คำว่า พุทธพจน์ พุทธวจนะ

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  23 ก.พ. 2555
หมายเลข  20611
อ่าน  8,947

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบเท้าอาจารย์ทุกท่านที่เคารพอย่างสูง

ขอเรียนสอบถามศัพท์ครับ โดยมักจะเห็นคำสองคำนี้ คือ "พุทธพจน์" และ "พุทธวจนะ" พออ่านต่อก็มีเนื้อความประมาณว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ บางทีตรัสกับคนนั้นนี้โน้น เป็นเรื่องราว นิทาน (เรื่องราวที่เกิดมีมาในอดีต) ดังนั้น ก็ความเหมือนระบุใน "พระสุตตันตปิฎก" ใช่หรือไม่ครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ขอกุศลจิตที่มีในทาน ศีล ภาวนา ... (บ้าง) ของข้าพเจ้า ส่งผลให้อาจารย์ทุกท่านมีความสุขมากๆ นะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธพจน์ กับ พุทธวจนะ มีความหมายเหมือนกัน หมายถึง พระดำรัส (คำพูด) ของพระพุทธเจ้า เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมดตลอด ๔๕ พรรษา เป็นพระพุทธพจน์ ซึ่งเมื่อรวบรวมประมวลแล้วก็อยู่ในพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เมื่อกล่าวให้ย่อที่สุดแล้วเป็นพระธรรมวินัย ส่วนพระธรรมเทศนาที่แสดงถึงอดีตประวัติของพระองค์และพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในอดีต อยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า (พระพุทธพจน์) เป็นพระธรรมคำสอนที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขย แสนกัปป์ ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก และเป็นการที่ยากมากกับที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เพราะฉะนั้น การได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ที่สืบทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต และจะต้องเป็นผู้สะสมศรัทธาเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมมาแล้ว จึงมีโอกาสได้ฟัง ได้สะสมปัญญาต่อไป พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังและน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป พร้อมทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด สิ้นทุกข์ในวัฏฏะ ด้วย แต่จะไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษา หรือ ศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง เช่นศึกษาเพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ เป็นต้น เพราะ พระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อละกิเลสไม่ใช่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลส พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อสร่างจากความเมา คือ กิเลสประการต่างๆ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดจึงต้องเริ่มสะสมปัญญา จากการฟังการศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวันตั้งแต่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า ในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรที่จะมีค่าเท่ากับการได้เข้าใจพระธรรมจริงๆ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระพุทธพจน์ [พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระไตรปิฎก ก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ เมื่อเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธวจนะ พุทธพจน์ เป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนหมู่สัตว์นั่นเองครับ ซึ่ง จะขออธิบาย ดังนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ก็รวมทั้ง พระวินัย พระสูตร หรือ พระสุตตัตปิฎก และ พระอภิธรรม ด้วยครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ประกอบด้วย

๑. พระวินัยปิฏก

๒. พระสุตตันตปิฏก

๓. พระอภิธรรมปิฏก

พระวินัยปิฏก

เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่

พระสุตตันตปิฏก

เกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

พระอภิธรรมปิฏก

เกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง โดยไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะ แสดงแต่สภาพธรรมตามความเป็นจริง

คำว่า ธรรมวินัย

โดยมาก หากไม่เป็นผู้ศึกษาโดยละเอียด ย่อมสำคัญผิดว่า ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า หรือ คำสอนของพระพุทธเจ้า มุ่งหมายถึง เฉพาะ พระวินัยและพระสูตร (พระสุตตันตปิฎก) เท่านั้น ไม่รวมพระอภิธรรมด้วย โดยอ้างว่า ธรรมวินัย วินัย คือ พระวินัย ส่วน คำว่า ธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก แต่ในความเป็นจริง คำว่า ธรรมวินัย หมายรวมถึง พระอภิธรรมด้วย เพราะคำว่า ธรรม หมายถึง พระสูตรและพระอภิธรรม หากไม่มีพระอภิธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงแล้ว คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ก็จะไม่มีเรื่องราว ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีพระสูตรที่เป็นเรื่องราวที่แสดงถึง บุคคลต่างๆ สถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับบุคคลเหล่านั้น และจะไม่มีพระวินัย ที่บัญญัติสิกขาบทข้อห้ามกับพระภิกษุ แต่เพราะมี พระอภิธรรม มีสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีจิต เจตสิก รูปและนิพพาน เหล่านี้ จึงสามารถบัญญัติว่าเป็น สัตว์ บุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ ได้ครับ

ดังนั้น คำว่า ธรรม ในคำว่า ธรรมวินัย ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะให้รู้ได้ ที่เป็นอภิธรรม ครับ

ดังนั้น พระพุทธพจน์ พระพุทธวัจนะ ที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็รวมทั้งพระอภิธรรมด้วย พระสุตตันตปิฎกด้วยและพระวินัยด้วยครับ

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า การจะตัดสินว่า ธรรมใดเป็น พระธรรมคำสั่งสอนของเราหรือไม่ ให้พิจารณาในคำสอนนั้นว่า คำสอนใดเป็นไปเพื่อ เบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากกิเลส ละกิเลส เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา และเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา คำสอนนั้นเป็น คำสอนของเรา แต่ธรรมใดไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อละกิเลส แต่เป็นไปเพื่อได้ เพื่อติดข้อง ไม่รู้และไม่ทำให้เจริญขึ้นในกุศลและปัญญา คำสอนนั้นไม่ใช่ คำสอนของเรา ที่เ่ป็นพุทธพจน์ พุทธวัจนะ ครับ

ซึ่ง พระสุตตันตปิฎก เป็นคำสอนที่แสดงถึงเรื่องราวที่แสดงกับบุคล แต่เป็นเรื่องราวที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้ผู้ฟังเกิดกุศลและเกิดปัญญา และละคลายกิเลส ดังนั้น พระสุตตันตปิฎก จึงเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธวัจนะ พุทธพจน์ครับ

ส่วนพระอภิธรรม ก็แสดงเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา อันเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ ความไม่รู้ และเจริญขึ้นของปัญญา

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดังนี้ พระอภิธรรมก็เป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดว่า คำสอนใดเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส มีความไม่รู้และเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา เป็นคำสอนของเรา ดังนั้นการศึกษาธรรมจึงต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบในการศึกษาพระธรรม จึงจะได้สาระจากพระธรรม คือ ความเห็นถูก และ ละคลายกิเลส ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jaturong
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 25 ก.พ. 2555
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 5 เม.ย. 2555

* * * ------------------------- * * *

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงครับ

ขออนุโมทนากุศลที่เจริญแล้วของทุกท่านด้วยครับ

* * * ----------------------------------------------- * * *

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ