สมาธิทุกขั้น ใช้เป็นบาทฐานในการเข้าวิมุตติได้ทั้งหมด

 
dets25226
วันที่  4 ม.ค. 2555
หมายเลข  20304
อ่าน  2,530

ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง; เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง; เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง; เพราะอาศัยอากาสานัญจาตนะบ้าง; เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนะบ้าง; เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง; เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นเราเข้าใจ คำว่า เป็นบาทของวิปัสสนาให้ถูกต้องก่อนครับ คำว่า เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้ง ให้สติและปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนารู้ครับ

เมื่อเป็นดังนี้เรา ก็ต้องเข้าใจครับว่า อะไรบ้างที่เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือ เป็นสิ่งที่สติและปัญญาควรรู้ สมาธิที่เป็นฌาน หรือ ไม่ถึงฌานเท่านั้นหรือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ควรรู้และเป็นอารมณ์ หรือ เป็นบาท ของสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดง สติปัฏฐาน (วิปัสสนา) ไว้ ๔ หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่เพียงจิตหมวดเดียวเท่านั้น กาย ก็คือ สภาพธรรมที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ เวทนา ความรู้สึก ก็เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ จิต ไม่ได้มีจิตเฉพาะ ฌานจิต หรือ อุปจาร ที่ยังไม่ถึงฌาน แต่จิตมากมายเลยครับ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น เป็นต้นมากมาย เป็นอารมณ์เป็นบาทของวิปัสสนาได้ ธรรม คือ ธรรมทั้งหลาย มี นิวรณ์ เป็นต้น มีมากมาย เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จึงเป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ครับ

จะเห็นนะครับว่า สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ไม่ใช่เฉพาะ สภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง

ประเด็นปัญหา คือ เราจะต้องแยกประเด็นว่า ธรรมที่สติและปัญญารู้ได้ ที่เป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเหตุให้เกิด วิปัสสนา สติปัฏฐาน ก็ส่วนหนึ่ง คนละส่วนกันนะครับ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ฌานจิต ระดับต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง เป็นบาทให้สติและปัญญารู้ได้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือ เป็นอารมณ์ได้ เพราะเป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง รวมทั้งสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย ก็เป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐาน แม้แต่จิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้ แต่ การเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้ ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิด วิปัสสนา เป็นเหตุให้เกิด สติปัฏฐาน เพราะเป็นเพียงอารมณ์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น จิตที่เป็นโลภะ (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งของสติได้ เป็นบาทของวิปัสสนาได้

แต่ โลภะ ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนาหรือไม่ครับ ไม่ใช่ ดังนั้น การเป็นบาท เป็นอารมณ์ กับ เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน วิปัสสนานั้นแยกกัน จิตเห็น เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ไหม ได้ครับ แต่ จิตเห็นที่เป็นเพียงผลของกรรม ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนาไหม คำตอบคือไม่ใช่ครับ โดยนัยเดียวกันครับ ฌานจิตระดับต่างๆ หรือ เรามักเรียกว่า สมาธิก็ตาม ที่กล่าวว่าเป็นบาทของวิปัสสนา ความหมายก็คือ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ ในหมวด จิตตานุปัสสนา ที่เป็นมหัคคตจิต เมื่อฌานจิตเป็นอารมณ์ เป็นบาทของวิปัสสนาได้ แต่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานใช่หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะเป็นเพียงอารมณ์ให้วิปัสสนารู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน หรือ จะต้องเจริญ ฌาน สมถภาวนา ก่อน เพื่อจะได้เจริญวิปัสสนาได้ อันนี้ไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ดังนั้น คำว่า เป็นบาทของวิปัสสนาจึงต้องละเอียดตามที่กระผมได้กล่าวมาข้างต้นว่า หมายถึงอะไร มีนัยอะไรบ้างครับ ดังนั้น ควรแยกระหว่าง อารมณ์ หรือ บาทของวิปัสสนา กับเหตุให้เกิดวิปัสสนา

ดังนั้น เหตุให้เกิด วิปัสสนา จึงไม่ใช่ การเจริญสมถภาวนา เพราะเราไปสำคัญ คำว่าเป็นบาท คือ จะต้องเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึง วิปัสสนา ไม่ใช่ครับ เป็นบาทได้ อธิบายไปแล้ว แต่เหตุให้เกิด วิปัสสนา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม และเมื่อมีความเข้าใจเจริญขึ้น สติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ในชีวิตประจำวัน แม้ไม่ได้ฌาน แม้ไม่ได้อบรมฌา ครับ ซึ่งจะเห็นตัวอย่างอริยสาวกมากมาย ที่ท่านไม่ได้เจริญฌาน ท่านก็ฟังพระธรรมและบรรลุธรรมครับ สมถภาวนา จึงไม่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนาเลย เพราะอริยสาวกมากมาย ที่ฟังธรรมแต่ไมได้เจริญสมถภาวนาก็บรรลุธรรมมากมายครับ

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าฌานเป็นเหตุทำให้เจริญวิปัสสนาได้นะครับ ฌานจิต เป็นเพียงอารมณ์หรือ เป็นบาทของวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่เหตุให้เกิดวิปัสสนา อาจารย์พระโพธิสัตว์ (อุทกดาบส ได้ฌานสูงสุด) หรือ สมัยก่อนพุทธกาล ได้ฌานมากมาย แต่ไม่เข้าใจหนทางการดับกิเลส คือ วิปัสสนา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส ด้วยการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ตัดได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย) นั้น ต้องด้วยการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยสมถภาวนา ภาวนาทั้งสองอย่าง คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ใช่สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา,

สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น นั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับ กุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และในขณะนั้น ก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ เมื่ออบรมเจริญความสงบ เมื่อจิตสงบมั่นคงขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ แต่การบรรลุฌานจิตนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเห็นได้ว่าการเจริญสมถภาวนา ทำให้จิตสงบได้ ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ละอนุสัยกิเลส อันเป็นพืชเชื้อของกิเลสไม่ได้เลย เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา (โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนา) ไม่สามารถจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ได้

และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ฌานขั้นต่างๆ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่รู้ฌานจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตามความเป็นจริงได้เลย ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดปรากฏ ก็สามารถระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ทั้งหมด

การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไปถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในชีวิตประจำวัน นั้น มรรคมีองค์ ๕ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก) ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เพื่อสติจะได้ระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง สัมมาสติ (สติเจตสิก) ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือ นามธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) เพียรระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิ (เอกัคคตเจตสิก) ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด เกิดร่วมด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ และมรรคทั้งแปดองค์ ก็เกิดร่วมกันเมื่อเป็นโลกุตตระ ขณะที่มรรคจิต ผลจิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกัน คือ พระนิพพาน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยังคงไม่ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐานก็ได้ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้าง ที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนถาม

จากหัวข้อเรื่อง อยากทราบว่า มาจากพระไตรปิฎกใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเน้นข้อความนั้น พระองค์ทรงตั้งใจจะสอนใคร สอนผู้ที่มีอุปนิสัยเจริญฌานหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

พระพุทธเจ้าทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกว่าแตกต่างกันไปตามการสะสม และ สะสมปัญญา ความถึงพร้อมด้วยบุญบารมีมาแตกต่่างกัน ซึ่งบางบุคคล สะสมปัญญามามากๆ เช่น พระมหาสาวกผู้เลิศด้านต่างๆ ท่านทรงคุณพิเศษมากมาย เพราะสะสมบุญมามาก ดังนั้น ท่านจึงสะสมอุปนิสัยการได้ฌานด้วย ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดง ให้อบรมฌานเพื่อเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากับพระมหาสาวก ผู้เลิศที่สะสมมาในการได้ฌานด้วยครับ แต่ท่านเข้าใจการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องด้วยครับ แต่ไม่ใช่ว่าเราอ่านพระสูตรนี้ ก็จะต้องทำแบบท่าน ก็ต้องรู้จักตัวเองว่ามีปัญญาดังเช่นท่านที่เป็นพระมหาสาวกหรือไม่ หรือ แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ก็สามารถบรรลุธรรมได้ครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถะ ที่ท่านฟังธรรมแล้วบรรลุ คือ ไม่ได้เจริญสมถภาวนา แต่อบรมวิปัสสนาอย่างเดียว ก็บรรลุธรรมได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำตาม แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจในเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงแสดงกับใคร และมีเหตุผลอะไรที่แสดง และพระองค์ก็แสดงว่า ฌานไม่ใช่หนทางดับกิเลส นอกจาก วิปัสสนา เพียงแต่ฌานเป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ครับ และเราก็รู้ตัวเองว่า เรามีปัญญา ที่จะทำตามพระมหาสาวก หรือเป็นแบบนางวิสาขา ผู้บรรลุธรรมด้วยวิปัสสนา ก็ยากที่จะได้อย่างท่านแล้วครับ ไม่ต้องกล่าวถึง ได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาครับ แต่เราต้องเข้าใจเบื้องต้นว่า การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่เหตุให้เจริญวิปัสสนาได้ แต่ สมถภาวนา เพียงเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาเท่านั้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนถาม

ฌานระดับต่างๆ ดับอาสวกิเลสได้ แต่ยังดับอนุสัยกิเลสไม่ได้ ใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนควาเมห็นที่ 6 ครับ

อาสวะกิเลส หมายถึง อกุศลธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพหมักหมมไว้ในขันธสันดาน เหมือนกับสุราซึ่งเป็นเครื่องหมักดองที่เก็บไว้นานๆ มีอำนาจทำให้เมาและหลงใหลได้ อาสวะยังเป็นสภาพที่ไหลไป ไหลไปสู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถไหลไปได้จนถึงภวัคคพรหม เมื่อว่าโดยภูมิ แต่เมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้จนถึงโคตรภู ทำให้สังสารวัฏฏ์เจริญสืบต่อไป

อาสวะมี ๔ อย่าง คือ ...

๑. กามาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในกาม ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

๒. ภวาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในภพ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

๓. ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

๔. อวิชชาสวะ เครื่องหมักดองคือความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี ๗ ประการคือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งอาสวะ และ อนุสัยกิเลส ยังไม่สามารถละได้ด้วยฌานทั้งคู่ครับ เพียงข่มไม่ให้เกิดชั่วขณะที่เป็นฌานเท่านั้นเอง ดังนั้น การใช้ชื่อว่า อาสวะ หรือ อนุสัย ก็แตกต่างกันเพียงพยัญชนะ แต่องค์ธรรมก็คือ กิเลสเหมือนกัน กิเลสตัวเดียวกัน เช่น กามาสวะ ก็คือ กามราคานุสัย ทิฏฐาสวะ ก็คือ ทิฏฐานุสัย เหมือนกัน เป็นต้น เพียงแต่ใช้ชื่อแตกต่างกัน เพราะลักษณะของกิเลส ในสภาพธรรมนั้น มีหลากหลายนัยครับ

ดังนั้น ฌาน ก็เพียงข่ม อาสวะและอนุสัยไว้ แต่ไม่สามารถละได้ทั้งคู่ นอกจากปัญญาที่เป็นมรรคจิต จึงจะสามารถละ อนุสัยและอาสวะได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 4 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Witt
วันที่ 13 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ