การลงโทษบาป

 
บริสุทธิ์
วันที่  29 พ.ค. 2555
หมายเลข  21186
อ่าน  2,084

เมื่อกล่าวถึงบาป ย่อมหมายถึงความผิดเมื่อทำแล้วเป็นความผิด เมื่อผิดย่อมได้รับการ ลงโทษ ดังนั้น บาปที่เราได้กระทำแต่ละวัน มีการลงโทษอย่างไร ซึ่งยังเห็นว่าผู้กระทำบาป ยังอยู่อย่างมีความสุขดีในสังคม เช่น ดื่มสุรา ผิดประเวณี เล่นการพนัน และ ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บาป มีได้ เพราะอาศัย จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น คือ เป็นจิตที่ไม่ดี เพราะประกอบด้วย เจตสิกที่ไม่ดี มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น บาปจึงมีหลายระดับ คือ ขณะ ที่เป็นอกุศลจิต และ ขณะที่ทำอกุศลกรรม ที่เป็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ขณะที่เป็นบาปที่มีกำลัง และ สามารถทำให้ส่งผลได้รับวิบาก คือ ผลของกรรมได้ มีการเกิดในอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น และ การเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสที่ไม่ดี ครับ นี่คือ ผลของกุศลกรรม หรือ การกระทำบาปที่สามารถให้ผลได้

แต่เราจะต้องเข้าใจความจริงในเรื่องของกรรมข้อหนึ่งครับว่า กรรม ที่เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมก็ดี จะต้องมีเหตุปัจจัยพร้อม กรรมนั้นจึงจะให้ผล ซึ่งเหตุปัจจัยข้อหนึ่งคือ ระยะเวลาของการให้ผลของกรรม กรรมบางอย่างให้ผลทันที กรรมบางอย่างให้ผลชาตินี้ แต่ไม่ให้ผลทันที กรรมบางอย่างให้ผลชาติหน้า กรรมบางอย่างให้ผลในชาติ ถัดๆ ไป และกรรมบางอย่าง ไม่มีโอกาสให้ผลก็มี ครับ นี่คือ ความละเอียดของกรรม ดังนั้น การทำบาปที่เป็นอกุศลกรรม ไม่จำเป็นจะต้องให้ผลชาตินี้ก็ได้ อาจจะให้ผล ชาติหน้า หรือ ชาติถัดๆ ไป ก็ได้ ครับ เพราะฉะนั้น การให้ผลของกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ในการทำบาป จึงไม่จำเป็นจะต้องให้ผลในชาตินี้ และ เราก็ไม่รู้เลยว่า ขณะที่ได้รับสิ่งที่ดี หรือ สิ่งที่ไม่ดี จะสรุปว่า เป็นเพราะกรรมนี้ให้ผล เป็นเพราะกรรมนั้นให้ผล เพราะผู้ที่จะรู้ถึงความละเอียดของกรรมโดยละเอียด คือ พระพุทธเจ้า ครับ

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 2

แม้คนผู้ทำบุญ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล

แต่เมื่อใดบาปเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว

ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล

แต่เมื่อใดกรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

เพราะฉะนั้น ให้ยึดหลักว่า ขณะที่ได้รับสิ่งที่ดี มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม และ ขณะที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี คือ เห็นไม่ดี เป็นต้น เป็นผลของกุศลกรรม และ ให้เข้าใจครับว่า การให้ผลของกรรม มีระยะเวลาให้ผล เพราะฉะนั้น ผู้ที่กระทำบาปในชาติปัจจุบัน แต่ ได้รับความสุข สิ่งที่ดี เราก็ต้องมั่นคงว่า การได้รับสิ่งทีดีของเขา ในขณะปัจจุบัน เป็นผลของกรรมดี ที่เคยทำไว้ในอดีต ไม่ใช่ผลของกรรมชั่ว ครับ และ ขณะที่ชาตินี้ทำความดี แต่ ได้รับสิ่งที่ไม่ดี การได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของกรรมชั่ว ไม่ใช่เพราะกรรมดีที่ทำในปัจจุบัน เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพียงชาติเดียว เกิดมานับชาติไม่ถ้วน ดังนั้น ก็ทำกรรมดี และไม่ดี คือ ทำบาปโดยมาก มานับไม่ถ้วน ครับ เพราฉะนั้น บาปในอดีตชาติ ก็สามารถให้ผลได้รับสิ่งที่ไม่ดี และ กรรมดีในอดีตชาติก็สามารถให้ผลได้รับสิ่งที่ดี แม้ปัจจุบันจะทำกรรมชั่วก็ตาม กรรมยุติธรรมเสมอ ครับ ปลูกอ้อย ผลก็ต้องเป็นอ้อย ปลูกข้าว ก็ต้องเป็นข้าว ทำกรรมดี ก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับกรรมชั่ว แต่กรรมมีระยะเวลาของเขา ครับ

ที่สำคัญ ขณะที่ทำอกุศลกรรม ถูกลงโทษแล้ว ด้วยโทษ คือ ประทุษร้ายใจของตนเอง แม้จะดูมีความสุขในบางครั้งในขณะที่ทำบาป แต่ขณะนั้น สิ่งที่ไม่ดี มี โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้ใจไม่ดี ใจเสีย เน่าในด้วยอกุศลแล้ว เป็นโทษแล้วในขณะนั้น จะกล่าวว่าถูกลงโทษทางใจแล้วก็ได้ และ เมื่อกรรมให้ผลก็ต้องถูกลงโทษทางกาย ได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้น เห็น ไม่ดี ได้ยิน ไม่ดี และเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี มี นรกเป็นต้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดง บาป อกุศล เพื่อให้เห็นโทษ โทษของใคร โทษของอกุศลของตนเอง ไม่ใช่อกุศลของคนอื่น เพราะเราไม่สามารถไปจัดการอกุศลของใครได้ เพราะเป็นแต่เพียงอกุศลที่เป็นธรรมที่เป็นไป ประโยชน์ คือ การขัดเกลากิเลสของตนเอง และเห็นอกุศลของคนอื่น ที่เป็นเครื่องเตือนจิตใจของเรา ว่าเราก็มีอกุศลเช่นนั้น ควรที่จะละอกุศล และเห็นใจคนที่มีอกุศลและทำบาป เพราะเขาจะต้องได้รับทุกข์ โดยไม่เกิดอกุศลซ้อน ที่จะไม่ชอบ อกุศลของคนอื่น ครับ

เมื่อเห็นโทษของอกุศลของตนเอง จึง อบรม สภาพธรรมที่ละกิเลส คือ ปัญญา ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในชาติปัจจุบันนี้ จิตขณะแรกเกิดขึ้นดับไปเป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อมาสืบต่อมาเรื่อยๆ และจิตในขณะนี้ดับไปก็เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อไปสืบต่อไปจนถึงจุติจิต (จิตสุดท้ายในชาตินี้) จุติจิตในชาตินี้ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปสืบต่อเนื่องไปอย่างนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรม และกุศลกรรมที่เรากระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่อไปในจิต เมื่อถึงคราวให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้วไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้นไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น จะอยู่ที่ไหนก็ไม่สามารถรอดพ้นจากการให้ผลของกรรมได้เลย

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกคน ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่เกรงกลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้น ต้องเกรงกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรมด้วย ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลธรรม เท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ปลูกพืชปลูกผักยังต้องใช้เวลาเลย เรื่องของกรรมจะให้ผลก็เหมือนกัน ก็ต้องอาศัยกาลเวลา และ อาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กรรมนั้นก็ให้ผล แม้ไม่สามารถห้ามผลของกรรมได้ แต่เราสามารถทำเหตุที่ดีได้ ด้วยการเจริญกุศลทั้งหลาย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมยุติธรรมเสมอ ครับ

ทำกรรมดี ก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับกรรมชั่ว

แต่กรรมมีระยะเวลาของเขา ครับ

"เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

จะอยู่ที่ไหนก็ไม่สามารถรอดพ้นจากการให้ผลของกรรมได้เลย"

"สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลธรรม เท่านั้น ครับ."

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บริสุทธิ์
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนา แด่ผู้ให้ความรู้อันชัดแจ้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ