เรื่องพระ - หน้าที่ของพระ - ทำไมการบวชทำได้ง่าย !!!

 
Pure.
วันที่  3 ส.ค. 2556
หมายเลข  23290
อ่าน  992

_ดังเข้าใจว่า ณ ปัจจุบันพระคือสมมุตติสงฆ์ ดังนั้นหน้าที่ของสมมุตติสงฆ์คืออะไร?

_ทำไมการบวชพระจึงทำได้ง่ายในปัจจุบัน เหมือนไม่มีกฎเกณฑ์?

_ได้ยินพระพูดคุยกับคนบ้านใช้คำว่าครับๆ ผมๆ ได้หรือไม่?

ขอบคุณ อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ดังเข้าใจว่า ณ ปัจจุบันพระคือสมมุตติสงฆ์ ดังนั้นหน้าที่ของสมมุตติสงฆ์คืออะไร

หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญ คือ การศึกษพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรง แสดง ที่เป็น คันถธุระ และ การน้อมประพฤติปฏฺบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดง ที่เป็น วิปัสสนาธุระ และ ที่ขาดไม่ได้ คือ การศึกษาพระวินัยบัญญัติ เพื่อที่จะศึกษาแล้ว งดเว้น สิ่งที่ควรเว้น และ ประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ เพื่อ ความเจริญ บริสุทธิ์ของศีล และ เป็นปัจจัยให้เจริญขึ้นในกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น การบวชของพระภิกษุ จุดประสงค์ เพื่อพ้นจากทุกข์ ซึ่งการจะพ้นจากทุกข์ได้ ก็ด้วยปัญญา และ ปัญญาก็มาจาการศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ โดยมีรากฐานมา จากศีลที่รักษาดีแล้ว คือ ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึงอาจกล่าวได้ว่า กิจที่สมควรกับพระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าในกาลสมัยไหน คือ การศึกษาพระรรม ที่เป็น คันถธุระ และ การอบรมปัญญาที่เป็นวิปัสสนาธุระ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

กิจที่ถูกต้องของภิกษุ [มหาปาละบรรพชาอุปสมบท]ภิกษุพึงเป็นผู้มีกิจน้อย

มิใช่กิจของสงฆ์ [พรหมชาลสูตร]

กิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ [อัจจายิกสูตร]

กิจที่ต้องทำคือสิกขา 3 [สมณสูตร]

_ทำไมการบวชพระจึงทำได้ง่ายในปัจจุบัน เหมือนไม่มีกฎเกณฑ์

การบวช จะต้องพิจารณาองค์ต่างๆ และ การบวชที่ถูกต้องสำคัญที่ใจนั้น ต้องการ ที่จะสละเพศคฤหัสถ์จริงๆ เพราะฉะนั้น การบวช บวชได้ ดูเหมือนง่าย แต่การที่ จะมีใจอยากที่จะบวช โดยการเห็นโทษของการครองเรือนจริงๆ นั้นยาก แต่สิ่งที่ยาก กว่า การบวช คือ บวชแล้วยินดีในการบวช ย่อมเป็นสิ่งที่ยากกว่าอย่างยิ่ง เพราะเป็น การเปลี่ยนเพศ เปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง อันเป็นไปเพื่อมุ่งที่จะละสละ ขัดเกลาเป็นสำคัญ ดังนั้น การบวช ก็บวชตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็สามารถบวชได้ แต่สมัยนี้ เป็นการบวชตามประเพณีนิยม มีการตอบแทนคุณมารดา บิดา เป็นต้น ก็ดู บวชกันง่าย และ ก็สึกกันเร็ว แต่ ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล ไม่ได้บวชง่าย ความหมาย คือ ผู้ที่จะบวช มีใจที่จะสละเพศคฤหัสถ์ เป็นเพศบรรพขิต และ มุ่งที่จะดับกิเลสจริงๆ จึงบวชยาก เพราะ เป็นใจที่บวชใจที่สละแล้ว ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒- หน้าที่ 104

๑๖. ทุกกรปัญหาสูตร ว่าด้วยปัญหาเรื่องสิ่งที่ทำได้ยาก

[๕๑๒] ดูก่อนท่านสารีบุตร อะไรหนอ เป็นการยากที่จะกระทำ ได้ในธรรมวินัยนี้.

สา. บรรพชา ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้ว กระทำได้ โดยยาก.

สา. ความยินดียิ่ง ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไร อันภิกษุผู้ยินดียิ่ง แล้วกระทำได้โดยยาก.

สา. การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้วจะพึงเป็นพระอรหันต์ได้นานเพียงไร.

สา. ไม่นานนัก ผู้มีอายุ.

จบ ทุกกรปัญหาสูตรที่ ๑๖

_ได้ยินพระพูดคุยกับคนบ้านใช้คำว่าครับๆ ผมๆ ได้หรือไม่

สามารถใช้ได้ ตามสมควร ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หน้าที่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน ที่ควรทำเป็น อย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และไม่ ประมาทในการสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลสของตนเอง เพราะอกุศลที่มีมาก สิ่งที่จะขัดเกลาได้นั้น ก็ต้องเป็นธรรม ฝ่ายดีเท่านั้น

การบวชเป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละคนอย่างแท้จริง สะสมมาที่จะเห็นโทษของ การอยู่ครองเรือนว่าเป็นที่หลั่งไหลออกมาแห่งอกุศลทั้งหลาย จึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่ง สู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อประโยชน์ คือ ศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ แต่ถ้าไม่คิดถึงตรงนี้ บวชไปตามประเพณีบ้าง ด้วยเหตุผลอย่างอื่นบ้าง ไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ โดยเฉพาะในส่วนของพระวินัยแล้ว โอกาสที่จะต้อง อาบัติประเภทต่างๆ ก็มีได้มาก เป็นการย่ำยีพระวินัย ซึ่งจะเป็นโทษกับตนเองโดยส่วน เดียว และถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว เป็นเครื่องกั้นสวรรค์ มรรคผล นิพพาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นโอกาสที่จะ ได้ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น แต่กลับเพิ่มโทษให้กับตนเอง น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง แม้จะไม่ได้บวช ก็สามารถอบรมเจริญปัญญา สะสมความดี ในเพศคฤหัสถ์ได้ครับ

การสนทนาระหว่างพระภิกษุกับฆราวาส ก็มีเป็นธรรมดา ส่วนใหญ่แล้ว พระภิกษุ ท่านจะใช้คำแทนตัวเอง ได้หลายอย่าง เช่น อาตมา อาตมภาพ ซึ่งก็หมายถึง ฉัน ผม ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นตัวเอง ไม่ใช่คนอื่น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 ส.ค. 2556

คนที่บวชเป็นพระภิกษุ ไม่ว่าสมัยพุทธกาล หรือ สมัยนี้ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 7 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 16 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ