กิจของจิต

 
วิริยะ
วันที่  23 มี.ค. 2555
หมายเลข  20852
อ่าน  4,340

เรียนถาม

จิตที่ทำได้ ๕ กิจ มีอยู่สองดวงคือ สันตีรณกุศลและอกุศลวิบาก กิจนั้นๆ คือ ปฏิสนธิกิจ และที่เหลืออีก ๔ กิจ คืออะไรคะ

มหาวิบากจิต ๘ ดวง ทำกิจได้ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และอีกกิจคืออะไรคะ

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- คำถามแรก กล่าวถึง สันตีรณจิต มีรายละเอียด ดังนี้

สันตีรณจิต ที่กระทำสันตีรณกิจ ก็มี กระทำปฏิสนธิกิจ – ภวังคกิจ – จุติกิจ ก็มี กระทำตทาลัมพนกิจ ก็มี ตามสมควรแก่สันตีรณจิต นั้นๆ

ดังที่สรุปจากหนังสือพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน แปลโดย ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ดังนี้

สันตีรณจิต ๓ ดวง ที่ทำสันตีรณกิจ

๑. สันตีรณอกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

๒. สันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง

๓. สันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๑ ดวง (เมื่อรู้อารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง) สันตีรณจิตซึ่งเป็นอเหตุกวิบากจิต สามารถทำกิจได้มากกว่าหนึ่งกิจ สันตีรณจิตทำสันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารวิถีสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต นอกจากทำสันตีรณกิจแล้ว สันตีรณจิตยังทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจได้ด้วย สันตีรณจิตดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒ (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากและอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก) เท่านั้น ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติได้ สันตีรณจิตทั้ง ๓ ประเภท ทำกิจพิจารณาอารมณ์ (สันตีรณกิจ) ได้ ส่วนโสมนัสสันตีรณจิตกระทำสันตีรณกิจเมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง

เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว วิถีจิตก็ยังเกิดสืบต่อไปอีก อเหตุกวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมอีกดวงหนึ่งที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเรียกว่าสันตีรณจิต สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตทางปัญจทวาร สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด ขณะเห็น จักขุวิญญาณเกิดและดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อแล้วดับไป สันตีรณจิตก็เกิดต่อ เป็นวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ก็เช่นเดียวกัน สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต เราจะเลือกให้สันตีรณจิตเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้

สันตีรณจิตเป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่ออารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ สันตีรณจิตก็เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นมี ๒ ดวง เมื่ออารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดาๆ สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เมื่ออารมณ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ฉะนั้น สันตีรณจิตจึงมี ๓ ดวง สันตีรณจิตดวงไหนจะเกิดขึ้นนั้นย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย

- อีกคำถามหนึ่ง คือ มหาวิบากจิต ๘ ดวง ทำกิจได้ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และอีกกิจหนึ่ง นั้น คือ ตทาลัมพนกิจ เพราะจิตที่กระทำตทาลัมพนกิจ คือ กิจรู้อารมณ์ต่อจากชวนกิจ นั้น ได้แก่ วิบากจิต ๑๑ ดวง คือ สันตีรณจิต ๓ ดวง และ กามาวจรสเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง (คือ มหาวิบาก ๘) ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 23 มี.ค. 2555

กิจของจิต มีทั้งหมด ๑๔ กิจ ตอนนี้เหลืออยู่ ๑ กิจ ที่ยังไม่เกิด คือ จุติกิจ เพราะฉะนั้น เราไม่รู้ว่าจุติกิจ จะเกิดเมื่อไร เวลาไหน ไม่ควรประมาทกุศล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นมีหน้าที่ คือ กิจ จิตทั้งหมดมีกิจ รวม ๑๔ กิจ เช่น จิตขณะแรกของทุกภพชาติ กระทำกิจสืบต่อ (ปฏิสนธิกิจ) จิตต่อมากระทำกิจคือดำรงภพชาติ ดำรงความเป็นบุคคลนั้น (ภวังคกิจ) จิตที่กระทำกิจแล่นไปเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล (ชวนกิจ) เป็นต้น

จิตทั้งหมด ทำหน้าที่ได้ ๑๔ กิจ

๐๑. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่เกิด

๐๒. ภวังคกิจ รักษาดำรงภพชาติ

๐๓. อาวัชชนกิจ กิจที่รำพึงถึงอารมณ์ทั้ง ๖

๐๔. ทัสสนกิจ ทำกิจเห็น เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

๐๕. สวนกิจ ทำกิจได้ยิน เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

๐๖. ฆายนกิจ ทำกิจได้กลิ่น เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

๐๗. สายนกิจ ทำกิจลิ้มรส เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

๐๘. ผุสนกิจ ทำกิจกระทบสัมผัส เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

๐๙. สัมปฏิจฉันนกิจ ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ

๑๐. สันตีรณกิจ ทำกิจพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ทำกิจตัดสินอารมณ์

๑๒. ชวนกิจ ทำกิจเสพอารมณ์

๑๓. ตฑาลัมพนกิจ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

๑๔. จุติกิจ เคลื่อนจากภพ คือมรณะ

และจากคำถาม ที่ว่า

จิตที่ทำได้ ๕ กิจ มีอยู่สองดวงคือ สันตีรณกุศลและอกุศลวิบาก กิจนั้นๆ คือ ปฏิสนธิกิจ และที่เหลืออีก ๔ กิจ คืออะไรคะ

- จิตที่ทำกิจ ๕ อย่าง มี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ปฏิสนธิกิจ ที่เหลืออีก ๔ กิจ คือ ภวังคกิจ จุติกิจ สันตีรณกิจ ตทาลัมพนกิจ

และจากคำถามที่ว่า

มหาวิบากจิต ๘ ดวง ทำกิจได้ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และอีกกิจคืออะไรคะ

- อีกกิจหนึ่ง คือ ตทาลัมพนกิจครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ups
วันที่ 24 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน

แต่ที่ต้องอนุโมทนาเฉพาะที่คุณวรรณี กล่าว ไว้ละครับ

ไม่รู้จุติจิต จะเกิด เมื่อไร ไม่ควรประมาท

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 24 มี.ค. 2555

เรียนถาม

ตทาลัมพนจิต ทำกิจอะไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 24 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ตทาลัมพนจิต เป็นวิบากจิต ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากชวนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
aurasa
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
daris
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

สงสัยมานานแล้วว่าเหตุใด โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ไม่สามารถทำปฏิสนธิกิจได้ครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

สันตีรณจิต มี ๓ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิได้ คือ เกิดในสุคติ มีมนุษย์ พิการตั้งแต่กำเนิดและเทวดาชั้นต้น

๒. อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิได้ คือ เกิดในอบายภูมิ ทั้งหมด ครับ

๓. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเป็นโสมนัสเวทนาแล้ว เป็นเวทนาที่มีกำลัง ย่อมจะทำกิจปฏิสนธิในมหาวิบากที่เป็นกุศลวิบากที่เป็นโสมนัสครับ เพราะโสมนัสเวทนามีกำลังกว่าอุเบกขาเวทนา ดังนั้นเมื่อโสมนัสเวทนาเป็นเวทนาที่มีกำลัง ย่อมไม่คู่ควรกับจิตที่มีกำลังอ่อน ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย ที่เป็น สันตีรณจิต ที่จะทำกิจปฏิสนธิ แต่ย่อมคู่ควร กับ มหาวิบากที่เป็นกุศลที่มีกำลังที่เป็นโสมนัส ที่จะทำกิจปฏิสนธิ ครับ ส่วนอุเบกขาเวทนา เป็นเวทนาที่มีกำลังอ่อนกว่า โสมนัส ย่อมคู่ควรกับ จิตที่เป็นสันตีรณจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุจึงทำกิจปฏิสนธิได้ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

สัมปฏิจฉันนจิต - สันตีรณจิต กับ ปฏิสนธิกิจ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
daris
วันที่ 27 มี.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมสำหรับคำอธิบายครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 18 ส.ค. 2556

ยากจังเลยค่ะ อ่านแล้วเหนื่อยค่ะ

ต้องฟังอีก อ่านอีกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 15 เม.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 4 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ