ความเห็นผิดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  19 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20196
อ่าน  5,974

พระธรรมเทศนาเตือนสติสำหรับผู้ที่ได้ยินได้ฟังอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของผู้นั้น แต่ว่าจิตใจของคน เป็นไปตามการสะสม สะสมมาไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ตรัส แต่เพราะกิเลสที่สะสมหมักหมมอยู่ในจิตมาอย่างเนิ่นนานนี้เอง ทำให้ไม่มีความเลื่อมใส ไม่เกิดศรัทธาที่จะน้อมรับฟังด้วยดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิเลสมีกำลังที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิเลส คือความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว วาจาก็ผิด การกระทำทางกายก็ผิด ทุกอย่างย่อมผิดไปหมด

ความเห็นผิด จึงเป็นอันตรายมาก ถ้าความเห็นของแต่ละบุคคลคลาดเคลื่อนไป ผิดไปไม่ตรงกับความเป็นจริง ทุกอย่างก็จะผิดไปด้วย โดยที่สิ่งที่ผิดก็จะเห็นว่าถูก สิ่งที่ถูกก็จะเห็นว่าผิด นี่แหละคือความเห็นผิดซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย เป็นไปเพื่อความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลยทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลธรรมเจริญขึ้น ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นเป็นการขัดเกลาละคลายความเห็นผิดรวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ขณะที่กุศลธรรมเกิด อกุศลธรรมจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และความเห็นผิดจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้นความเห็นผิดจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ในขณะนี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์แสดงไว้ว่ามีโทษมาก อันตราย เพราะความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้คิดผิด (มิจฉาสังกัปปะ) คือ คิดติดข้องในสิ่งต่างๆ (กามวิตก) คิดเบียดเบียนผู้อื่น (วิหิงสาวิตก) คิดปองร้ายผู้อื่น (พยาบาทวิตก) เมื่อคิดผิด ก็ทำให้มีวาจาที่ผิด (มิจฉาวาจา) คือ พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียดและพูดเพ้อเจ้อ และเพราะเห็นผิด การกระทำทางกายก็ผิด (มิจฉากัมมันตะ) คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น และทำให้มีอาชีพที่ผิด (มิจฉาอาชีวะ) มีความเพียรที่ผิด ที่เป็นไปในอกุศล (มิจฉาวายามะ) มีความระลึกผิด มีความตั้งมั่นผิด และทำให้สิ่งต่างๆ และอกุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้น เพราะมีความเห็นผิดครับ ความเห็นผิดจึงมีโทษมาก เพราะไม่สามารถทำให้สัตว์หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ และนำมาซึ่งทุกข์โทษประการต่างๆ มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้นครับ

หากเราเข้าใจความจริงว่าความเห็นผิดเป็นสภาพธรรม ไม่ว่าเกิดกับใครก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่ไม่มีใครหรือบุคคลใดที่เห็นผิด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ทำหน้าที่ให้ไม่รู้ความจริงและเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเข้าใจดังนี้จึงเห็นใจและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น คือความเห็นผิดที่เกิดกับใครก็ตามและอนุเคราะห์เท่าที่ทำได้ แต่ไม่เสพคุ้นครับ

ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงมิจฉาทิฏฐิที่ทำให้มีการทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อกุศลธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มานะ อคติ (ความลำเอียง) และอกุศลธรรมประการต่างๆ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้การกระทำทางกาย วาจา และใจ ไม่ตรงตามความเป็นจริงและเป็นไปในอกุศลธรรม ผู้ที่เห็นโทษของกิเลส จึงศึกษา อบรมปัญญา และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น กาย วาจาและใจก็น้อมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมีความเห็นถูกเป็นปัจจัยสำคัญครับ ซึ่งจะมีความเห็นถูกได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความแยบคายและด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้องครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

หากศึกษาไม่ละเอียด จะทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้

มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jaturong
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐินั้น มีโทษมากอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ย่อมทำให้การกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจก็ผิดไปทั้งหมด และถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลังเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดที่ดิ่ง) แล้ว ไม่สามารถจะแก้ไขได้เลย มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแน่นอน ยากที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ ความเห็นผิดตรงกันข้ามกับความเห็นถูกอย่างสิ้นเชิง ความเห็นถูกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ามีความเห็นถูก กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูกด้วย ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่สุคติ คือมนุษย์ภูมิและสวรรค์ และสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิด กาย วาจา และใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ผลที่จะเกิดขึ้น คือเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ความเห็นถูกจะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการศึกษา การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยความละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ด้วยความจริงใจด้วยครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sam
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 21 ธ.ค. 2554

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 20

พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมิจฉาทิฏฐิต่อไป.

สภาวะที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เห็นตามความไม่เป็นจริง. ที่ชื่อว่า ทิฏฐิคตะ (ความเห็นไปข้างทิฏฐิ) เพราะอรรถว่า ความเห็นนี้เป็นไปในทิฏฐิทั้งหลาย เพราะเป็นสภาวะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒. เนื้อความแห่งทิฏฐิแม้นี้ ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหลังนั่นแหละ. ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิคหณะ (ป่าชัฏคือทิฏฐิ) เพราะอรรถว่า ก้าวล่วงไปโดยยาก เหมือนชัฏหญ้า ชัฏป่า ชัฏภูเขา ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิกันดาร (กันดารคือทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่า น่าระแวงและมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารน้ำ กันดารทุพภิกขภัย. ที่ชื่อว่า ทิฏฐิวิสูกายิกะ (ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่าขัดแย้งและทวนกับสัมมาทิฏฐิ.

ผู้ที่มีความเห็นผิด ย่อมลูบคลำข้อปฏิบัติผิด เป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย เพราะหนทางปฏิบัติที่ถูกต้องเริ่มจากมีความเห็นถูกคือสัมมาทิฏฐิ ดังนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิดจึงเป็นตอของวัฏฏะ

... ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
bou
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
surat
วันที่ 23 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 3 พ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 พ.ย. 2559

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ