บาป 14 ประการของบิดา มารดา

 
lovedhamma
วันที่  30 มี.ค. 2555
หมายเลข  20885
อ่าน  9,316

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง พ่อแม่รังแกฉัน ของท่านหนึ่ง เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับ การที่พ่อแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูก ๑๔ อย่าง เป็นผลให้พ่อแม่บาปได้เช่นกัน อยากทราบความเป็นมาเกี่ยวกับ เหตุ-ผล ของเรื่องนี้หน่อยน่ะครับว่า พ่อ-แม่ ปฏิบัติกับลูกอย่างไร ที่จะเรียกได้ว่า พ่อแม่ก็บาปเช่นกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซึ่งกระผมขอยกข้อความมาบางข้อ สำหรับ เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ของคำสอนของท่านหนึ่ง ว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้างครับ

พ่อแม่บางคน (๑)

ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา

พ่อแม่บางคน (๒)

ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูก กลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการ ลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่

พ่อแม่บางคน (๓)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว


ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า บาป ก่อนครับว่า บาป คือ อะไร โดยมากแล้ว บาปหมายถึง เจตนาในการทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น รวมความคือ การทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ชื่อทำบาป

ซึ่งจากข้อความบางตอนที่กระผมยกมาในคำสอน เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน จะเห็นว่าไม่ได้มีการทำบาปที่เป็นอกุศลกรรมเลย คือ พ่อ แม่ ไม่ได้ฆ่าบุตร ลักทรัพย์ พูดเท็จ พูดหยาบ หรือ ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการต่อลูก แต่เป็นการไม่ได้ทำหน้าที่ของบิดา มารดาที่สมควร ดังเช่น สิงคาลกสูตร เช่น การไม่ห้ามปราบ สั่งสอน ในเมื่อลูกทำชั่ว ทำไม่ดี หรือ ไม่แนะนำสิ่งที่ดีกับบุตร เป็นต้น ซึ่ง หน้าที่ที่สมควร ที่บิดา มารดา ควรมีต่อบุตร ในสิงคาลกสูตร มีดังนี้ ครับ

๑. สอนให้งดเว้นจากการทำความชั่ว

๒. สอนให้ตั้งอยู่ในคุณความดี

๓. ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาศิลปวิทยาแขนงต่างๆ

๔. หาภรรยา (สามี) ที่มีความเหมาะสมให้

๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย (ในเวลาที่สมควร)

แต่ถ้า มารดา บิดา ไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่สมควร คือ ไม่ได้ปกปิดทิศให้เรียบร้อย หรือ ชื่อว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ของบิดา มารดาที่ดี แต่ไม่ได้หมายถึงว่า บิดา มารดา ทำบาป ทำอกุศลกรรม ครับ

ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่าง คำว่า บาป กับ คำว่า ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสมควร ซึ่งเป็นจารีตศีล คือ การประพฤติปฏิบัติที่สมควร ครับ แต่ขณะใดที่ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เช่น ฆ่าบุตร อย่างนี้ พ่อ แม่ ทำบาป ทำอกุศลกรรม บิดามารดา พูดหยาบด้วยอกุศลต่อบุตร เป็นบาป สรุปได้ว่า บิดา มารดา จะเป็นบาปที่ทำกับบุตร คือ บิดา มารดา ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ที่ทำกับบุตร แต่การไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสมควร ในสิงคาลกสูตร หรือ ในคำสอน พ่อแม่รังแกฉัน ๑๔ ประการ ไม่ได้หมายถึง ทำบาป เพราะไม่ได้ทำอกุศลกรรมบถ แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดี ที่ บิดา มารดา ควรทำกับบุตร ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความประพฤติที่ดีงามทั้งหลาย รวมไปถึงหน้าที่ที่จะพึงกระทำต่อกันและกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวในทางพระพุทธศาสนาที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิดอกุศลเลย แม้เพียงเล็กน้อย มีแต่คำสอนที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม จนกระทั่งถึงกุศลขั้นสูงที่เป็นโลกุตตรกุศล สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

มารดา บิดา เป็นบุพการี คือ ผู้ที่กระทำอุปการะแก่บุตรมาก่อน เป็นผู้ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้พร่ำสอนให้บุตรออกจากความชั่ว แล้วให้ตั้งอยู่ในความดี สอนให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้ศึกษาศิลปวิทยา วิชาชีพต่างๆ เพื่อให้บุตรมีความรู้ติดตัวอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการงานประการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของบุตรดำเนินไปด้วยความไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า เป็นต้น นี้คือ หน้าที่ที่สำคัญที่มารดา บิดาจะพึงกระทำต่อบุตรธิดา ขึ้นอยู่กับมารดา บิดาแต่ละคน ว่าจะกระทำหน้าที่นี้ได้สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน และเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมาก มากกว่ากุศลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่มีกำลังถึงขั้นที่ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าผู้อื่น ลักทรัพย์ เป็นต้น เพียงแค่กลุ้มรุมอยู่ภายใน ก็ยังไม่เป็นอกุศลกรรม ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ แต่ถ้าสะสมมากขึ้นๆ เป็นผู้ประมาทกำลังของกิเลส ก็อาจจะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมได้ ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกก็มีแสดงไว้ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง พ่อ แม่ รักลูกมาก ไม่อยากให้ลูกต้องลำบาก ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ ไม่ให้ทำงาน เพราะคิดว่ามีทรัพย์สมบัติมากมายใช้ไม่หมด แต่บุตรเศรษฐีคบเพื่อนไม่ดี เล่นการพนัน ผลาญทรัพย์จนหมด ภายหลังเป็นขอทาน เพื่อนที่ไม่ดีชวนไปเป็นโจร แต่ถูกจับได้และถูกประหารชีวิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผิน
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 3 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 7 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 29 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ