หลักการครองเรือนมีอะไรบ้าง รบกวนท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยคะ

 
tookta
วันที่  31 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20267
อ่าน  12,754

เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องจะแต่งงานก็เลยอยากจะทราบว่าหลักการครองเรือนมีอะไรบ้าง จะนำไปแนะนำเขา

รบกวนท่านผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับการครองเรือน รวมทั้งการดำเนินชีวิตที่ดีของคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน สิงคาลกสูตร อันแสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีของคฤหัสถ์ในชีวิตประจำวัน กับบุคคลต่างๆ อย่างถูกต้อง มี มารดา บิดา ครู อาจารย์ สามี ภรรยา บุตร เพื่อน และผู้ที่เป็นห้วหน้าและลูกน้อง เป็นต้น ครับ ซึ่งสิงคาลกสูตร ก็แสดงถึงหลักการครองเรือนที่แสดงให้เห็น ว่า สามีและภรรยา ทั้งสองต่างก็มีหน้าที่และควรปฏิบัติตนอย่างถูกต้องอย่างไร ดังนี้ ครับ

ดูก่อนคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑

ดูก่อนคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจสามี ๑ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาให้ ๑ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑.

ดูก่อนคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถานเหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้นชื่อว่า อันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้.

ขอเชิญอ่านข้อความสมบูรณ์ในสิงคาลกสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องกับบุคคลต่างๆ ครับ ...

อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ [สิงคาลกสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

และอีกข้อความที่มีประโยชน์ เมื่อแต่งงานกันแล้ว ภรรยา ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมดังเช่นบิดาของนางวิสาขา ได้ให้โอวาทกับนางว่า เมื่อแต่งงานครองเรือนแล้ว ควรปฏิบัติตนอย่างไร ซึ่งมีประโยชน์มากในโอวาท ๑๐ ข้อนี้ ในการครองเรือน จึงขอนำพระธรรมในบทนี้มาครับ

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 89

โอวาท ๑๐ ข้อของเศรษฐี

ฝ่าย (ธนญชัย) เศรษฐีนั้น สอนธิดาอย่างนั้นแล้ว ให้โอวาท ๑๐ ข้อนี้ว่า "แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก, ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน, พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมเทวดาภายใน"

ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก คือ เมื่อรู้ว่า บิดาของสามี และมารดาของสามี ไม่ดีอย่างไร ไม่ควรเอาเรื่องนั้นไปพูดให้คนข้างนอกฟัง รวมทั้งความประพฤติของสามีด้วย ก็ไม่ควรไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง เพราะทำให้มีแต่เรื่อง เพราะเป็นเหมือนไฟที่ร้อน

ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน คือ เมื่อคนอื่นพูดถึงความไม่ดีของบิดาของสามี และมารดาของสามี รวมทั้งตัวสามีเอง ก็ไม่ควรมาพูดให้คนในครอบครัวฟัง

พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น คือ เมื่อใครยืมเงินหรือสิ่งหนึ่งกับเราไป เขาใช้คืน เราก็ควรให้เขาอีกได้ ถ้าเขามายืมต่อ

ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ คือ เมื่อเราให้ยืมแต่คนนั้นไม่ยอมคืน ทั้งที่มีอยู่ แถมมายืมต่อ ก็ไม่ควรให้กับคนที่ไม่ให้ คือ ไม่ใช้หนี้เสียก่อนครับ

พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้ คือ ถ้าญาติมิตรที่มา ยากจนมากจริงๆ ไม่ใช่แกล้งไม่ใช้หนี้ ดังนั้น หากเขามาขอความช่วยเหลือ แม้จะไม่ได้ใช้คืนหรือใช้คืน ก็ควรอนุเคราะห์เขาบ้าง ก็ควรครับ

พึงนั่งเป็นสุข คือ เมื่อเห็นมารดาบิดาของสามี ก็ไม่ใช่รีบลุกหนีไป มีใจยินดี จึงนั่งเป็นสุขกับมารดาบิดาของสามีครับ

พึงบริโภคเป็นสุข คือ ทานทีหลังมารดาบิดาของสามีและสามี โดยตัวเองทำกิจมีการช่วยเหลือ เตรียมอาหาร เป็นต้น และตนเองจึงทานทีหลังครับ

พึงนอนให้เป็นสุข คือ ภรรยาไม่ควรนอนก่อน แต่นอนทีหลัง ทำกิจหน้าที่ให้ดีในการบำรุงมารดาบิดาของสามีและสามี เมื่อเรียบร้อยจึงนอนทีหลังครับ

พึงบำเรอไฟ คือ เคารพบูชามารดาบิดาของสามี เหมือนกองไฟที่ควรเคารพครับ

พึงนอบน้อมเทวดาภายใน คือ เห็นมารดาบิดาของสามีเหมือนเทวดา ที่ควรทำการนอบน้อมไม่เย่อหยิ่ง และเคารพอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

อีกประการหนึ่ง ไม่ว่าจะครองเรือนหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่ควรสะสม อบรม คือความดีประการต่างๆ มีการให้ทาน รักษาศีล และอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน และหากได้มีโอกาสะสมความดี โดยเฉพาะปัญญาแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมทำให้เป็นเครื่องดำเนินไปในทางที่ถูก แม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันและการกระทำกับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา เพื่อน และบิดามารดา ก็ถูกต้องตามไปด้วย ตามปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเองครับ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม จึงมีอุปการะมากกับการดำเนินชีวิต ทั้งผู้ที่ครองเรือนหรือไม่ครองเรือน ครับ เพราะนำมาซึ่งปัญญา และปัญญาย่อมทำให้การประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงประเสริฐสูงสุดครับ

สวัสดีปีใหม่ทุกๆ ท่าน ครับ ขอให้ได้มีโอกาสกระทำกุศลมากขึ้น และมั่นคงในการอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรมทุกๆ ท่านนะครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tookta
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงนะคะ ที่อธิบายให้เข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การมีคู่ครอง (การแต่งงาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และไม่พ้นไปจากธรรมด้วย เพราะสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันเป็นธรรมทั้งหมด ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้อย่างหมดสิ้น โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ในชีวิตประจำวันก็ไม่ได้มีเฉพาะโลภะหรืออกุศลธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป โอกาสของกุศลธรรมก็มีด้วย ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะน้อมไปในทางที่เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน ความประพฤติที่ดีงามทั้งหลายทั้งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างครบถ้วน แม้แต่การครองเรือน การมีชีวิตคู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ว่าผู้ที่เป็นสามีพึงปฏิบัติตนอย่างไร ผู้ที่เป็นภรรยาจะพึงปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะเป็นการประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อน (ตามที่ปรากฏในความคิดเห็นที่ ๑) ถ้าทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต่างก็เป็นคนดีทั้งคู่ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ก็เป็นการอยู่ร่วมกันของคนดีทั้งคู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าเป็นชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ตายไปจากคุณความดี ดังข้อความจากปฐมสังวาสสูตร

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากพระไตรปิฎกเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

การอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา [ปฐมสังวาสสูตร]

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตแต่ละภพในแต่ละชาตินั้น สั้นแสนสั้น ไม่ได้ยั่งยืนนาน ในที่สุดแล้วทุกคนจะก็จะจากโลกนี้ไป ทอดทิ้งกันและกัน ด้วยความตายที่เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงในชีวิต คือกุศลธรรม ความดีทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก อันเกิดจากการฟังพระธรรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และปัญญานี้เอง จะเป็นแสงสว่างของชีวิตนำทางให้แต่ละชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นกุศลธรรม (ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในฐานะใดก็ตาม) ถอยออกห่างจากอกุศลธรรม มากยิ่งขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 1 ม.ค. 2555

กระผมจำได้สั้นๆ ว่า จะครองเรือนให้มีความสุข ต้องมีธรรมะที่ "สมกัน" ๔ ข้อ คือ

๑. ศรัทธาสมกัน (สมสัทธา)

๒. ศีลสมกัน (สมสีล)

๓. จาคะสมกัน (สมจาค)

๔. ปัญญาสมกัน (สมปัญญา)

ขอ "อาราธนา" ท่านผู้รู้ช่วยไขความเป็นธรรมทาน แก่ท่านผู้ตั้งกระทู้ และสาธุชนทั่วไปด้วยครับ

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ธรรม ๔ ประการ ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าชอบใจ อันนำมาซึ่งความสุข สำหรับผู้ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้ คือ ศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา นั่นคือ อาศัยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมมีการทำกุศล เจริญกุศลธรรมประการต่างๆ และมีปัญญาด้วย ก็ทำให้มีการดำเนินชีวิตถูกต้อง และมีความสุขและนำมาซึ่งความสุข เพราะผลของกุศล และขณะที่กุศลจิตเกิด นำมาซึ่งความสุขครับ

ซึ่งจากข้อความที่กล่าวมา อยู่ในปัตตกัมมสูตร ที่แสดงว่า ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความชอบใจ สำหรับผู้ประพฤติธรรมนี้ครับ เพราะฉะนั้น การครองเรือนที่ดี ที่ประเสริฐ ก็ต้องอาศัยกุศลธรรมประการต่างๆ มี ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา นาวาเอกทองย้อย ที่ยกพระธรรมมาประกอบในเรื่องนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 2 ม.ค. 2555
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nopwong
วันที่ 29 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Komsan
วันที่ 23 ต.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ