การอนุโมทนาบรรพชา

 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่  17 มี.ค. 2554
หมายเลข  18066
อ่าน  1,780

อ่านชาดก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 98)

เจ้าชายสิตธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ในขณะมนุษย์นอนหลับใหล เทพยดา นาค ครุฑ ต่างอนุโมทนาถึงปานนี้ ... เทวดาทั้งหลายชูคบเพลิง ๖๐,๐๐๐ อัน ข้างหน้าพระโพธิสัตว์นั้น ข้างหลัง ๖๐,๐๐๐ อัน ข้างขวา ๖๐,๐๐๐ อัน ข้างซ้าย ๖๐,๐๐๐ อัน. เทวดาอีกพวกหนึ่ง ชูคบเพลิงหาประมาณมิได้ ณ ที่ขอบปากจักรวาล. เทวดากับนาคและครุฑเป็นต้นอีกพวกหนึ่ง เดินบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ จุรณและธูปอันเป็นทิพย์. พื้นท้องฟ้านภาดลได้ต่อเนื่องกันไป ไม่ว่างเว้นด้วยดอกปาริชาตและดอกมณฑารพ เหมือนเวลามีเมฆฝนอันหนาทึบ ทิพยสังคีตทั้งหลายได้เป็นไปแล้ว. ดนตรีหกหมื่นแปดพันชนิดบรรเลงขึ้นแล้วโดยทั่วๆ ไป. กาลย่อมเป็นไป เหมือนเวลาที่เมฆคำรามในท้องมหาสมุทร และเหมือนเวลาที่สาครมีเสียงกึกก้องในต้องภูเขายุคนธร. พระโพธิสัตว์เมื่อเสด็จไปอยู่ด้วยสิริโสภาคย์นี้ ล่วงเลยราชอาณาจักรทั้ง ๓ โดยราตรีเดียวเท่านั้น เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ที่ในที่สุดหนทาง ๓๐ โยชน์. ถามว่า ก็ม้าสามารถจะไปให้ยิ่งกว่านั้นได้หรือไม่? ตอบว่าสามารถไปได้ เพราะม้านั้นสามารถเที่ยวไปตลอดห้วงจักวาลโดยไม่มีขอบเขตอย่างนี้ เหมือนเหยียบวงแห่งกงล้อที่สอดอยู่ในดุมแล้ว กลับมาก่อนอาหารเช้า บริโภคอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับตน. ก็ในกาลนั้น ม้าดึงร่างอันทับถมด้วยของหอมและดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งเทวดา นาค และครุฑเป็นต้น ยืนอยู่ในอากาศ แล้วโปรยลงมาท่วมจนกระทั่งอุรุประเทศ แล้วตลุยชัฏแห่งของหอมและดอกไม้ไป จึงได้มีความล่าช้ามาก เพราะฉะนั้น ม้าจึงได้ไปเพียง ๓๐ โยชน์เท่านั้น

คำถาม ด้วยเหตุนี้หรือ ชาวพุทธไทยจึงยึดคติว่าการบวชกอปรด้วยบุญมาก? แม้รู้ว่าผู้บวชจะต้องสึกมาเป็นฆราวาสหรืออย่างไร? คติชาวพุทธในพม่า อินเดียเป็นอย่างไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

บรรพชา หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากบาป อกุศลกรรม เพราะฉะนั้นผู้ที่บวชด้วยความเห็นถูก จึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าเพศฆราวาสไม่สามารถประพฤติขัดเกลากิเลสได้สะดวกอันสามารถให้ถึงพระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้นจึงสละเพศฆราวาสด้วยการเห็นโทษในการครองเรือน เพื่อประพฤติธรรมด้วยความจริงใจและด้วยปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของความเห็นถูกที่เป็นกุศลธรรม เทวดาทั้งหลายจึงอนุโมทนาในสิ่งนั้น เพราะเป็นกุศลธรรม ความเห็นถูก แต่มิใช่การบวชด้วยประเพณีหรืออื่นๆ ใด ดังเช่นตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้น ที่พระโพธิสัตว์ออกมหาภิเนษกรมณ์ (บวช) แล้ว เทวดาต่างอนุโมทนา เพราะพระองค์มีความเห็นถูก ต้องการสละเพศฆราวาสโดยมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้องในการบวชคือการเว้นทั่วจากกิเลสเพื่อดับกิเลส ไม่ใช่จุดประสงค์อื่นเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นกุศลธรรม เทวดาทั้งหลายจึงอนุโมทนาครับ

บุญจะมากไม่มาก ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ปัญญาเป็นสำคัญ มิได้หมายถึงว่าเมื่อบวชแล้วจะต้องเป็นบุญ เพราะบุญคือสภาพธรรมที่ดีที่เกิดกับจิต ไม่ใช่ที่ผ้าหรือสิ่งใดมาประกอบที่กายครับ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคติของใคร หากแต่ว่าความเข้าใจ ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในการบวชเพราะเป็นไปเพื่อละ สละกิเลสจนหมดจริงๆ

ขอนุโมทนาครับเชิญคลิกอ่านที่นี่. ...

จุดประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง [รัฐปาลเถรคาถา]

วัตถุประสงค์ของการบวช

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมากในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าการอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแน่นอน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศหรือเครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สำคัญความเป็นบรรพชิต รักษายาก ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีการประพฤติปฏิบัติตนไม่สมควรแก่ความเป็นบรรพชิตแล้ว มีแต่จะเป็นโทษแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว

ในยุคนี้สมัยนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ สำหรับความเป็นบรรพชิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ประการที่สำคัญ คือ เพศไหน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่? เป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังไม่จบสิ้น ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 17 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 17 มี.ค. 2554

พระโพธิสัตว์ออกบวชเพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้แล้วก็ทรงช่วยให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ด้วย พวกเทวดารู้ล่วงหน้าท่านก็มาอนุโมทนา มาต้อนรับ

ผู้ที่บวชในครั้งพุทธกาล เป็นผู้ที่สะสมบุญบารมีมามากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Komsan
วันที่ 17 มี.ค. 2554
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prakaimuk.k
วันที่ 18 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
intira2501
วันที่ 18 มี.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
lovedhamma
วันที่ 14 เม.ย. 2554

ตรงตัวหนังสือสีน้ำเงินของคุณ Khampan.a เป็นที่ต้องใจผมมากๆ เลยครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nopwong
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ