ให้อภัยได้ยาก

 
fafira
วันที่  28 มี.ค. 2555
หมายเลข  20880
อ่าน  1,266

ให้อภัยได้ยาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ยังมีอกุศล มีความไม่อภัย ผูกโกรธอยู่เป็นธรรมดา ดังนั้น แม้อยากให้อภัย แต่เพราะกำลังของปัญญา ที่สะสมมาน้อย จึงยังให้อภัยไม่ได้ เพราะกำลังของกิเลสมีมากกว่า ครับ ดังนั้น การให้อภัยทันทีคงเป็นไปไม่ได้ แต่ค่อยๆ คิดถูกทีละน้อย จากการฟังพระธรรม ก็จะค่อยๆ คิดแยบคาย ค่อยๆ คลายความผูกโกรธ อันอาศัยการคิดที่ถูกต้องทีละน้อย อันนี้พอเป็นไปได้ ครับ

ดังนั้นการคิดที่แยบคาย ถูกต้อง เมื่อยังโกรธ ไม่ให้อภัย ผู้อื่น มีดังนี้ครับ

ประการ ที่ ๑ พิจารณาส่วนที่ดีของบุคคลอื่น ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสะสมมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมและก็มีการล่วงเกินทางกายและวาจา ตามกำลังของกิเลสที่แต่ละคนสะสมมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ส่วนที่ดี ก็อาจจะมีบ้าง ดังนั้นควรพิจารณาส่วนที่ดีของเขา แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีการกระทำไม่ดีกับเราก็เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องมีทุกคนรวมทั้งเราด้วย จึงพิจารณาส่วนที่ดีของเขานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ประการที่ ๒ พิจาณาโดยความเป็นญาติกันในสังสารวัฏฏ์ สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมาในสังสาวัฏฏ์ เกิดมาในฐานะต่างๆ กันมากมาย ทั้งเคยเป็นบิดาและมารดาเรามาแล้ว เมื่อเคยเป็นมารดาเรา เคยดูแล อุ้มท้องและให้สิ่งดีๆ กับเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรมีเมตตาและเข้าใจถึงความมีพระคุณของบุคคลนั้น แม้บุคคลนั้นจะทำไม่ดีกับเรา แต่เขาก็เคยมีพระคุณกับเรานั่นเอง ควรเข้าใจและอดทน ในบุคคลที่เคยมีพระคุณ ครับ

ประการที่ ๓ พิจารณาเพราะกรรมไม่ดีในอดีตที่เคยกระทำไว้ ได้รับการกระทำไม่ดีจากคนนั้น หรือ การที่เราได้ยินเสียงที่ไม่ดีจากคนนั้นซึ่งเป็นคนที่เราให้อภัยยังไม่ได้ การได้รับสิ่งที่ไม่ดี ต้องมีเหตุแน่นอนครับว่าต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ไม่ดีที่ได้เคยทำไว้ จึงทำให้ได้รับการกระทำที่ไม่ดีจากคนอื่น เพราะการได้รับการกระทำไม่ดี มีการได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นต้น ในทางธรรมแล้ว เป็นผลของกรรมที่ไม่ดีครับ เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้รับการกระทำที่ไม่ดี

ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ไม่ดีที่เกิดจากรการกระทำของคนอื่น จะมีไม่ได้เลยหากไม่มีการกระทำกรรมไม่ดีของตนเอง เพราะฉะนั้น กระทำกรรมไม่ดีของเราเองในอดีตที่ทำให้กรรมนั้นให้ผล จึงได้รับสิ่งที่ไม่ดี จากใครก็ตามก็แล้วแต่ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครที่ทำให้เรา กรรมต่างหากที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ที่สำคัญ ก็เป็นกรรมของเราเองที่ทำไว้ จะโทษใครได้ นอกจากการที่ทำไม่ดีของเราเองที่ทำไว้ครับ ทุกอย่างจึงมีเหตุที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี แทนที่จะโกรธคนนั้นมากๆ ก็ควรโกรธตนเองที่ทำไม่ดีไว้เองดีกว่า ที่จะโกรธโทษคนอื่นและไม่ให้อภัย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ประการที่ ๔ พิจารณาโดยการที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้นการที่เขาทำกรรมไม่ดี มีกายและวาจาไม่ดี เขาก็ต้องเป็นไปตามกรรมของเขาที่จะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเขาจะต้องได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคต ควรเห็นใจเขาหรือควรจะโกรธเขาครับ เพราะเรามักจะสงสาร เห็นบางบุคคล บางเหตุการณ์ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี บางคนก็ถูกจองจำ เฮลิคอปเตอร์ตก ถูกทรมาน ก็เพราะกรรมไม่ดีให้ผลทั้งนั้น แต่เราก็สงสารตรงที่ผลเกิดแล้ว แต่แพราะเขาทำกรรมไม่ดี ก็จึงทำให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้ ดังนั้น ควรสงสาร เห็นใจตั้งแต่ที่เขาทำอกุศลกรรมในขณะนั้นว่าเขาจะต้องได้รับผลไม่ดีเช่นกันครับ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด คือ เพื่อให้เป็นปัญญาของผู้ถามเองครับ เมื่อได้อ่านธรรม ที่กล่าวมาแล้ว ก็แล้วแต่ว่าจะพิจารณาไตร่ตรองได้มากเท่าไหร่ ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละคน เพียงแต่ว่า ให้เข้าใจว่า กิเลสเกิดขึ้นนั้นเป็นธรรมดา เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็ทำให้โกรธ ไม่ให้อภัยได้อีกครับ แต่ว่าอาศัยการฟังพระธรรม ได้อ่าน พิจารณาธรรมที่ถูกต้อง ก็จะค่อยๆ มีสติไวขึ้น ในการที่จะเห็นโทษของกิเลส และเปลี่ยนจากอกุศล เป็นกุศลได้บ้าง เพราะอาศัยการพิจารณา ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ครับ ยังละไม่ได้ นะครับ แต่ค่อยๆ เข้าใจ และ ละ ไปตามลำดับได้ โดยอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไ ที่สำคัญคือ อย่าละเลย และไม่ละทิ้งการฟังพระธรรมต่อไป ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น ที่สำคัญ ทั้งเขาทั้งเราก็มีส่วนที่ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน ยิ่งถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจ แล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ได้ แทนที่จะโกรธ แทนที่จะไม่พอใจ และควรที่จะพิจารณาว่า การที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นและพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจ เห็นใจ แล้วก็ช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ตามกำลังปัญญาของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เพราะความโกรธ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

กิเลสประการต่างๆ มีความโกรธ เป็นต้น ต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายไปตามลำดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 29 มี.ค. 2555

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 254

ความเป็นผู้ไม่มักโกรธ

[๕๘๗] ดูก่อนมาณพ บุคคลบางตนในโลกนี้ จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ. เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นอันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส. ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ธรรมที่ตรงข้ามกับความโกรธ คือ เมตตา ถ้าอบรมเจริญเมตตาบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ละคลายความเหนียวแน่นของความผูกโกรธได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
fafira
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอบคุณสำหรับแนวทางความเห็นค่ะ ช่วยให้รู้จักกิเลส ขัดเกลากิเลสไปเรื่อยๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
dhanan
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ