แด่ผู้บวชใหม่

 
kema
วันที่  19 พ.ย. 2555
หมายเลข  22072
อ่าน  4,352

ขอเรียนถามท่านผู้รู้

หากบวช ๑ เดือน เป็นวัดในเมือง และไม่ได้เป็นช่วงพรรษา จึงไม่ได้มีการเรียนการสอนสักเท่าใด ภิกษุใหม่พึงทำประการใดเพื่อที่จะได้ปฏิบัติไม่ผิดพระวินัย จากความไม่รู้ และจะมีวิธีใดที่จะแนะนำ เพื่อจะได้มีสติสัมปชัญญะเพื่อจะได้รู้ ละอวิชชาและเกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงดังกล่าว

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่มีความประสงค์จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน เพราะเป็นที่ไหลมา แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งเป็นผู้ที่สละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเข้าสู่เพศบรรพชิตด้วยความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในเพศบรรพชิตจริงๆ

ควรที่จะพิจารณาว่า ทำไมถึงบวช? เพราะถึงแม้ว่าไม่ได้บวชก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาและกุศลประการต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชแล้ว คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความต่างระหว่างเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ไว้น่าพิจารณาทีเดียว ว่า

ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนพุทธบริษัท ระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวช คือว่า พุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็สามารถเป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้


เพราะฉะนั้น การจะบวชจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ และจุดประสงค์ของการบวชต้องตรงด้วย เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ ถ้าหากว่าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้ว แทนที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ทรงเพศอันสูงสุด ก็จะทำให้นำพาตนเองลงสู่ที่ต่ำก็เป็นได้ เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาพระวินัยไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว

จากกรณีประเด็นคำถาม ถ้าบวชแล้วก็จะต้องอาศัยการสอบถามจากพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ภายในวัด เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในส่วนของพระวินัยปิฎก เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจในพระวินัยซึ่งเป็นสิกขาบทต่างๆ แล้ว โอกาสที่จะต้องอาบัติสิกขาบทต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นไปได้มากทีเดียว ซึ่งถ้ามีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ ก็คงจะไม่ใช่ในลักษณะที่ว่า บวชแล้วไม่รู้อะไร แล้วก็ทำอะไรต่างๆ มากมายด้วยความไม่รู้ แต่จะมีความเพียร มีความอดทน ที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป

ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มีการสนทนา "พระวินัย" โดย อาจารย์ประเชิญ แสงสุข และ อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๐.๑๕ น.

ผู้สนใจก็สามารถเข้าร่วมสนทนาธรรมตามวันและเวลาดังกล่าวได้ ครับ (ยกเว้น วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน และ วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เพราะที่มูลนิธิฯ งดการสนทนาธรรม เพราะท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะฯ จะเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย และน้อมถวายเจดีย์ที่ครอบพระบรมสารีริกธาตุ "พระรัตนบุษยภาชน์อโศกมหาราชปริวรรต" ที่สารนาถ ครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

บรรพชิต หมายถึง ผู้เว้นทั่ว

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ

การอนุโมทนาบรรพชา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์ สู่ความเป็นเพศบรรพชิต

บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละอาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์

สำหรับการจะทำให้ผิดพระวินัยน้อยลงก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้พระวินัย และประการสำคัญที่สุด เป็นผู้ที่เคารพและประพฤติปฏิบัติในเพศบรรพชิต เมื่อมีความคิดที่ถูกต้อง ตรงที่จะขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งแล้ว ก็ขวนขวายที่จะศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งสำหรับวัดในเมืองก็มีพระไตรปิฎกในส่วนของพระวินัยให้ศึกษาให้เข้าใจ ซึ่งหากได้อ่านมากๆ ก็จะเห็นถึงข้อที่ควรงดเว้นและข้อที่ควรประพฤติ ว่าสิ่งใดควรเว้น สิ่งใดควรประพฤติ ครับ

ดังนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจะเป็นเครื่องเตือนที่ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้สภาพธรรมฝ่ายดีคือปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาจะทำหน้าที่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร อะไรควรเว้น ไม่ควรเว้น แต่ที่สำคัญเมื่อยังเป็นผู้ที่สะสมปัญญามาน้อย ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดกิเลสและเกิดอกุศล และย่อมกระทำผิดพระวินัยโดยไม่รู้ตัวเลยได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของพระภิกษุผู้บวชใหม่ ย่อมจะต้องอาบัติในส่วนต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุดคือพระภิกษุผู้บวชใหม่ควรเห็นโทษของอาบัติ โดยการปลงอาบัติด้วยความถูกต้อง คือเห็นโทษของอาบัติและแสดงคืนอาบัติกับพระภิกษุรูปอื่น เพื่อประโยชน์คือ ศีลบริสุทธิ์ ที่จะไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์และนิพพานเมื่ออยู่ในเพศบรรพขิต ครับ

ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร และแม้หากสึกมาแล้ว ประโยชน์คือการอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม เพราะปัญญาไม่จำกัดว่าเพศใด สามารถเกิดขึ้นได้หากอบรมเหตุที่ถูกต้องและควรอบรมให้มี เพราะไม่ว่าเป็นเพศอะไร หากขาดปัญญาแล้วย่อมดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถดับกิเลสได้ ครับ

การเป็นบรรพชิตที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ยาก สมดังที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ครับว่า

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 104

๑๖. ทุกกรปัญหาสูตร ว่าด้วยปัญหาเรื่องสิ่งที่ทำได้ยาก

[๕๑๒] ดูก่อนท่านสารีบุตร อะไรหนอ เป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้.

สา. บรรพชา ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก.

สา. ความยินดียิ่ง ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้วกระทำได้โดยยาก.

สา. การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้มีอายุ.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว จะพึงเป็นพระอรหันต์ได้นานเพียงไร.

สา. ไม่นานนัก ผู้มีอายุ.

จบ ทุกกรปัญหาสูตรที่ ๑๖

จบ ชัมพุขาทกสังยุต

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 23 พ.ย. 2555

ขอบคุณ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หนทางสงบ
วันที่ 19 เม.ย. 2556

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ