สิ่งที่มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์

 
dets25226
วันที่  3 ม.ค. 2555
หมายเลข  20294
อ่าน  2,620

เช่นเดียวกับธรรมะ ถ้าไม่รู้จักใช้

เปรียบด้วยอลคัททูปมาปริยัติ - ปริยัติเปรียบด้วยงูพิษ

ภิกษุ ท.! โมฆบุรุษบางพวกในกรณีนี้ เล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) พวกโมฆบุรุษ เหล่านั้น ครั้นเล่าเรียน ธรรมนั้นๆ แล้ว ไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา. เมื่อไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความด้วยปัญญา ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็เลยเป็นธรรมที่โมฆบุรุษเหล่านั้นถือเอาไม่ดี เป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นตลอดกาลนาน. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะ ความที่ธรรมทั้ง หลายอันโมฆบุรุษเหล่านั้นถือเอาไม่ดีเป็นเหตุ.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการใคร่จะได้งู เที่ยวเสาะแสวง งูอยู่, บุรุษนั้น ครั้นเห็นงูตัวใหญ่ก็เข้าจับงูนั้นที่ตัวหรือที่หาง, อสรพิษตัวนั้น ก็จะพึงกลับฉกเอามือหรือ แขนหรืออวัยวะแห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น; บุรุษนั้น ก็จะตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย เพราะการฉกเอาของ อสรพิษนั้นเป็นเหตุ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความที่บุรุษนั้น จับงูไม่ดี (คือไม่ถูกวิธี) เป็นเหตุ, ข้อนี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท.! โมฆบุรุษบางพวกในกรณีนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน, เขา เล่าเรียนปริยัติธรรม (นานา ชนิด) คือ สุตตะ ฯลฯ เวทัลละ, พวกโมฆบุรุษเหล่านั้น ครั้นเล่าเรียนธรรมนั้นๆ แล้ว ไม่สอดส่องใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา เมื่อไม่สอดส่องใคร่ครวญ เนื้อความด้วยปัญญา ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่ทนต่อการเพ่งพิสูจน์ของโมฆบุรุษเหล่านั้น ; โมฆบุรุษเหล่านั้น เล่าเรียน ธรรมด้วยการเพ่งหาข้อบกพร่อง (ของธรรมหรือ ของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง) และมีความ คิดที่จะใช้เป็นเครื่องทำลายลัทธิใดลัทธิหนึ่งเป็น อานิสงส์. ผู้รู้ทั้งหลาย เล่าเรียน ปริยัติธรรม เพื่อคุณประโยชน์อันใด, โมฆบุรุษเหล่านั้น หาได้รับคุณประโยชน์ อันนั้นแห่งธรรมไม่; ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็เลยเป็นธรรมที่โมฆบุรุษเหล่านั้น ถือเอาไม่ดี เป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้น ตลอดกาลนาน. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความที่ธรรมทั้งหลาย อันโมฆบุรุษ เหล่านั้นถือเอาไม่ดีเป็นเหตุ แลฯ

หมายเหตุ.- เป็นพุทธวจนะ แต่ผู้รู้แปลถอดความ ตามที่เห็นว่าจะเข้าใจได้ง่ายฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม เป็นสิ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา จึงเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง บัณฑิตเท่านั้นที่จะรู้ได้ และ รู้ได้ด้วยปัญญา ความเห็นถูกในพระธรรม เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรม จึงต้องเป็นผู้ละเอียดในการศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองด้วยปัญญา เพราะมิฉะนั้น ก็ย่อมเป็นโทษกับผู้ที่ศึกษานั่นเอง เพราะศึกษาไม่ดี ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการแสดงธรรมของพระองค์ ก็ทำให้เข้าใจผิด ไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม แต่ได้รับโทษจากการศึกษาพระธรรมครับ พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระสูตร ที่ว่าด้วย การศึกษาธรรม ว่า มี ๒ อย่าง คือ ศึกษา แล้วได้รับประโยชน์ และ ศึกษาแล้วได้รับโทษ พระองค์ทรงอุปมา เปรียบเหมือน ผู้ที่ แสวงหางูพิษ จับงูพิษที่หาง (ความจริงที่ถูก ต้องคือ ใช้ไม้และกดที่หัว) เมื่อจับที่ ไม่ดี งูก็กัดที่ร่างกาย ที่มือเขา เขาก็ย่อมเป็นทุกข์มากมาย ฉันใด การศึกษาธรรมที่ ไม่ดี เพราะไม่เข้าใจธรรม ไม่ไตร่ตรองด้วยปัญญา ย่อมเข้าใจผิดในธรรม ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ คือ การขัดเลากิเลส แต่กลับเพิ่มกิเลส คือ เพื่อความรู้มาก เพื่อลาภ สักการะ เพื่อความแข่งดี เพื่อเปลื้องคำพูดของคนอื่น หรือ ต้องการข่มผู้อื่น สรุป คือ เพื่อตัวเรา เพื่อตัวตน อันเป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลส ไม่ใช่เพื่อละกิเลสครับ

ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า หากศึกษาพระธรรม ด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อ ลาภ สักการะ เพื่อชนทั้งหลาย รู้จักเรา การนอนหลับเสีย ประเสริฐกว่า การศึกษาอย่างนั้น เพราะเหตุไร เพราะการศึกษาอย่างนั้น เพิ่มแต่โทษ คือ กิเลสมากมาย แต่การนอนหลับ ขณะนั้น เป็นภวังคจิต ไม่เป็นอกุศลในขณะนั้นครับ

ส่วนผู้ที่ศึกษาพระธรรมถูกต้อง เปรียบเหมือนการจับงูพิษถูกต้อง คือ ใช้ไม้กดที่หัว เขาย่อมจับงูพิษได้ และไม่โดนกัด ฉันใด ผู้ที่ศึกษาธรรม ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง โดยพิจารณาธรรม ไตร่ตรองด้วยปัญญาจนเกิดความเห็นถูก ก็ย่อมเป็นไปเพื่อสละ ละคลายกิเลส ไม่เป็นไปเพื่ออยากรู้มาก เพื่อลาภ สักการะ เพื่อความแข่งดี เพื่อข่มผู้อื่น แต่ศึกษาพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพื่อละความไม่รู้ และความเห็นผิดที่สะสมมามาก เมื่อเข้าใจดังนี้และศึกษาธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ละคลาย ความไม่รู้ และขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน และศึกษาพระธรรม เพื่อสละ ละคลายกิเลสของตนเองเป็นสำคัญครับ

พระธรรมเป็นสิ่งที่ดี ประเสริฐ แต่ผู้ที่ศึกษาไม่ดี ก็มีโทษมหันต์ เพราะเพิ่มโทษ คือ กิเลสมากขึ้น แต่ผู้ที่ศึกษาดีแล้วก็มีคุณมาก เพราะเป็นไปเพื่อละสิ่งที่ไม่มีคุณ มีโทษ คือ กิเลสประการต่างๆ นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกในเรื่องนี้ครับ

ผู้ไม่ไตร่ตรองธรรมด้วยปัญญา [อลคัททูปมสูตร]

หลักในการศึกษาที่ถูกต้อง [อลคัททูปมสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dets25226
วันที่ 3 ม.ค. 2555

..ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ในการศึกษาธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ และเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าศึกษาอย่างนี้ มีแต่คุณอนันต์ อย่างเดียว ไม่มีโทษใดๆ เลย

ถ้าหากตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษาธรรม คือ ศึกษาเพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มมานะ (ความสำคัญตน) ศึกษาเพื่อเก่ง เพื่อรู้มากๆ แล้วนำไปข่มบุคคลอื่น การศึกษาธรรมแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่จะทำให้เกิดโทษอย่างมากทีเดียว และบุคคลผู้ศึกษาธรรมแบบนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นโมฆบุรุษ คือ บุรุษผู้ว่างเปล่า เป็นบุคคลผู้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาพระธรรมเลย ซึ่งเปรียบเหมือนกับการจับงูพิษข้างหาง ซึ่งเป็นการจับที่ไม่ดี มีแต่จะแว้งกัดตนเอง ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานหรืออาจถึงกับสิ้นชีวิตได้ ในความเป็นจริง สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น กิเลสย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ และเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล

แต่การที่กิเลสจะค่อยๆ เบาบางลง จนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับได้เด็ดขาดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด ฟังธรรม ศึกษาธรรมวันนี้แล้วจะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปเลยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตามลำดับขั้น ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา

กิเลส เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา กิเลสที่มีมาก ถ้าหากว่าไม่ได้อาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะดับได้ เมื่อยังละไม่ได้ สำหรับผู้ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ย่อมรู้ถึงความเป็นอกุศลธรรม ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลธรรมว่าให้ผลเป็นทุกข์ และที่สำคัญ กิเลสอกุศลจะค่อยๆ เบาบางลง และกุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ดังนั้น จึงต้องฟัง ต้องศึกษาพระธรรมต่อไป ด้วยความอดทนไม่ท้อถอย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 3 ม.ค. 2555

การศึกษาธรรมะ จุดประสงค์อย่างเดียว คือ เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อออกจากคุก คือสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 5 ม.ค. 2555
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ