ธรรมเป็นส่วนแห่งวิชา

 
dets25226
วันที่  3 ม.ค. 2555
หมายเลข  20300
อ่าน  2,384

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา มีอยู่ สองอย่าง อะไรเล่า สองอย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา.

ภิกษุทั้งหลาย สมถะเมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? อบรมแล้ว จิตจะเจริญ จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? เจริญแล้ว จะละราคะได้ ภิกษุทั้งหลาย ! วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ ปัญญาเจริญแล้วจะได้ประโยชน์อะไร? เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้แล.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดและลึกซึ้งอย่างมากนะครับ การศึกษาด้วยความละเอียด ย่อม เป็นผู้เคารพธรรม ซึ่ง สำหรับ พระสูตรที่ผู้ร่วมสนทนายกมานั้น แสดงว่า ธรรม ๒ อย่าง ที่เป็นส่วนแห่ง วิชชา หรือ ปัญญา คือ สมถะ และ วิปัสสนา และข้อความยังแสดงต่อไปว่า สมถะที่อบรมแล้ว ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่เจริญแล้ว ย่อมละ อวิชชา ความไม่รู้ได้ หากอ่านเพียงเผินๆ ด้วยความไม่ละเอียด ก็ย่อมสำคัญว่า การอบรมปัญญา ที่ เป็นส่วน วิชชา จะต้อง ทำสมถภาวนา มีการทำสมาธิ อบรมให้ได้ฌาน ประมาณนั้น เพื่อละราคะ และจึงค่อยอบรมปัญญาที่เป็น วิปัสสนา เพื่อละ ความไม่รู้ คือ อวิชชา ครับ ซึ่งอาจจะเข้าใจอย่างนี้ได้

แต่ในความเป็นจริงนั้น ธรรมที่เป็นส่วน วิชชา คือ ปัญญาที่เป็นไปในการตรัสรู้ ไม่ใช่ สมถภาวนานะครับ แต่เป็น สมถะ คือ ความสงบของจิตทีเ่กิดร่วมกับฝ่ายปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาครับ ซึ่งจะขออธิบาย คำว่า สมถะ เป็นเบื้องต้นให้เข้าก่อน ก็จะเข้าใจในเรื่องนี้ ที่ว่า อบรมสมถะ เพื่อราคะ และ อบรมวิปัสสนา เพื่อละ อวิชชาครับ

สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส

ส่วน สมถภาวนา หมายถึง การอบรม เจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น

จะเห็นนะครับ ว่าต่างกัน สมถะ คือสภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่า จำเป็นไหมจะต้องเจริญ สมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนา และ วิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบสส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌาน แต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญ วิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรม และ เป็นอนัตตา ครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ดังนั้น ประเด็น คือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผม ได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน

สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนา อย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมา มีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของ วิปัสสนา มี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลัง คือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนา เกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงึในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่า มีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และ มีฝักฝ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

ดังนั้น สรุปได้ว่า จากพระสูตรนี้ ข้อความในอรรถกถา อธิบายไว้ชัดเจนครับว่

คำว่า สมถะ ที่ละราคะได้ คือ ความที่มีจิตในอารมณ์เดียว คือ สัมมาสมาธิที่เกิดกับ มรรคจิตไม่ใช่สมาธิ ระดับแค่สมถภาวนา เพราะไม่สามารถละราคะได้จริง แต่ เป็น สัมมาสมาธิในมรรคจิต ที่เกิดพร้อมกัน เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำกิจหน้าที่ดับกิเลสครับ มีราคะเป็นต้น และ ฝ่ายวิปัสสนา ก็คือ มรรคจิตอีกนั่นเอง ที่เป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะทำหน้าที่ ละอวิชชา ความไม่รู้ครับ

จึงสรุปได้ว่า จากพระสูตรที่ยกมา ทั้งข้อความในอรรถกถา และพระธรรมในหมวดอื่น แสดงว่า สมถะและวิปัสสนา คือ ขณะที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ทำกิจหน้าที่ละราคะและ ละอวิชชาครับ แต่ไม่ใช่ สมถะ ที่เป็นสมถภาวนาครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

ข้อความในอรรถกถาที่ผู้ถามได้ยกพระสูตรมา อันแสดงว่า สมถะ ในที่นี้ คือ สัมมาสมาธิใน มรรคจิต ที่ละ ราคะได้ ไม่ใช่ สมถภาวนา และ วิปัสสนา ก็คือ มรรคปัญญา และ มรรคจิตที่ละอวิชชาได้

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 353

อรรถกถาสูตรที่ ๑๑

ในสูตรที่ ๑๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า วิชฺชาภาคิยา แปลว่า เป็นไปในส่วนวิชชา.

บทว่า สมโถ ได้แก่ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว

บทว่า โย ราโค โส ปหียติ ความว่า ละกิเลสที่ชื่อว่าราคะด้วยอำนาจย้อมใจได้. เพราะราคะเป็นข้าศึกของมรรคจิต มรรคจิตเป็นข้าศึกของราคะ. ขณะมีราคะ ไม่มีมรรคจิต ขณะมีมรรคจิต ไม่มีราคะ

บทว่า วิปสฺสนา ภิกฺขเว ภาวิตา ความว่า วิปัสสนาญาณ อันภิกษุเพิ่มพูนแล้ว ให้เจริญแล้ว.

บทว่า ปญฺา ภาวียติ ความว่า มรรคปัญญา ในขณะมีอวิชชา ไม่มีมรรคปัญญา ในขณะมีมรรคปัญญา ไม่มีอวิชชา. อวิชชาเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้น ย่อมห้ามมิให้มรรคปัญญาเกิดขึ้น คือตัดหนทาง. มรรคปัญญาเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมรรคปัญญาก็เพิกถอนอวิชชาพร้อมทั้งราก ทีเดียว. เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า อวิชฺชา ปหียติ. สหชาตธรรมทั้งสองคือมรรคจิต มรรคปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่น เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนา ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะสมถภาวนา ละกิเลสไม่ได้เลย เพียงแค่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น ส่วนวิปัสสนาภาวนา เป็นสติสัมปชัญญะ ที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริง ย่อมสำรอกราคะ ดับอวิชชา และดับกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ.

...ขถออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เนื้อหาที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบายนั้น ละเอียดดีครับ

ผมเข้าใจว่า "สมถะ ไม่ถึงขั้นของสมถภาวนา เพราะไม่ต้องเจริญ ทำให้มาก จนเป็นฌาน แต่จำเป็นในการพิจารณาธรรม โดยวิปัสสนา" ถูกต้องหรือไม่ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

เรียนดังนี้ครับ ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า วิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน มีอะไรเป็นอารมณ์ บ้าง ซึ่งสติปัฏฐาน ที่เป็น สติและปัญญา มีสภาพธรรมที่มีจริง คือ ปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และ รูป เป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้งให้ สติ หรือ วิปัสสนารู้ ซึ่ง จิต เจตสิก และรูป ไม่ได้ประเภทเดียว ไม่ได้มีปรมัตถธรรมเพียงอย่างเดียวที่จะเป็นที่ตั้งให้สติ ระลึก หากได้อ่านในสติปัฏฐานสูตร ที่แสดงว่า แบ่งเป็น ๔ หมวด คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

ดังนั้น สติและปัญญา ที่เป็นวิปัสสนา จึงไม่ใช่จะเลือกเฉพาะเจาะจง ที่จะต้องรู้จิตที่เป็นสมาธิ แม้จะเป็นอุปจารก็ตาม เพราะมีสภาพธรรมที่ปรากฏที่มีจริงในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส นี่ก็เป็นจิตแต่ละอย่างที่สามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องไปอบรมสมถะเลย และที่สำคัญครับ ตามที่กล่าวแล้ว แม้ขณะที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเห็นในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่ เรา ขณะนั้นมี มรรคมีองค์ ๕ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ขณะนั้น มีทั้งฝักฝ่ายวิปัสสนา คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ และ ฝักฝ่าย ของสมถะ ด้วย ไม่ใช่ไม่มี สมถะ หรือต้องไปทำ สมถะ จึงจะอบรมวิปัสสนาได้

องค์แห่ง สมถะ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่ ทำสมถะ ไม่ถึง ฌาน เพื่อที่จะได้พิจารณาวิปัสสนาได้ อันนี้ไม่ถูกต้องครับ เพราะบาท หรือ อารมณ์ ของวิปัสสนา มีมากมายที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ได้เจาะจงการเจริญสมถะเท่านั้น และ เราจะต้องเข้าใจคำว่า สมถะ ให้ถูกต้องตามที่กล่าวมาในความเห็นข้างต้นครับ อบรมวิปัสสนาโดยไม่ได้อบรมสมถภาวนา ก็ได้ครับ

ขออนุโมทนา

เรื่อง มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนาแม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373

อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับว่าเป็น ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็น ทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ

อนึ่ง มรรคนั้น เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ. อีกอย่างหนึ่ง มรรคนั้น เป็นทั้งขันธ์ ๓ และสิกขา ๓ เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์ ธรรม ๓ ในลำดับต่อจากสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะนั้น สงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ที่เหลือ สงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ และ ธรรมเหล่านั้นแหละ สงเคราะห์ด้วยอธิปัญญาสิกขา อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 4 ม.ค. 2555

จากที่ท่านเจ้าของกระทู้ยกข้อความขึ้นว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! สมถะเมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? อบรมแล้ว จิตจะเจริญ จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? เจริญแล้ว จะละราคะได้

สมถะดังกล่าวนั้นเป็นสมถะของการภาวนา ใช่หรือไม่ครับ และที่ผมสังเกตจากพระธรรมบทนี้ ท่านกล่าวถึงการละ "ราคะ" จึงทำให้เห็นความแตกต่างอย่างมากของการเจริญสมถภาวนาที่เห็นและได้ยินในปัจจุบันโดยทั่วๆ ไป เนื่องจาก โดยส่วนใหญ่มีความประสงค์ที่จะเจริญสมถภาวนาหรือที่เรียกกันว่า "นั่งสมาธิ" เพื่อต้องการให้จิตสงบ โดยเน้นไปที่ว่า ให้จิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย แล่นไปมา ซึ่งพิจารณากันจริงๆ แล้ว ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการของ "โทสะ" โดยส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่อง "ราคะ" หรือ "โลภะ" เลย ดังนั้น เมื่อพากันไปนั่งสมาธิแล้ว มีความรู้สึกสงบดี นิ่งดี มีสมาธิ แต่จริงๆ แล้ว เป็นโลภะที่ไม่รู้ตัวเลย กลายเป็นมิจฉาสมาธิ ดังนั้น การเจริญสมถภาวนาโดยขาดความเข้าใจแบบนี้ จึงไม่อาจละราคะได้ตามที่ทรงตรัสสอน จะใช่หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

สมถะดังกล่าวนั้นเป็นสมถะของการภาวนา ใช่หรือไม่ครับ

สมถะในพระสูตรนี้ ไม่ใช่ สมถภาวนาครับ สมถะ ได้อธิบายใน อรรถกถา สูตรนี้ที่ว่า สมโถ สมถะ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว นั่นคือ สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ในมรรคจิต ดังนั้น สมถะ ในที่นี้ จึงเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิด กับ มรรคจิต ที่ทำกิจละกิเลส นั่นคือ ละราคะ ในขณะนั้นได้เด็ดขาด สมถะ ในที่นี้จึงไม่ใช่ สมถภาวนาแน่นอนครับ ตามอรรถกถาที่ได้ยกไว้ในความเห็นที่ ๒ ตอนท้ายครับ เป็น องค์ สมถะ ที่เป็นสัมมาสมาธิในมรรคจิตครับ


และจากข้อความที่คุณผู้ร่วมเดินทางกล่าวว่า

และที่ผมสังเกตจากพระธรรมบทนี้ ท่านกล่าวถึงการละ"ราคะ"

จึงทำให้เห็นความแตกต่างอย่างมากของการเจริญสมถภาวนาที่เห็นและได้ยินในปัจจุบันโดยทั่วๆ ไป เนื่องจาก โดยส่วนใหญ่มีความประสงค์ที่จะเจริญสมถภาวนาหรือที่เรียกกันว่า "นั่งสมาธิ" เพื่อต้องการให้จิตสงบ โดยเน้นไปที่ว่า ให้จิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย แล่นไปมา ซึ่งพิจารณากันจริงๆ แล้ว ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการของ "โทสะ" โดยส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่อง "ราคะ" หรือ "โลภะ" เลย ดังนั้น เมื่อพากันไปนั่งสมาธิ แล้ว มีความรู้สึกสงบดี นิ่งดี มีสมาธิ แต่จริงๆ แล้ว เป็นโลภะที่ไม่รู้ตัวเลย กลายเป็น มิจฉาสมาธิ ดังนั้น การเจริญสมถภาวนาโดยขาดความเข้าใจแบบนี้ จึงไม่อาจละราคะ ได้ตามที่ทรงตรัสสอน จะใช่หรือไม่ครับ


และจากพระสูตรนี้ สมถะที่ละราคะได้ ก็ไม่ใช่ สมถภาวนาครับ แต่เป็นสมถะ คือ สัมมา สมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ ขณะที่เป็นมรรคจิต ซึ่งละราคะได้เด็ดขาดครับ สมถภาวนา ไม่สามารถละราคะได้ครับ เพียงข่มไว้ ไม่ให้เกิดเท่านั้น ดังนั้น เมื่ออ่านพระสูตร ก็ต้องเป็นผู้ละเอียดและอ่านอรรถกถาเพิ่มเติมด้วยว่า สูตรนั้น สมถะที่ทำให้ละราคะได้จริงๆ คืออะไรครับ

ขออนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทางที่เป็นผู้ละเอียดที่จะเข้าใจความจริงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
intra
วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ