หลักการสำคัญของการศึกษาพระไตรปิฎก_พระอภิธรรม

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  3 ม.ค. 2555
หมายเลข  20297
อ่าน  2,504

คำบรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในปกิณณกธรรม ตอนที่ ๖๐๗ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕

เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมนะคะ ดิฉันเองก็ได้มีโอกาสศึกษาตั้งแต่ครั้งนั้น แล้วก็เห็นคุณประโยชน์มากในการที่ได้ศึกษาธรรมะ เพราะเหตุว่าได้เข้าใจธรรมะจริงๆ และการศึกษานี่นะคะ ดิฉันก็จะศึกษาจากท่านอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นท่านก็เป็นผู้นำในการศึกษาพระอภิธรรม แต่เมื่อศึกษาแล้วนะคะ ทุกท่านไม่ว่าในสมัยโน้น สมัยนี้ หรือสมัยต่อไป ก็ต้องเป็นผู้พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ประกอบกับการศึกษาโดยละเอียดยิ่งขึ้น

ดิฉันเคยกล่าว ไม่ทราบว่าจะมีข้อความนี้ออกอากาศทางวิทยุหรือยังนะคะว่า รุ่นของดิฉันนี้เป็นรุ่นบุกเบิก หมายความว่าตัวดิฉันเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในครั้งนั้น ซึ่งตอนนี้ ท่านที่เรียนร่วมกันท่านก็จากโลกนี้ไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น รุ่นบุกเบิกก็จะเป็นรุ่นที่แนะนำเรื่องของปรมัตถธรรมโดยละเอียด เท่าที่ดิฉันจะกระทำได้ หมายความว่าทั้งศึกษาจากอาจารย์ด้วยและก็ศึกษาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา และก็พิจารณาเหตุผลนะคะ จนกระทั่งที่จะเข้าใจความสอดคล้องของธรรมะจึงได้บรรยาย ไม่ใช่ว่าเมื่อดิฉันยังคงสงสัยไม่แน่ใจแล้วก็กล่าวไปทั้งๆ ที่ยังสงสัยหรือไม่แน่ใจ แต่ว่าเมื่อดิฉันไม่มีความรู้ภาษาบาลี ดิฉันก็ได้กราบเรียนถามพระคุณเจ้าที่มหามกุฏราชวิทยาลัยทุกวันพุธ ถึงข้อความที่เป็นภาษาบาลีที่จะต้องกล่าว หรือจะต้องอธิบายหรือจะต้องอ้างถึงในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎกตลอดมานะคะ

ด้วยการที่เห็นพระคุณว่าพระธรรมเป็นสิ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขย แสนกัป คิดว่านี้น้อยนะคะ แต่ความจริงมากมายมหาศาลค่ะ เพียงคำว่า ๔ อสงไขย แสนกัป ถ้าเราจะคิดเป็นกัปๆ จากวันๆ ไป แต่ว่าผู้ที่บำเพ็ญด้วยศรัทธาต้องมากกว่า ๔ อสงไขย แสนกัป ถึง ๘ อสงไขย แสนกัป ถ้าผู้ที่บำเพ็ญด้วยวิริยะนะคะ ก็ต้องถึง ๑๖ อสงไขย แสนกัป แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขย แสนกัป ไม่นับที่พระองค์ทรงตั้งความปราถนาและทรงเอ่ยกล่าวเป็นวาจา เพราะฉะนั้น พระธรรมมีคุณค่ามหาศาลค่ะ ซึ่งทุกคนต้องศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยการที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบนะคะ แล้วก็จะต้องพิจารณาประกอบกับสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา ใครที่จะศึกษาต่อไป ก็จะต้องพิจารณาอย่างนี้ คือ ด้วยความรอบคอบ ด้วยความสอดคล้อง หรือว่าข้อความใดก็ตามที่ได้ฟังจากคำบรรยายทางวิทยุของท่านผู้หนึ่งผู้ใด ก็ควรที่จะได้นำข้อความนั้นมาค้นให้ละเอียด เพื่อที่จะได้รู้ว่าความจริงที่มีในพระไตรปิฎกมีอย่างไร เราจะเข้าใจผิวเผินไปหรือไม่เข้าใจส่วนละเอียดนะคะ เราก็พยายามจะค้นคว้าโดยละเอียด

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียนจากใคร จากที่ไหน อย่างไร ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยของผู้นั้น ถ้าผู้นั้นไม่สนใจพระอภิธรรม จะฟังแต่พระสูตร อ่าน หรือ ว่าจะเรียนด้วยตนเอง เค้าจะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกได้ไหม เพราะว่าสามารถที่จะเรียนด้วยตนเองได้ทุกคนไม่ต้องฟังอะไรเลย อ่านพระไตรปิฎกทุกคนอยู่กับบ้าน ใช่ไหมคะ ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องสนทนาธรรม ไม่ต้องปรึกษาหารือ และก็เข้าใจว่าที่ตนเองอ่านเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่ถูก แต่ว่าหากได้มีการพบปะและก็สนทนากัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งที่อาจจะเข้าใจว่าถูกก็จะได้รู้ว่าความจริงนั้นคืออย่างไร

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะนี้นะคะ ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจที่ว่า เราต้องการที่จะเข้าใจความจริงในพระพุทธศาสนา เราก็จะฟังที่ไหนก็ได้ แต่ว่าฟังแล้วต้องคิด แล้วก็พิจารณา แล้วก็ต้องสอบถาม จะสอบถามๆ หลายๆ ท่านยิ่งดี เพื่อที่จะนำคำตอบของแต่ละท่านมาพิจารณาว่า คำตอบใดตรงเหตุผลและตามสภาพธรรมะที่มีจริง แล้วก็ตรงตามข้อความในพระไตรปิฎก

กราบเท้าบูชาในเมตตาของท่านอาจารย์สุจินต์

และขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่มีโอกาสได้ฟังคำสอนของท่านอาจารย์ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากข้อความที่ได้อ่าน ที่คุณผู้ร่วมเดินทางนำมานั้น แสดงให้เห็นถึง ความละเอียดในการศึกษาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งท่านกล่าวว่าท่านเป็นรุ่นแรก รุ่นบุกเบิก แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ต้องตรวจสอบข้อความในพระธรรมก่อนที่จะแสดงให้ผู้อื่น ก็ต้องตรวจสอบจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา และ บาลีต่างๆ เพื่อให้ได้ความละเอียด และแม้ปัจจุบัน ท่านอาจารย์สุจินต์ เมื่อได้ยินข้อความใด ที่มีผู้อื่นกล่าว หรือได้อ่าน ท่านก็จะตรวจสอบ สอบถาม ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ให้อาจารย์คำปั่น ตรวจสอบ บาลีในคำนั้นว่าหมายถึงอะไร มีอรรถว่ากระไร และตัวท่านเอง ก็พิจารณาด้วยปัญญา สามารถอธิบายได้ตรงตามคำนั้นและได้อรรถที่ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุด ตรงตามสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ นี่แสดงถึง ความเป็นผู้เคารพธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเป็นผู้ตรงและแสดงสิ่งที่เป็นสัจจะ และเคารพในพระธรรมด้วยการศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่ยากลึกซึ้งครับ และท่านอาจารย์ก็แสดงว่า การได้ยินผู้อื่นกล่าวพระธรรมที่ถูกต้อง ไม่ว่าใครก็สมควรฟังเพราะเป็นพระธรรมที่ถูกต้อง คือ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นครับ

ก็ขอขอบพระคุณที่คุณ ผู้ร่วมเดินทาง ที่นำข้อความนี้ ให้เป็นแนวทางในการศึกษาธรรม โดยเฉพาะการศึกษาพระอภิธรรม นั่นคือ ให้เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์และคุณผู้ร่วมเดินทางและทุกๆ ท่านครับ

เรื่อง ผู้ใดกล่าวธรรม ก็ล้วนแล้วแต่กล่าวคำของพระพุทธเจ้า จึงควรเคารพธรรมที่ถูกต้องไม่ว่าใครแสดง

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 318

ท้าวสักกะ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเองหรือเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านพระอุตตระ ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจะทำข้ออุปมาให้มหาบพิตรทรงสดับ ซึ่งวิญญูชนบางพวกจะรู้เนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยข้ออุปมา ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคมนัก ชนหมู่มากขนข้าวเปลือกออกจากกองนั้นด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตะกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง ด้วยกอบมือบ้าง ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถามชนหมู่ใหญ่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขนข้าวเปลือกนี้มาจากไหน ดูก่อนมหาบพิตร มหาชนนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้อย่างนี้ถูกต้อง.

ส.   ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาชนนั้นพึงตอบให้ถูกต้องได้อย่างนี้ว่า พวกเราขนมาจากกองข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น.

อุ.   ดูก่อนมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมดล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพจึงชักเอาข้าวเปลือกมาถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิตอันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ขอถวายพระพร.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 3 ม.ค. 2555

คำสอนใดก็ตามที่ทำให้ละอกุศล ละความเห็นผิด ทำให้ออกจากวัฏฏะ ทำให้พ้นทุกข์ คำสอนนั้น คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำจริง เป็นวาจาสัจจ์ ที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย บุคคลผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา ด้วยความนอบน้อม เห็นคุณค่าและพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจถูกต้อง ด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง ถึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นแบบอย่างที่ดีอย่างยิ่งในการเคารพพระธรรมด้วยการศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่เริ่มศึกษาพระธรรม พ.ศ. ๒๔๙๖ และเผยแพร่พระธรรม พ.ศ. ๒๔๙๙ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นี้ ท่านอาจารย์ไม่เคยว่างเว้นจากการฟัง การสนทนา การอ่าน การศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา เลย ดังข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ (ข้างต้น) ว่า

- พระธรรมมีคุณค่ามหาศาลค่ะ ซึ่งทุกคนต้องศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยการที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบนะคะ แล้วก็จะต้องพิจารณาประกอบกับสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ

- การศึกษาธรรมะนี้นะคะ ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจที่ว่า เราต้องการที่จะเข้าใจความจริงในพระพุทธศาสนา เราก็จะฟังที่ไหนก็ได้ แต่ว่าฟังแล้วต้องคิดแล้วก็พิจารณา แล้วก็ต้องสอบถาม จะสอบถามๆ หลายๆ ท่านยิ่งดี เพื่อที่จะนำคำตอบของแต่ละท่านมาพิจารณาว่า คำตอบใดตรงเหตุผลและตามสภาพธรรมะที่มีจริง แล้วก็ตรงตามข้อความในพระไตรปิฎก

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่่างยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผู้ร่วมเดินทางและ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 3 ม.ค. 2555

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 3 ม.ค. 2555

"... เพราะฉะนั้นพระธรรมมีคุณค่ามหาศาลค่ะ ซึ่งทุกคนต้องศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยการที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ นะคะ แล้วก็จะต้องพิจารณาประกอบกับสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ..."

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เราก็จะฟังที่ไหนก็ได้ แต่ว่าฟังแล้วต้องคิดแล้วก็พิจารณา แล้วก็ต้องสอบถาม จะสอบถามๆ หลายๆ ท่านยิ่งดี เพื่อที่จะนำคำตอบของแต่ละท่านมาพิจารณาว่า คำตอบใดตรงเหตุผลและตามสภาพธรรมะที่มีจริง แล้วก็ตรงตามข้อความในพระไตรปิฎก

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผู้ร่วมเดินทาง และของทุกๆ ท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ