ไม่ติดข้องกับสติปัฏฐาน เพียงเพื่อความเข้าใจ ครับ สาธุ.....

 
คนไทยพบธรรม
วันที่  28 พ.ค. 2555
หมายเลข  21178
อ่าน  1,193

จากการฟังท่านอ.สุจินต์ ท่านบรรยาย สติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เกิดตามเหตุปัจจัย เป็นต้น จิตรู้แข็งจากการกระทบ สติต้องรู้แข็งนั้นด้วย อารมณ์ เดียวกับจิตเพียงรู้ด้วยสติ ไม่ใช่รู้ด้วยจิต เลยเข้าใจไปว่า สติปัฏฐาน คือ การเข้าใจ ว่าที่แข็งปรากฏเกิดขึ้นเพราะมี กายปสาทไปสัมผัส แข็งและรับรู้ได้ทางจิต จึงปรากฏ แข็งได้ เพราะมีจิตไปรู้นี่เอง ฉะนั้น สติปัฏฐานนี่จะต่อไปที่ เพราะมีจิตรู้ซึ่งเป็นนามธาตุ สภาพธรรมะนั้นๆ จึงปรากฏ ดังนี้หรือไม่ครับ

ขอความเมตตาท่าน กัลยาณมิตรชี้แนะด้วย นะครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

๒. การบรรยายของท่าน อ.สุจินต์ ท่านก็บอกว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช่สภาพธรรมะที่คิด เพียง ว่าเมื่อสภาพธรรมะใดปรากฏเกิดขึ้น ได้คิดต่อและเข้าใจ นั่นก็คือสติปัฏฐาน คำว่าคิดนี่ คิดต่อจากสภาพธรรมะที่เกิดขึ้น นั้นๆ ว่าอะไรเป็นอย่างไร รูป นาม หรือไม่ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากการฟังท่านอ.สุจินต์ ท่านบรรยาย สติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เกิดตามเหตุปัจจัย เป็นต้น จิตรู้แข็งจากการกระทบ สติต้องรู้แข็งนั้นด้วย อารมณ์เดียว กับจิตเพียงรู้ด้วยสติ ไม่ใช่รู้ด้วยจิต เลยเข้าใจไปว่า สติปัฏฐาน คือ การเข้าใจว่าที่แข็ง ปรากฏเกิดขึ้นเพราะมี กายปสาทไปสัมผัส แข็งและรับรู้ได้ทางจิต จึงปรากฏแข็งได้ เพราะมีจิตไปรู้นี่เอง ฉะนั้นสติปัฏฐานนี่จะต่อไปที่ เพราะมีจิตรู้ซึ่งเป็นนามธาตุสภาพธรรมะนั้นๆ จึงปรากฏ ดังนี้หรือไม่ครับ ขอความเมตตาท่าน กัลยาณมิตรชี้แนะด้วยนะครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ


- ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจพื้นฐานครับว่า จิต เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ คือ รู้ในอารมณ์ นั้นเท่านั้น แต่ ไม่ใชการรู้ตามความเป็นจริงดังเช่นปัญญา ซึ่งจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิก เกิดร่วมด้วย ครับ เจตสิก ก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ เจตสิกมีหลายประเภท เจตสิกจึงมี หน้าที่ ไม่ใช่เพียงรู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ทำหน้าที่อื่นๆ ด้วย ตามประเภทของเจตสิก ครับ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็ต้องมี จิต และ เจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้น เป็น กุศลจิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มี สติเจตสิกและปัญญาเจตสิก เป็นต้น ที่เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าสติปัฏฐานเกิด จิตจะต้องไปรู้ อารมณ์นั้นก่อน สติ และปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานจะไปรู้ทีหลัง เพราะ อาศัยจิตไปรู้ก่อน เพราะ ในความเป็นจริง จิต เจตสิก เกิดพร้อมกัน ในขณะนั้นเลย รู้อารมณ์เดียวกัน เพียงแต่ว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด จิตที่เป็นกุศลจิต นั้น ทำหน้าที่รู้อารมณ์นั้นเท่านั้นแต่ปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ทำหน้าที่รู้ แต่รู้ตามความเป็นจริง ว่าอารมณ์นั้น เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ ความแตกต่างของการรู้ด้วยจิต กับ รู้ด้วยปัญญา ครับ

ส่วน สติก็ทำหน้าที่ระลึกในขณะนั้น พร้อมๆ กับ จิตที่รู้อารมณ์นั้นครับ และ สติปัฏฐานคือ การรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น คือ รู้ตัวลักษณะ ที่ไม่ใช่การคิดนึก ว่า มีกายปสาทรูปมากระทบ เป็นต้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2555

๒. การบรรยายของท่าน อ.สุจินต์ ท่านก็บอกว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช่สภาพธรรมะที่คิด เพียงว่าเมื่อสภาพธรรมะใดปรากฏเกิดขึ้น ได้คิดต่อและเข้าใจ นั่นก็คือสติปัฏฐาน คำว่าคิดนี่คิดต่อจากสภาพธรรมะที่เกิดขึ้น นั้นๆ ว่าอะไรเป็นอย่างไร รูป นาม หรือไม่ครับ


- สติปัฏฐาน คือ การรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่ง สภาพธรรมที่ ปรากฏ คือ มีลักษณะให้รู้ เช่น ขณะนี้ เห็น เห็นสีเท่านั้น สี ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ หรือ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ของ สติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน ที่รู้ลักษณะของ สี จึงรู้ว่าเป็นแต่เพียง สี ไม่มีสัตว์ บุคคล ในขณะที่รู้ คือ ขณะที่สี กำลังปรากฏ แต่ใน ขณะต่อไป ก็คิดนึกในรูปร่างสัณฐาน ทำให้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ที่ทางใจคิดนึกต่อ ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ขณะนั้น คิดนึกเป็นเรื่องราวแล้ว และไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ซึ่ง ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ เพราะอารมณ์ หรือ สิ่งที่ถูกสติปัฏฐานรู้ จะ ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก และรูปเท่านั้น ครับ

เพราะฉะนั้น กลับมาสู่คำถามที่ว่า ขณะที่คิดนึกไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่า ขณะที่ คิดนึกว่า นี่เป็นนาม นี่เป็นรูป ขณะนั้น มีเรื่องราว หรือ บัญญัติ เป็นอารมณ์ที่กำลัง คิดนึก ขณะนั้น ไม่ได้รู้ลักษณะตัวปรมัตถ์ ที่เป็นสิ่งที่มีจริงเลย เพราะ ดับไปนานแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดนึกถึงเรื่องสภาพธรรม ไม่ใช่ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด แต่ ความคิดนึก ไม่สามารถห้ามได้ ครับ แต่ ขณะที่คิดนึก อะไรมีจริง คิดนึกมีจริง คือ มีตัวจิตที่คิดนึกนั่นเอง จิตมีจริง แต่เรื่องที่คิดนึก ไม่มีจริง ผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานเมื่อปัญญามีมาก ย่อมสามารถเกิดสติปัฏฐาน ระลึกถึงตัวคิดนึก คือ ระลึกจิตที่คิดนึกได้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ นี่คือ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์แสดงไว้ครับว่า แม้คิดนึก ตัวคิดนึกมีจริง ห้ามไม่ได้ แต่สติปัฏฐานสามารถเกิดรู้จิตคิดนึกได้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

สติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ยาก และไกล เพราะ เมื่อไหร่ที่คิดจะทำ พลาดแล้วจากหนทางที่ถูก เพราะในความเป็นจริงมีแต่เพียงธรรม ไม่มีใครทำให้สติปัฏฐานเกิดได้ ปัญญาขั้นการฟังเท่านั้นที่จะบ่ม เพาะ สภาพธรรมฝ่ายดีต่างๆ จนปัญญามีกำลัง สติปัฏฐานก็จะเกิดเอง ครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องห่วง เรื่องสติปัฏฐานจะเป็นอย่างไร จะเกิดหรือไม่อย่างไร มีลักษณะอย่างไร เพราะ เมื่อยังไม่เกิดย่อมไม่รู้

แต่ ที่สำคัญ ที่สุด คือ การฟังพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรมต่อไปเรื่อยๆ และไม่คิดจะทำสติ เพราะ เป็นหน้าที่ของธรรม เมื่อฟังพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้น สติปัฏฐานก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า สติปัฏฐานเป็นอย่างไร แต่จะเกิดเมื่อไหร่ เป็นตามเหตุปัจจัย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่มีการได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็ไม่สามารถที่จะมีเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย

ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ แม้ขณะที่คิดก็มีสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ จิตและเจตสิก เพราะถ้าไม่มีจิตและเจตสิก ก็คิดไม่ได้ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใ่ช่เรา ซึ่งจะต้องอาศัยหนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง อันเป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรมเป็นเรื่อง ละ ความไม่รู้ เป็นเรื่อง ละ ความต้องการ

แต่ถ้าใครฟังแล้วอยากให้สติปัฏฐานเกิด หรืออยากให้ปัญญา

ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

ก็ผิดอีกแล้ว นี่เป็นความคลาดเคลื่อน (เห็นผิดเป็นตัวตน)

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาบุญครับทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 23 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
boonpoj
วันที่ 24 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ