มัคโค (มรรค) หมายถึงอะไร

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  31 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20265
อ่าน  9,881

กระผมอ่านกระทู้ในหัวข้อ นิพพานอยู่ที่ไหน จะไปทางไหน (ตั้งกระทู้เมื่อ 24 ธ.ค. 2554) มีข้อความตอนหนึ่งว่า กิเลเส มาเรนโต คัจฉะติ เอเตนาติ มัคโคฯ

กิเลเส - กิเลส ๑๐ ประการ ซึ่งแยกออกเป็น ๑๕๐๐ อย่าง นั้น

มาเรนโต - กำจัดตัดฆ่าให้ขาดสะบั้นลงไป

คัจฉะติ - ดำเนินไปอยู่

เอเตนาติ - เพราะเหตุที่กำจัดตัดฆ่ากิเลสให้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว ดำเนินไปอยู่อย่างนั้น

มัคโค - จึงได้ชื่อว่า มรรค คือ การกำจัดมวลกิเลสแล้วดำเนินไปสู่พระนิพพาน เรียกว่า มรรค ดังนั้น การดำเนินไปสู่พระนิพพานก็ต้องดำเนินไป ตามมรรค ๔ ประการ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) นั่นเอง เพราะมรรคก็คือทางสายเอกสู่นิพพาน

เกิดความสงสัยว่า มรรค ตามคำบาลีที่ยกมา (กิเลเส มาเรนโต คัจฉะติ เอเตนาติ มัคโคฯ) หมายถึงอะไร มรรค ๔ ตามข้อความในกระทู้ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) หรือว่า มรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ

ขอพึ่งสติปัญญาของท่านผู้รู้ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องแปลคำว่า มรรค ก่อนว่า มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูก ต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้น ก็เป็นหนทางที่ถูกต้อง (สัมมามรรค, อริยมรรค) เริ่มต้นด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เป็นต้น แต่ถ้าเป็นหนทางที่ผิด ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา มีแต่จะทำให้อกุศลเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับหนทางที่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นมิจฉามรรค อันมีพื้นฐานมาจากความเห็นผิดและความไม่รู้

การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขั้นของการอบรมด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นการอบรมมรรค อันเป็นโลกิยมรรค ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์ จะประชุมพร้อมกันในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น จากประเด็นคำถามที่ท่านนาวาเอกทองย้อยได้ถามนั้น มรรค ๔ คือ โสตาปัตติมรรคจนถึงอรหัตตมรรคนั้น ก็ไม่พ้นไปจากอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ซึ่งเป็นองค์มรรคทั้ง ๘ ที่เกิดร่วมกับมรรคจิต ๔ คือ โสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต และอรหัตตมรรคจิต ทำกิจประหารกิเลส ตามสมควรแก่มรรคของตนๆ ซึ่งถ้าไม่เดินทางตามที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ย่อมไม่มีวันถึงขณะที่มรรคจิตและผลจิต จะเกิดได้เลยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กิจของอริยสัจจ์ ๔

อริยมรรค

มรรคมีองค์ ๘

มรรคสมังคี

ขอเชิญคลิกฟังและอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ธรรมะที่เป็นหนทาง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 249

ความหมายของมรรค

๑. มรรค หรือ หนทางนี้นั้นชื่อว่าอริยะ เพราะทำกิเลสให้อยู่ห่างไกลบ้าง

๒. มรรค คือ ความเป็นไปพร้อมเพื่อละข้าศึก (กิเลส) บ้าง

๓. มรรค คือ หนทางที่พระอริยะแสดงไว้บ้าง

๔. มรรค คือ หนทางเพื่อให้ได้ความเป็นพระอริยะบ้าง.

๕. (มรรค) ชื่อว่ามีองค์ ๘ เพราะประกอบด้วยองค์ ๘ และพ้นไปจากองค์หาได้ไม่ เปรียบเหมือนเครื่องดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นต้น ฉะนั้น.

๖. ที่ชื่อว่ามรรค เพราะหมายความว่า ฆ่ากิเลสทั้งหลายไปบ้าง

๗. ที่ชื่อว่ามรรค คือ ทางดำเนินไปสู่นิพพานบ้าง

๘. มรรค คือ อันบุคคลผู้ต้องการนิพพานแสวงหาบ้าง

๙. มรรค คือ อันบุคคลผู้ต้องการนิพพานเหล่านั้นดำเนินไป คือปฏิบัติบ้าง. ในหนทางนี้

บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต. นิบาตว่า เสยฺยถีทํ นั้น มีความหมายเท่ากับ กตโม โส (แปลว่า มรรคนั้นคืออะไรบ้าง) หรือมีความหมายเท่ากับ กตมานิ ตานิ อฏฺฐงฺคานิ (แปลว่า องค์ ๘ นั้นคืออะไรบ้าง) .

ความจริงแล้ว องค์แต่ละองค์ก็คือมรรคนั่นเอง. สมด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นมรรคด้วย เป็นเหตุด้วย. แม้โบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นทางเป็นเหตุให้เห็น สัมมาสังกัปปะเป็นทางเป็นเหตุให้ฝังใจ (ในอารมณ์) ฯลฯ สัมมาสมาธิเป็นทางเป็นเหตุไม่ให้ฟุ้งซ่าน.

จากข้อความที่กระผมได้ยกมาในพระไตรปิฎกที่อธิบาย มรรค นั้น มุ่งหมายถึงอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นสำคัญ ว่าเป็นหนทาง ในการนำไปสู่การดับกิเลส ไปถึงพระนิพพาน และฆ่ากิเลสประการต่างๆ แต่ไม่ได้มุ่งหมายถึง มรรคจิต แต่ละขณะที่เป็นโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เพราะในสูตร กำลังอธิบาย คือหนทางดับกิเลส ที่เป็นทางเดียว คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 31 ธ.ค. 2554

ซึ่งจากข้อความที่ผู้ถาม ได้ยกมา มีดังนี้

กิเลเส มาเรนโต คัจฉะติ เอเตนาติ มัคโค ฯ

กิเลเส - กิเลส ๑๐ ประการ ซึ่งแยกออกเป็น ๑,๕๐๐ อย่างนั้น

มาเรนโต - กำจัดตัดฆ่าให้ขาดสะบั้นลงไป

คัจฉะติ - ดำเนินไปอยู่

เอเตนาติ - เพราะเหตุที่กำจัดตัดฆ่ากิเลสให้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว ดำเนินไปอยู่อย่างนั้น

มัคโค - จึงได้ชื่อว่า มรรค

ซึ่งผู้ถามได้ถามว่า มรรค ในที่นี้ มุ่งหมายถึงอะไร

ซึ่ง มรรค ในที่นี้ กำลังแสดงถึงหนทางที่ดำเนินไป คือ มรรค ดังนั้น จึงมุ่งหมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นทางเดียวที่จะดับกิเลสทั้งปวงจนหมดสิ้น แต่ไม่ได้มุ่งหมายถึงมรรคจิตแต่ละมรรคจิต เพราะบางมรรคจิต มีโสดาปัตติมรรคจิตก็ไม่ได้ฆ่ากิเลสจนหมดสิ้น มี กิเลสพันห้า หรือกิเลส ๑๐ ประการจนหมดทีเดียวครับ (ดังข้อความที่ยกมา) ดังนั้น มรรค ในที่นี้จึงมุ่งหมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นหนทางดับกิเลส เป็นสำคัญครับ อันแสดงว่าหนทาง คือ มรรค นี้ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางดับกิเลสทั้งปวง และถึงพระนิพพานครับ ซึ่งแสดงโดยในสติปัฏฐานสูตร เป็นสำคัญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
captpok
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม ...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ