิ มีข้อความว่า

จริงอยู่ อนันตริยกรรมทั้งหลายชื่อว่ามีโทษมาก

มิจฉาทิฏฐินั่นเทียวยังมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรมทั้งหลายเหล่านั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า การกำหนดอนันตริยกรรมเหล่านั้น มีอยู่ จริงอยู่ อนันตริยกรรม ๔ อย่าง ท่านกล่าวว่า ย่อมยังสัตว์ให้เกิดในนรก แม้กรรม คือ สังฆเภท เป็นของตั้งอยู่ตลอดกัปในนรก การกำหนดอนันตริยกรรมเหล่านั้นมีอยู่ ที่สุดก็ยังปรากฏ แต่การกำหนด นิยตมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่มี

จริงอยู่ นิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นมูลของวัฏฏะ การออกจากภพของสัตว์ผู้ประกอปด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่มี สัตว์เหล่าใดย่อมสำคัญคำที่ตนพึงฟังของนิยตมิจฉาทิฏฐิบุคคล สัตว์เหล่านั้นย่อมให้ถึงความพินาศนั่นเทียว ก็สำหรับสัตว์ผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐินั้น ไม่มีสวรรค์ ไม่มีมรรค กรรมใดๆ ที่ทำแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น แม้อกุศลกรรมที่เป็นอนันตริยกรรมที่เป็นกรรมหนัก ที่จะต้องให้ผลในชาติหน้า สืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ที่ดับลง แต่อกุศลจิตที่ทำให้เป็นผู้ที่ทำให้เกิดในอบาย ก็ยังมีกาลที่จะหมดสิ้น แต่ว่าสำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้ง ใหัหมดสิ้น และยังไม่อบรบเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นก็จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ โดยที่ว่าไม่มีกาลกำหนดได้ว่าเมื่อใดจึงจะพ้น เพราะว่ายังมีความเห็นผิดอยู่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

เห็นได้ถึงความสำคัญและอันตรายของทิฏฐิทีเดียวนะครับ

ที่สำคัญแม้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธหรือไม่

ไม่ว่าบรรพชิตและฆราวาส (เช่น พระเทวทัตและครูทั้ง ๖)

หากมีมิจฉาทิฏฐิแล้วบอกกล่าวสั่งสอนคนทั่วไป

ย่อมทำให้เกิดโทษได้มากมายทีเดียวนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทางมาก และ ทุกท่านครับ

ถูกต้องครับ

บัดนี้ ทรงพระประสงค์ เพื่อตรัสบอกกิจแม้ไม่ควรทำ

จึงตรัสคาถากึ่งนี้ว่า

และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมื่อทำประโยชน์ที่ควรทำนี้อย่างนี้ ชื่อไม่พึงประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจที่เรียกว่า เล็กน้อย คือ ลามก และเมื่อไม่ประพฤติทุจริตเล็กน้อย พึงประพฤติทุจริตหยาบอย่างเดียวก็หามิได้ แต่พึงประพฤติทุจริตอะไรเล่า มีอธิบายว่า ไม่พึงประพฤติทุจริตประมาณน้อย คือแม้เล็กน้อย แต่นั้นพึงประพฤติ คือ แสดงโทษอันจะพึงเห็นเองของทุจริตนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้. ก็ในคาถานี้ เพราะผู้ไม่รู้เหล่าอื่นไม่เป็นประมาณ ด้วยว่าผู้ไม่รู้แม้เหล่านั้น ย่อมทำสิ่งที่ไม่มีโทษให้มีโทษบ้าง ย่อมทำสิ่งที่มีโทษน้อย ให้มีโทษมากบ้าง ส่วนท่านผู้รู้ทั้งหลายเท่านั้นเป็นประมาณ เพราะท่านผู้รู้เหล่านั้นพิจารณาแล้ว ใคร่ครวญแล้ว ย่อมกล่าวติเตียนแก่คนผู้ควรติเตียน ย่อมกล่าวสรรเสริญแก่คนผู้ควรสรรเสริญ

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิญฺญู ปเร แปลว่า ท่านผู้รู้เหล่าอื่นดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 24 มิ.ย. 2555

และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ

ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 24 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 24 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"แต่อกุศลจิตที่ทำให้เป็นผู้ที่ทำให้เกิดในอบายก็ยังมีกาลที่จะหมดสิ้น แต่ว่าสำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งใหัหมดสิ้น และยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นก็จะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ โดยที่ว่าไม่มีกาลกำหนดได้ ว่าเมื่อใดจึงจะพ้น"

"เพราะว่ายังมีความเห็นผิดอยู่"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
edu
วันที่ 25 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ