ภัยที่น่ากลัว คือ ความชั่วที่เราทำ

 
ทรง
วันที่  23 ก.พ. 2555
หมายเลข  20608
อ่าน  3,472

ภัยที่น่ากลัว คือความชั่วที่เราทำ มีใครช่วยกรุณาขยายข้อความให้ชัดเจนได้ไหมครับ ยกตัวอย่างที่อยู่ในพระไตรปิฏกมาด้วย

ขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภัย หรือ ภย คือ สิ่งที่น่ากลัว และ สภาพธรรมที่นำมาซึ่งสิ่งที่น่ากลัว และไม่ปลอดภัย ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยนัยสมมติและปรมัตถ์ ได้ดังนี้ที่มีหลากหลายนัย ครับ

ภัย ความเกิดก็เป็นภัย ความแก่ ความเจ็บและความตาย เป็นภัย เพราะนำมาซึ่งทุกข์ หากไม่มีการเกิดแล้ว ก็ไม่ต้องรับทุกข์อะไรเลย ดังนั้น แม้การเกิดก็เป็นภัยแล้ว เพราะนำมาซึ่งสิ่งที่น่ากลัว มีการได้รับทุกข์ประการต่างๆ ความแก่ก็เป็นทุกข์ เป็นภัยเป็นที่น่ากลัว ความเจ็บ และความตายก็โดยนัยเดียวกัน ครับ

ละจากคำกล่าวที่ผู้ถามให้อธิบายที่ว่า ภัยที่น่ากลัว คือความชั่วที่เราทำ ภัยในที่นี้ก็คือ มุ่งหมายถึง การทำบาป อกุศลกรรม เป็นภัย ที่น่ากลัว เป็นภัย เพราะนำมาซึ่งสิ่งน่ากลัว มีการเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น ครับ เพราะมีการทำบาป ซึ่งในพระไตรปิฎกก็แสดง ถึงผู้ที่ทำภัยเวร ๕ ประการ คือการกระทำอกุศลกรรม คือการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย การทำความชั่ว ๕ ประการเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีภัยเวร เป็นภัยที่น่ากลัว เพราะเป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ประการต่างๆ มีการตกนรก เป็นต้น ครับ

ดังนั้น การทำความชั่วจึงเป็นภัยที่น่ากลัว เพราะนำมาซึ่งความทุกข์ประการต่างๆ ที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นภัย ครับ และเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ให้ลึกลงไปอีกครับว่า ภัย คืออะไร ภัย ที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว และนำมาซึ่งความน่ากลัว หากไม่มีกิเลสแล้ว จะมีการกระทำอกุศลกรรม หรือ ทำความชั่วได้หรือไม่ ไม่ได้เลยครับ เพราะฉะนั้น กิเลส เป็นภัยที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุที่แท้จริง ที่จะต้องได้รับทุกข์ประการต่างๆ เพราะเมื่อมีกิเลสก็มีการกระทำกรรมชั่ว ทำให้ต้องตกนรกได้ เพราะมีกิเลสนั่นเองที่เป็นภัยครับ

ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ภัยที่น่ากลัว ไม่รู้เลยในขณะนี้ คือ ภัย คือ ความไม่รู้ ที่เป็นอวิชชา ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนี้มีความไม่รู้อยู่ ก็ไม่รู้ว่าเป็นภัย เพราะมีอวิชชา จึงมีการทำบาป อกุศลประการต่างๆ และเมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ทำให้เกิดตายอยู่ร่ำไป นำมาซึ่ง ความเกิด แก่ เจ็บ ตายที่เป็นภัย ครับ

สภาพธรรมที่เกิดดับก็เป็นภัย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ขณะนี้ก็มีภัย คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ขณะที่เกิดขึ้น เป็นภัยแล้ว เพราะจะนำมาซึ่งสภาพธรรมต่างๆ เพราะยังจะต้องมีสภาพธรรมที่เกิดดับ วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้วนเวียนไปที่จะต้องได้รับทุกข์ประการต่างๆ เพราะมีการสืบต่อของสภาพธรรมที่เกิดดับ ดังนั้น แม้สภาพธรรมที่มีในขณะนี้ แม้ยังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย ก็เป็นภัยที่น่ากลัวแล้ว ซึ่งจะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้ ก็ต้องด้วยปัญญาระดับสูง ครับ

ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงการทำความชั่วเป็นภัย พระพุทธองค์ยังแสดงแม้แต่การกระทำกุศลกรรม ก็เป็นภัย อีกเช่นกัน เพราะนำมาซึ่งการเกิด นำมาซึ่งการจะต้องได้รับทุกข์ประการต่างๆ เพราะมีการเกิด อันมีการกระทำกุศลกรรม เป็นปัจจัยครับ ซึ่งการจะพ้นภัยที่น่ากลัวประการต่างๆ ก็ต้องละเหตุให้เกิดภัย คือ กิเลสและอวิชชาที่สะสม เมื่อไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีการกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม จึงไม่มีการเกิด ไม่ต้องรับทุกข์ประการต่างๆ ที่เป็นภัย เลย ครับ ซึ่งก็ต้องด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะค่อยๆ ละภัยประการต่างๆ ที่เป็นกิเลสไปทีละน้อย จนดับภัยที่แท้จริงคือกิเลสได้ทั้งหมด ก็หมดภัย ไม่มีภัยอีกเลย ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [ภัยภายใน ... ตอนที่ ๑]

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [เห็นเป็นภัยหรือเปล่า ... ตอนที่ ๒]

ภัยเวรที่แท้จริงคืออะไร [ผู้ไม่เห็นภัยจึงก่อเวร ... ตอนที่ ๓ จบ]

และจากที่ผู้ถามให้ยกข้อความในพระไตรปิฎกในเรื่อง ภัย

เชิญอ่านข้อความในพระไตรปิฎกในเรื่อง ภัย โดยนัยต่างๆ ได้ในความคิดเห็นที่ 2 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2555

ภัย คือ อกุศล กิเลส หรือ ความชั่ว

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 284

บรรดาภัยและสิ่งที่น่ากลัวทั้ง ๒ อย่างนั้น ภัย พึงทราบว่าเป็นอกุศล เพราะมีความหมายว่า มีโทษ สิ่งที่น่ากลัว พึงทราบว่าเป็นอกุศลเพราะมีความหมายว่าไม่ปลอดภัย.

ภัย คือ การทำอกุศลรรม หรือ ทำความชั่ว

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 370

ข้อความตอนหนึ่งจาก ... เวรสูตร (ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ)

[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี อุบาสก ไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย

ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน? คือ การฆ่าสัตว การลักทรัพย การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อนคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่า เป็นผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึงนรกด้วย.

ภัย คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 287

ในคำว่า สเวโค จ สเวชนีเยสุ าเนสุ นี้ ที่ชื่อว่า สังเวคะ ได้แก่ ญาณทัศนะ โดยการเห็นความเกิดเป็นต้นโดยเป็นภัย อย่างนี้ว่า ชาติภัย (ความเกิดเป็นภัย) ชราภัย (ความแก่เป็นภัย) พยาธิภัย (ความเจ็บเป็นภัย) มรณภัย (ความตายเป็นภัย) .

ภัย คือ เจตนาในการทำกุศลกรรม และ อกุศกรรม

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 59

ก็เพราะประมวลกุศลกรรมและอกุศลกรรม ภัยในภพทั้ง ๓ ซึ่งมีกุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นต้นมูล จึงมาพร้อมกันทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ การประมวลมาในมโนสัญเจตนาหารนั่นแล พึงทราบว่าเป็นภัย. ส่วนปฏิสนธิวิญญาณ ตกไปในที่ใดๆ ก็ย่อมถือเอาปฏิสนธินามรูปไปเกิดในที่นั้นๆ . เมื่อปฏิสนธินามรูปเกิดแล้ว ภัยทุกอย่างก็ย่อมเกิดตามมาด้วย เพราะมีปฏิสนธินามรูปนั้นเป็นมูล ด้วยประการฉะนี้

เพราะเหตุนี้ ความตกไปในวิญญาณาหาร นั่นแล พึงทราบว่าเป็นภัย ดังพรรณามาฉะนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีกิเลส ย่อมมีการเกิดอยู่ร่ำไป สังสารวัฏฏ์ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น การที่แต่ละบุคคลจะประสบกับภัย (สิ่งที่น่ากลัว) ประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น นั้น ก็สืบเนื่องมาจากความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ที่ได้เคยกระทำอกุศลกรรมมาอย่างมากมาย เมื่ออกุศลกรรมถึงคราวที่จะให้ผล จึงทำให้ประสบภัยต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง แต่ ... ภัยต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ภัยที่น่ากลัวอย่างแท้จริง เพราะ ภัยที่น่ากลัวและควรที่จะเห็นโทษเป็นอย่างยิ่งนั้น คือ กิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้หมู่สัตว์ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ

นอกจากนั้นยังหมายรวมถึงกิเลสประการอื่นๆ ด้วย เช่นอหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อิสสา (ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) มานะ (ความสำคัญตน) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นต้น กิเลสเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล ไม่ผ่องใส และเป็นเครื่องผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ที่มีการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า ก็คือ กิเลส นี้เอง

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่เห็นกิเลสที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งไม่เห็นโทษเห็นภัย นั่นย่อมหมายความว่าไม่สามารถดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้

ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดในชีวิต คือความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องป้องกันภัย คือ กิเลส และสามารถที่จะดับกิเลสได้ในที่สุด ไม่ต้องมีการเกิดมาประสบกับภัยต่างๆ อีกเลย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jans
วันที่ 25 ก.พ. 2555

"ประโยชน์สูงสุดในชีวิต คือความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องป้องกันภัยคือกิเลส"

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทรง
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 มี.ค. 2559

ผู้เห็นภัยในตน ที่จะเป็นเหตุให้วนเวียนในวัฎฎะ จึงสนใจศึกษาพระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ด้วยความเคารพ เพื่อความเข้าใจ และน้อมประพฤติตาม

ขออนุโมทนาขอบพระคุณในกุศลจิต ด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jirat wen
วันที่ 26 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ