วิจิกิจฉา

 
gboy
วันที่  20 พ.ค. 2556
หมายเลข  22930
อ่าน  6,906

วิจิกิจฉาเป็นความลังเลสงสัย คืออย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิจิกิจฉามีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้า มีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่

วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉาโดยทั่วไปจึงมุ่งหมายถึงความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงมุ่งหมายถึงความลังเลสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องราวทางโลกที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า ๔ บวก ๕ เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...วิจิกิจฉา ๘ อย่าง

ซึ่งผู้ที่จะละความลังเลสงสัยจนหมดสิ้น คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนจะถึงความเป็นพระโสดาบันก็อาศัยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละความลังเลสงสัยได้ทีละเล็กละน้อย

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมที่จะค่อยๆ ละความลังเลสงสัย ด้วยธรรม ๖ ประการดังนี้

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 325

ธรรมสำหรับละวิจิกิจฉา

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) คือ ๑. ความสดับมาก ๒. การสอบถาม ๓. ความชำนาญในวินัย ๔. ความมากด้วยความน้อมใจเชื่อ ๕. ความมีกัลยาณมิตร ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย

ความสดับมาก...เพราะเป็นผู้ฟังพระธรรมมากด้วยความเข้าใจในพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธรรมดา ย่อมค่อยๆ ละคลายความไม่เชื่อ ความสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม ได้ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมจึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะละคลายความสงสัยเสียได้

การสอบถาม...เมื่อไม่เข้าใจก็สอบถามและเมื่อได้เข้าใจในคำตอบ ปัญญาเจริญขึ้นจึงละคลายความสงสัยในสิ่งที่ถามและในพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้

ความชำนาญในวินัย...เพราะเข้าใจถึงเหตุและผลของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงตามความเป็นจริงในส่วนอื่นๆ ย่อมละคลายความสงสัยเสียได้

ความน้อมใจเชื่อ...หมายถึงน้อมใจด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม เมื่อมีศรัทธาย่อมละคลายความสงสัยเสียได้

ความมีกัลยาณมิตร...เพราะอาศัยผู้ที่ความรู้ ความเข้าใจพระธรรม และที่สำคัญคือเป็นผู้มีคุณธรรม ย่อมสามารถเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ ทำให้ละคลายความสงสัยได้

การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย...การสนทนาพูดคุยถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้า สนทนาในคุณพระรัตนตรัย ย่อมทำให้เกิดศรัทธา เกิดความเข้าใจในพระธรรม ย่อมละคลายความสงสัยในพระรัตนตรัยได้ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความสงสัยที่เป็นวิจิกิจฉาต้องสงสัยที่เกี่ยวกับธรรมเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ความลังเลสงสัยในสภาพธรรมก็ยังมีอยู่ ความลังเลสงสัยเป็นกิเลสที่กางกั้นไม่ให้กุศลจิตเกิด คือ เป็นนิวรณ์ หรือกล่าวได้ว่า อกุศลทุกประเภทเป็นนิวรณ์ก็ได้ เพราะในขณะที่กิเลสเกิดขึ้นนั้น กุศลเกิดไม่ได้เลย และหนทางที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความสงสัยรวมไปถึงกิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ด้วยนั้นคือการอบรมเจริญปัญญา เพราะขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็ละคลายความสงสัย ละคลายความไม่รู้ แล้ว จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคล การเป็นพระอริยบุคคลได้นั้นก็ต้องดำเนินตามทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญปัญญา จะขาดปัญญาไม่ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 พ.ค. 2556

วิจิกิจฉาเป็นความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และ ในสภาพธรรม แต่การสงสัยในเรื่องราวของทางโลก เช่น สงสัยว่าคนนี้ชื่ออะไร ไม่เป็นวิจิกิจฉา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
gboy
วันที่ 21 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Rodngoen
วันที่ 22 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 22 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
s_sophon
วันที่ 13 ก.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
yanong89
วันที่ 31 ส.ค. 2560

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ