การฆ่าสัตว์เป็นบาป

 
บริสุทธิ์
วันที่  29 พ.ค. 2555
หมายเลข  21185
อ่าน  22,887

ศีลข้อหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยากทราบว่าศีลข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมเพียงใด ซึ่งผมมีคำถามว่า ถ้าหากการฆ่าสัตว์ทุกชนิดเป็นบาป ไม่เว้นว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม แต่ทุกวันเรายังบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร แล้วเราจะอธิบายสิ่งนี้ว่าอย่างไร หรือยกเว้นสัตว์ที่เป็นอาหาร

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนา เป็นสำคัญ องค์ของการฆ่าสัตว์ ที่จะเป็นปาณาติบาต ต้องครบ ๕ ข้อ คือ

องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ดังนั้น จะเป็นบาปหรือไม่ คือ จะเป็นการฆ่าสัตว์ที่เป็น ปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่ในขณะนั้นหรือเปล่า ครับ เช่น เดินเหยียบมด ขณะนั้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า แม้สัตว์นั้นจะตาย แต่ก็ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาฆ่า ครับ
เพราะฉะนั้น ขอบเขตที่เป็นปาณาติบาต จึงอยู่ในองค์ ๕ ข้อที่กล่าวมา โดยสำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ ว่ามีเจตนาทุจริตไม่ดี มีเจตนาฆ่าหรือไม่ ครับ ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า แม้สัตว์นั้นตายก็ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ

ส่วนประเด็นเรื่องที่ถามว่า แต่ทุกวันเรายังบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร แล้วเราจะอธิบายสิ่งนี้ว่าอย่างไร หรือยกเว้นสัตว์ที่เป็นอาหาร?

- ถามว่าขณะที่ทานเนื้อ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าหรือเปล่าครับ ไม่มีเจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่มีเจตนา ที่จะบริโภค ถามต่อว่า คนที่ทานมังสวิรัติกับคนที่ทานเนื้อ จิตขณะนั้นต่างกันไหม ถ้าเป็นปุถุชน จิตขณะนั้น มีความต้องการ (โลภะ) เหมือนกันไหม ก็เจตนาที่จะทานเหมือนกัน โลภะเหมือนกันครับ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ทานเนื้อ กับปุถุชนทานมังสวิรัติ จิตของคนทั้งสองที่ทาน ต่างกันไหม พระอรหันต์ติดในรสไหม พระอรหันต์มีเจตนาฆ่าเนื้อตอนนั้นไหม ปุถุชนทานมังสวิรัติ ติดในรสไหม ถ้าติดในรส (โลภะ) เป็นบุญหรือบาป ถ้าเป็นโลภะ

ดังนั้น อาหารจะทำอะไรได้ ถ้าจิตมากไปด้วยกิเลส สัตว์จะบริสุทธิ์ได้มิใช่เพราะอาหาร แต่เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่า บุญ บาป อยู่ที่เจตนา และเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ [อามคันธสูตรที่ ๒]

กรรมที่เป็นบุญ บาป อยู่ที่เจตนา

การบริโภคเนื้อสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ เพราะอาจจะมีคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ในแนวคิดที่ทานเจ คือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้บริโภค ลดการบริโภคลงเสียบ้างก็คงจะลดการฆ่าลงไปได้ แต่หากทานเนื้อสัตว์กัน สัตว์ก็ถูกฆ่ามากขึ้น?

- การที่สัตว์ถูกฆ่า ก็ต้องคิดแล้วหละว่าเกิดจากอะไร ในทางพระพุทธศาสนาและความเป็นจริงนั้น การที่ถูกฆ่าก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ ดังนั้น สัตว์นั้น จึงมีกรรมที่ต้องถูกฆ่า จะบริโภคน้อยลงหรือมากขึ้น สัตว์ก็ต้องถูกฆ่า เพราะอกุศลกรรมให้ผล มนุษย์ทำไมถึงถูกฆ่าได้ทุกวัน ก็ไม่ได้บริโภคเนื้อมนุษย์ เป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ ทำไมยังถูกฆ่าทุกวัน เพราะคนนั้นที่ถูกฆ่า อกุศลกรรมให้ผลเพราะเคยทำอกุศลไว้

ดังนั้น การบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้สัตว์ถูกฆ่าน้อยลง แต่กรรมไม่ดีต่างหาก ที่ทำให้สัตว์ถูกฆ่าครับ และถ้าคิดละเอียดขึ้น ทำไมถึงทำกรรมไม่ดี อันเป็นเหตุให้ถูกฆ่า ก็เพราะกิเลสที่มีนั่นเอง ดังนั้น พระธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีกิเลสน้อยลงจนไม่มีอีกและด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงแสดงพระธรรม เพื่อการพ้นทุกข์คือ ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เมื่อคนนั้นไม่เกิด ใครจะฆ่าคนนั้นได้อีกครับ

กรรมจึงขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ อาหารไม่สามารถทำให้สัตว์บริสุทธิ์ หรือ เศร้าหมองได้ กิเลสทำให้สัตว์ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง ปัญญาทำให้สัตว์บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ทำให้เข้าใจในเหตุในผลของธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สำหรับในเรื่องการทานเนื้อสัตว์หรือไม่ทานเนื้อสัตว์ ก็เป็นประเด็นสงสัยของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น แม้แต่ในสมัยพุทธกาล รวมไปถึงในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็เคยมีคนสงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน

บาป บุญ อยู่ที่เจตนา อาหารนานาชนิดทั้งที่สมบูรณ์ด้วยเนื้อและไม่ได้ประกอบด้วยเนื้อ มิใช่สิ่งที่ทำให้กิเลสของคนลดลง แต่สิ่งที่จะทำให้กิเลสของคนลดลง มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเห็นถูกมากขึ้น แล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ ในขณะรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ จึงไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

สัตว์ถูกฆ่า เป็นผลของอกุศลกรรม ผู้ที่กระทำการฆ่า เป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้กิเลสของสัตว์โลกน้อยลง จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นอีกเลย ไม่ต้องมีการเกิดอีก ไม่ต้องถูกทำร้ายเบียดเบียนอีกต่อไป เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรงแสดงจึงเป็นอนุสาสนี เป็นคำพร่ำสอนให้พุทธบริษัทเห็นโทษของกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย เพื่อสำรวจตัวเองว่ายังเป็นผู้มีสิ่งที่ไม่ดีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ขัดเกลา ลดละคลายให้เบาบางลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (ปัญญา) จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสได้ในที่สุด ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตรที่เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ได้ที่นี่ ครับ

อามคันธสูตร ... เสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ค. 2555

คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ก็ฆ่ามด ฆ่ายุง การไม่ฆ่าสัตว์อยู่ที่ปัญญา ไม่ได้อยู่ที่อาหาร ส่วนคนที่จะไม่ล่วงศีลห้า มีศีลบริสุทธิ์ต้องบรรลุเป็นพระโสดาบันเท่านั้น และกว่าจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องอาศัยการอบรมปัญญาด้วยการฟังธรรมจนกว่าจะเข้าใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บริสุทธิ์
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนา แด่ผู้ให้ความรู้อันชัดแจ้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นายสมใจ
วันที่ 24 เม.ย. 2562

อนุโมทนาสาธุครับท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นายณรงค์
วันที่ 30 มี.ค. 2564

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nui_sudto55
วันที่ 17 ก.พ. 2567

สาธุและอนุโมทนาในธรรมทานครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ