ถ้านั่งสมาธิ แล้วมีคนมาบีบคอ เราจะแก้ยังไง

 
ปักเจก
วันที่  4 ม.ค. 2555
หมายเลข  20308
อ่าน  2,346

ฟังมาว่า มีคนนั่งสมาธิ แล้วพอจะสงบ เหมือนมีคนมาบีบที่คอ พอลืมตาก็หาย แต่พอนั่งเข้าอีก พอจะสงบอีก ก็มาบีบอีก เป็นเพราะทำกรรมไว้มากหรือเปล่า เจ้ากรรมเลยไม่ยอมอโหสิ ให้ไปสำเร็จโสดาบัน เพื่อตัดขาดอบาย ถ้าเจอแล้วแผ่เมตตาให้แล้วก็ไม่ยอมหาย จะแก้ยังไง กลัวเจอบ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอน ของผู้รู้ ดังนั้น คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ปัญญา คือ ความรู้ อวิชชา คือ ความไม่รู้ เป็น อกุศล ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้ว ทำให้ไม่รู้มากขึ้น มีแต่ความสงสัย ที่สำคัญ ทำ ให้ผิดปกติในชีวิตประจำวัน นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าครับ

ดังนั้น หากนั่งสมาธิและเกิดความผิดปกติ และ ทำให้เกิดความไม่รู้ ผิดปกติ ก็ไม่ควรนั่ง เพราะขณะนี้กำลังอ่านจากคอม ก็ไม่ได้ถูกบีบคอใช่ไหมครับ ดังนั้น การปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องการรู้ความจริงที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเข้าใจ ว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้ว่าเห็นเป็นธรรม แต่เมื่อ ปัญญารู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติ แล้วครับ และขณะนั้น ก็ไม่ถูกบีบคอ ไม่ได้มีความสงสัยในขณะนั้น แต่ที่สำคัญทำให้ ปัญญารู้ความจริงที่มีในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่ การนั่งสมาธิ เพราะทำไปก็เกิดความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเกิดความผิดปกติเกิดขึ้น เราควรจะทำสิ่งนั้นต่อหรือไม่ครับ ไม่แน่นอนครับ เพราะ เราเริ่มรู้ว่า มันผิดปกติไป ทำให้มีแต่ความเสียหายในการงานที่ทำ เพราะทำแล้วผิดปกติ ฉันใด การอบรมปัญญาในพระพุทธศาสนา ที่ถูกต้อง ย่อมไม่ผิดปกติ แต่รู้ความจริงที่มีในชีวิตประจำวัน หากทำแล้วผิดปกติ ผู้ที่ศึกษา สนใจในพระพุทธศาสนา จึง ควรสำเหนียกว่า สิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะได้เกิดความผิดปกติมากขึ้นจากเดิม แล้วครับ เริ่มต้นใหม่ ในสิ่งที่ถูก แม้ช้า ดีกว่า ทำต่อไป แล้วก็เกิดความผิดปกติ ซึ่งกุศล และ ปัญญา จะผิดปกติไม่ได้เลย นอกความความไม่รู้และอกุศลที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้เกิดความผิดปกติ มีบีบคอ เป็นต้นครับ

ขอเชิญคลิกอ่านกระทู้ต่อไปนี้นะครับ มีประโยชน์มากเลยสำหรับผู้ที่อยากจะปฏิบัตินั่งสมาธิ

เชิญคลิกครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

จะนั่งสมาธิ หรือจะเข้าใจสมาธิ

นั่งสมาธิ

สมาธินั้น ... แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

นั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรมไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หนทางเดียว ที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงนั้น ต้องฟังพระธรรม ต้องศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความตั้งใจจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดนั้นแสดงให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง และสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาในการที่จะรู้ธรรม ต้องเป็นปกติจริงๆ ไม่ใช่ผิดปกติ แม้แต่ในเรื่องของ สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลย จะไม่เข้าใจผิดว่า สมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ และถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่บอกว่านั่งสมาธินั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกอะไรเลย มีแต่เป็นการกระทำที่ผิดปกติด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ เมื่อเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ แล้วความรู้คือปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร?

สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เพราะเหตุว่า สมาธิ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มีทั้ง มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนด้วยความจดจ้องต้องการว่าเป็นทางที่จะทำให้หลุดพ้น นั่นล้วนเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไป

ส่วนสมาธิที่เป็นกุศลก็มี เพราะสมาธิ เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท (เอกัคคตาเจตสิก) ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับอกุศล (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) เป็นอกุศลสมาธิหรือเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเริ่มที่การฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ธรรมทุกคำมีค่ามาก ถ้ามีความตั้งใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาด้วยความจริงใจแล้ว ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tookta
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ไม่รู้ว่าตัวเราเองมีความคิดที่ผิดหรือถูกนะ แต่เราคิดว่าการนั่งงสมาธินั้นน่าจะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เราหยุดนิ่งและหยุดคิดสิ่งต่างๆ แล้วก็ให้กำหนดลมหายใจเพื่อให้จิตของเราไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งการหายใจเข้าและออกทำให้เราได้รับอ๊อกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย (บางทีนะคะ การนั่งสมาธินั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้าท่านมาโปรดสัตว์เพื่อแนะนำให้เรามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีก็ได้นะคะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นทีั่ 3 ครับ

พระพุทธเจ้า ทรงสอนสัตว์โลกให้มีปัญญา เข้าใจความจริง แต่ไม่ใช่ด้วยการหยุดนิ่ง โดยการนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจครับ เพราะการหยุดนิ่ง มีสมาธิ ในทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า เมื่อจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ได้คิดเรื่องอื่น นอกจากสิ่งนั้น จนเป็นสมาธิ แล้วสิ่งนั้นจะดีนะครับ เพราะ สมาธิ มีทั้งที่เกิดกับกุศล และ อกุศล ซึ่งขณะที่เกิดกับอกุศล เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ดี เพราะเป็นอกุศล แม้ขณะนั้น จะไม่ได้คิดเรื่องอะไร อยู่กับสิ่งนั้น แต่ก็ไม่ดีครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ร้อยด้าย เข้ารูเข็ม ขณะนั้นต้องมีสมาธิ ใช่ไหมครับ จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น แต่สมาธินั้นไม่เป็นกุศล และ ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอกุศล คือ มีความต้องการที่จะทำ จะร้อยด้ายเข้ารูเข็ม แม้จะมี สมาธิ จิตไม่ซัดซ่ายไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่เป็นสมาธิที่เกิดกับอกุศล ไม่ดี ครับ

ดังนั้นพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนให้ทำสมาธิ แต่สอนให้เข้าใจความจริง ไม่ได้ สอนให้สุขภาพดี ด้วยการนั่งสมาธิแและขณะที่ทำก็เป็นอกุศล ไม่ใช่ครับ พระพุทธเจ้า จะไม่สอนสัตว์โลกให้เป็นอกุศล และ ทำด้วยความไม่รู้เลยครับ แต่สอนให้เป็นกุศล ให้มีความเข้าใจถูก มีปัญญาเข้าใจความจริง โดยไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่สอนให้เข้าใจ ความจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tookta
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอขอบคุณนะคะที่ชี้แนะและแนะนำ

แล้วทำไมจึงได้มีการกำหนดการนั่งสมาธิในทางศาสนาพุทธด้วยละคะ ถ้าอย่างนั้นการนั่งสมาธิก็ไม่ถูกต้องซิคะ หรือว่าเป็นเพราะพุทธศาสนิกชนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในพุทธศาสนาเป็นผู้คิดกำหนดกันขึ้นมาเองหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษา ไม่เผิน ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียด จริงๆ จึงจะเข้าใจได้ครับ ดังนั้น พระธรรมล่วงเลยมา สองพันห้าร้อยกว่าปี ก็เป็นธรรมดา ที่พระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อม เพราะ ผู้คนขาดการศึกษาพระะรรม โดยละเอียด มุ่งแต่ที่จะทำตามที่คนอื่นบอกครับ โดยไม่ใช่ปัญญาของตนเอง ที่เกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อบอกว่า ปฏิบัติ คือ นั่งสมาธิ ก็เชื่อ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบกับพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ ว่าจริงหรือไม่ครับ

ดังนั้น ความถูกต้อง สัจจะ ความจริงที่เป็น ความเห็นถูก ไม่ได้ตัดสินที่จำนวนคนที่ทำ ปริมาณมาก หรือ สังคมยึดถือกัน แต่ ตัดสิน ที่สิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่ ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือไม่ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tookta
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอบคุณนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 5 ม.ค. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 4

การที่มีสมาธิทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาทิ นั่งร้อยมาลัย ปลูกต้นไม้ ท่านกล่าวว่า ขณะนั้นจิตไม่ได้ซัดส่ายไปไหน อยากทราบว่า ที่ทราบว่าเป็นอกุศลจิตนั้นเกิดจากการเรียนรู้พระธรรมใช่หรือไม่ คือดิฉันไม่ได้รู้ "ตัวจริง" ของอกุศลจิตในขณะนั้น ในขณะที่ใจสบายในการทำงานอดิเรก ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต แล้วจะเหมือนกันไหมที่เมื่อนั่งสมาธิแล้วนิ่งแล้วใจสบาย แต่ที่แท้เป็นอกุศลจิต แต่ไม่รู้

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นทื่ 10 ครับ

ขณะที่เป็นกุศล คือ ขณะใดที่จิตเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ครับ จึงเป็นกุศลในขณะนั้น แต่ขณะที่ตั้งใจเอาด้ายร้อยรูเข็ม มีสมาธิ แต่จิตเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาหรือไม่ครับ ถ้าไม่เป็น โดยมากของปุถุชน ก็คือ เป็นอกุศลในขณะนั้น ซึ่งความสบายใจที่เป็นเวทนา เจตสิก อันได้แก่โสมนัสเวทนา เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ หรือ อกุศลที่เป็นโลภะก็ได้ ครับ ดังนั้นขณะที่พอใจ ทำงานอดิเรกกด้วยความเพลิดเพลินสบายใจ หากจิตขณะนั้น ไม่ได้เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นอกุศลส่วนใหญ่ครับ ไม่ว่าจะรู้ หรือ ไม่รู้ก็ตามครับ

ดังนั้น ไม่ว่าทำอะไร หากเป็นอกุศล อกุศลคือสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า อกุศลมีกำลังแตกต่างกัน อกุศลบางอย่างมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อกุศลบางอย่าง ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยมีกำลังและอันตรายมากกว่า ครับ ซึ่ง ขณะที่นั่งสมาธิและเข้าใจว่าเป็นหนทางที่ถูก ทั้งๆ ที่ปฏิบัติผิด เป็นโลภะ ความพอใจที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่การทำงานอดิเรกด้วยโลภะ พอใจ ติดข้อง แต่ ไม่ได้มีความเห็นอะไรที่ผิดจากความเป็นจริง ก็เป็นเพียงโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเท่านั้น ซึ่งจิตโดยมากในชีวิตประจำวัน มักเป็นจิตประเภทนี้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผิน
วันที่ 6 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
tookta
วันที่ 6 ม.ค. 2555

ถ้าหากการนั่งสมาธินั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงไว้ แต่ถ้าการนั่งสมาธิแล้วมีประโยชน์สำหรับเรา เช่น ทำให้เราหายใจสบายขึ้นและอวัยวะต่างๆ ของเราดีขึ้น (เพราะเราได้รับอ๊อกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย) และ จิตใจเราสบายขึ้น ถ้าทำอย่างนี้จะผิดต่อการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 6 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

หากทำสมาธิ เพื่อสุขภาพที่ดี เช่น การทำโยคะ โดยที่ไม่ใช่มีความคิดว่า ทำสมาธิ ทำเพื่อจะอบรมปัญญา อันเข้าใจว่าเป็นหทางในการดับทุกข์ การทำเพื่อสุขภาพ ก็ไม่ได้เป็นความเห็นผิด ครับ ก็ไม่เป็นไร

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
--MoN--Pp--
วันที่ 9 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธัมมะ ทั้งฝ่ายดีงาม ฝ่ายไม่ดีงาม และ ธัมมะที่ไม่ใช่ทั้งดีและไม่ดี โดยละเอียด ว่าเป็นเพียงธรรมแต่ละขณะ ไม่ไช่ตัวตน อัตตาของเรา

สมาธิ เป็น (ธัมมะ) ได้ทั้งฝ่ายดีงาม ฝ่ายไม่ดีงาม และ ธัมมะที่ไม่ไช่ทั้งดี และไม่ดีขอกล่าวถึงสมาธิฝ่ายดีงาม เมื่อมีความไม่รู้ จึงยึดถือสมาธิว่า เป็นตัวตน แม้ว่าสมาธิฝ่ายดีงาม เกิดขึ้นขณะนั่ง (ไม่ใช่นั่งทำสมาธิ แต่เป็นผู้ปรกติมีสมาธิขณะนั่ง) เช่นการให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา (ในขณะที่มีอริยาบทนั่ง) มีใจไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิ มีความสงบ จากบาป แต่ยังมีความไม่รู้ว่าเป็นเพียงธัมมะแต่ละอย่างทำกิจ มีจิตที่ไม่ใช่เรา มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่เรา มีความสงบจากบาปไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธัมมะ เกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย หากได้ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นโดยละเอียดรอบคอบ ก็จะเข้าใจว่า แม้สมาธิที่เป็นกุศลเกิด ก็ยังมีความไม่รู้ว่า เป็นเพียงธัมมะ ไม่ต้องกล่าวถึงสมาธิที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้น มีโทษ และยังยึดถือว่าเป็นเรา อวิชา ความไม่รู้ โลภะ ความติดข้อง โทสะ ความประทุษร้าย เกิดขึ้น ก็ไม่รู้จักว่าเป็นธัมมะอะไร มีคุณ โทษ ก็ไม่รู้ ว่าไม่ใช่ตัวตนของเรา ได้แต่ต้องการ (โลภะ) ให้ตัวตนหมดจากทุกข์โดยไม่รู้ว่า ธัมมะเกิดดับเป็นทุกข์

ความรู้ธัมมะ (ทุกขอริยสัจ) เป็นความไม่ยึดถือตัวตน ไม่ใช่เป็นการไปนั่งทำ ยืนทำ สมาธิ จงกรม แต่การฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ฟังจนเข้าใจ คือ ปัญญาดับเหตุแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้าม การนั่ง ยืน เดิน เป็นปรกติ ทรงสรรเสริญการนั่ง ยืน เดิน ที่ประกอบด้วยการมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชา (โลภะ) และโทมนัสในโลก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เสียได้ ดังพระพุทธพจน์

ประภาส

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 97

๘. ภิกขุสูตร

ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

[๙๗] ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นในโลกนี้แล ย่อมถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อ อะไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ จึงพยากรณ์ แก่ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

เราประพฤติพรหมจรรย์ใน พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พยากรณ์แล้วอย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าว ตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม

อนึ่ง การกล่าว และ กล่าวตามที่ชอบแก่เหตุ แม้น้อยหนึ่ง จะไม่ควรติเตียนละหรือ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการกล่าวและกล่าวตามที่ชอบแก่เหตุแม้น้อยหนึ่ง ย่อมไม่ควรติเตียน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา ก็เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลาย อย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ทุกข์ซึ่งพวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลายถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส จักษุแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้จักษุ เป็นทุกข์ นั้น รูป ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น ฯลฯ ใจก็เป็นทุกข์ ฯลฯ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ข้อนั้นๆ อาวุโส ข้อนี้นั้นแลเป็นทุกข์ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ข้อนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้แล.

จบ ภิกขุสูตรที่ ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
jaturong
วันที่ 13 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ