การให้ทาน ที่ประกอบด้วยปัญญา

 
guy
วันที่  10 ส.ค. 2554
หมายเลข  18918
อ่าน  5,924

เรียนถามเรื่องการให้ทานที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

ขณะนั้นมีความเห็นว่าอย่างไรถึงจะถูกต้องครับ ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ

ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้ด้อยปัญญาด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความดีที่เป็นกุศล นั้น ยังแบ่งเป็นประเภทใหญ่อีกประเภทคือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กุศลเมื่อแบ่งเป็นระดับของกุศลก็มี กุศลขั้นทาน ศีลและภาวนา สำหรับกุศลขั้นภาวนานั้น ที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอครับ เช่น สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าจะอบรมความสงบที่เป็นกุศลจิตอย่างไรให้เกิดได้บ่อยๆ จนตั้งมั่น ส่วนกุศลที่เป็นวิปัสสนาภาวนาก็ต้องมีปัญญาเช่นกัน คือ มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ส่วนกุศลที่เป็นขั้นทานและศีลนั้น ก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาครับ

สำหรับคำถามที่ถามว่า

การให้ทานที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกขณะนั้นมีความเห็นว่าอย่างไรถึงจะถูกต้องครับ ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ

ตามที่กล่าวแล้วนะครับว่ากุศลขั้นทาน มีทั้งที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา ปกติทุกคนก็มีการให้ทาน ซึ่งบางครั้งก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วยและไม่เกิดร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ให้ทานกับขอทาน ก็สงสารจึงให้ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นถูก คือ ปัญญาอะไรในขณะนั้น เพียงแต่มีจิตอนุเคราะห์เท่านั้นจึงให้ไป ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ส่วนปัญญา คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรมว่ามีจริง นี่ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาก็อย่างหนึ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ซึ่งในข้อความพระไตรปิฎกได้อธิบายทานที่ประกอบด้วยปัญญาว่า ปัญญาใด อันสัมปยุตด้วยเจตนาในทาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ปัญญานี้ ชื่อว่า ทานมยปัญญา

ความหมาย คือ ปัญญาที่เกิดกับเจตนาที่ให้ทาน ปัญญาที่เกิดร่วมกับเจตนาให้ทานนั้นเป็น กุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญาเรียกว่า ทานมยปัญญา ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจละเอียดอีกต่อไปว่า เจตนาในการให้ มี 3 กาล คือ เจตนาก่อนที่จะให้ (ปุพพเจตนา) เจตนาขณะที่กำลังให้ (มุญจนเจตนา) เจตนาหลังจากให้แล้ว (อปรเจตนา) ดังนั้น ปัญญาใดที่เกิดร่วมกับเจตนา 1 ใน 3 กาล คือก่อนให้ ขณะให้ หลังให้ก็ชื่อว่าเป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ..ทานมยปัญญา [วิภังค์]

ซึ่งผู้ถามให้ยกตัวอย่าง ก็เป็นดังนี้ครับ เช่น ทานที่มีปัญญาที่เกิดร่วมกับเจตนาก่อนให้ เช่น ก่อนที่จะให้ก็คือว่า การให้ทานครั้งนี้มีผล เพราะการกระทำดีมีจริง และย่อมให้ผลด้วย (ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม) เมื่อคิดด้วยความเห็นถูกอย่างนี้ก่อนที่จะให้ จึงได้ให้ทาน นี่คือ กุศลเจตนาก่อนที่จะให้ ประกอบด้วยปัญญาครับ

อีกตัวอย่าง ก่อนจะให้ พิจารณาว่าควรที่จะให้เพื่อสละกิเลสคือความตระหนี่ การคิดด้วยปัญญาที่เห็นโทษของกิเลสก่อนที่จะให้ ก็เป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญา และขณะที่ให้ ก็มีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้นเป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญาครับ เป็นต้น นี่คือกุศลขั้นทานที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ซึ่งสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็จะเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วยเพราะปัญญาที่เจริญขึ้น รวมทั้งกุศลที่ทำก็ประกอบด้วยความเห็นถูกด้วยครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศลจิต ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และ ประกอบด้วยปัญญา และควรที่จะได้พิจารณาว่า ปัญญา เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่เคยสะสมปัญญามาเลย ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ แต่เพราะได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เข้าใจในเหตุในผลของธรรม ปัญญาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้แต่ในขณะให้ทาน ก็เช่นเดียวกัน ปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าการให้ทานมีผล การให้ทานเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประเสริฐยิ่ง เพราะประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตในชีวิตประจำวัน เกิดน้อยมาก และยิ่งก็กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ยิ่งน้อยกว่านั้นอีก แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังดีกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ทุกคนสามารถที่จะอบรมเจริญให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นี้แหละ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก และยังจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย ในเรื่องของทาน การสละวัตถุสิ่งของ สละกิเลส สละความตระหนี่ของตนเอง ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ประพฤติในสิ่งทีดีงามในชีวิตประจำวัน และเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ฟัง ได้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะเห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้เข้าใจขึ้น ก็คือ ฟังต่อไป เมื่อสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ ซึ่งสติปัฏฐาน ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา อีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 10 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
guy
วันที่ 12 ส.ค. 2554

กราบอนุโมทนาครับ เรียนถามว่า แล้วจะต่างจากทานบารมีไหมครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 12 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

การจะเป็นบารมีได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่มีความเห็นถูก ที่เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของสังสารวัฏฏ์ จึงมีปัญญาความเห็นถูก ที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อละกิเลส และถึงการไม่เกิดอีก กุศลที่เจริญนั้น จึงจะเป็นบารมี ถ้าไม่มีปัญญาความเห็นถูก กุศลที่เจริญ จะเป็นบารมีไม่ได้เลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อถึงฝั่งคือการดับกิเลสครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นบารมี ครับ

ดังนั้นกุศลใดที่มีความเห็นถูก มีปัญญาเป็นพื้นฐาน เช่น การให้ทาน ปกติก็มีการให้ทาน แต่กุศลขั้นทานนั้นเป็นบารมีก็ได้ ไม่เป็นบารมีก็ได้ครับ หากให้ทานเฉยๆ ไม่ได้เห็นโทษของกิเลสและไม่เป็นไปเพื่อมุ่งดับกิเลสอันเกิดจากปัญญาก็เป็นกุศลขั้นทาน แต่ไม่เป็นทานบารมี คือ กุศลขั้นทานอันเป็นไปเพื่อถึงฝั่งคือดับกิเลส ศาสนาอื่น คนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็มีการทำทาน ทำกุศลประการต่างๆ แต่กุศลนั้นไม่เป็นบารมี เพราะไม่ได้มีความเห็นถูก ไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานในการที่จะดับกิเลสครับ และไม่รู้จักหนทางดับกิเลส เมื่อเป็นเช่นนั้นกุศลที่ไม่มีปัญญารู้หนทางดับกิเลสและเห็นโทษของกิเลส กุศลที่เจริญนั้นจึงไม่เป็นบารมีครับ เพราะไม่สามารถทำให้ถึงการดับกิเลสได้เลย เพราะขาดปัญญาความเข้าใจถูกในการดับกิเลสครับ ส่วนกุศลใดที่เจริญเพราะมีความเข้าใจหนทางในการดับกิเลส จึงเจริญกุศลประการต่างๆ มี ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา กุศลที่มีความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐานจึงเป็นบารมีทั้งหมดครับ

ดังนั้น กุศลใดจะเป็นบารมีหรือไม่ สำคัญที่มีความเข้าใจถูก หรือ มีปัญญาเข้าใจหนทางดับกิเลส และเห็นโทษของกิเลสหรือไม่ครับ บุญใดที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส บุญนั้นจึงเป็นบารมี บุญใดที่ไม่ไ่ด้มีความเห็นถูก หรือไม่มีปัญญา ไม่รู้หนทางดับกิเลส กุศลหรือบุญที่เจริญนั้นไม่เป็นบารมี ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Endeavor
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ตัวอย่างทานที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเป็นทานบารมีนั้น
ท่านจะเข้าใจได้มากขึ้น ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติและพิจารณาสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏอยู่ครับ

- ก่อนที่จะให้ทาน อาจมีโลภะที่มีความติด ยินดีพอใจในสิ่งของนั้นตามปกติ
แล้วสติก็อาจเกิดขึ้นระลึก และปัญญาพิจารณาสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏในขณะนั้น
อาจพิจารณาลักษณะที่ไม่เที่ยง หรือสภาพไม่ใช่ของของเรา (ความเป็นอนัตตา) ของจิตหรือทานนั้น แล้วน้อมไปเพื่อ มอบหรือสละ สิ่งนั้นให้แก่บุคคลอื่น เพื่อการละคลายการยึดติดสิ่งเหล่านั้นที่ได้ประจักษ์สภาพที่ไม่เที่ยงและเป็นอนัตตาแล้ว

เช่นเดียวกับศีล
- ตามปกติเวลาที่มีใครทำสิ่งที่ท่านไม่พอใจ ในระหว่างนั้น มีสติเกิดขึ้นพิจารณารูปธรรมและนามธรรมที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้ว..ดับไปแล้ว ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านั้นเป็นสาระสำคัญ ท่านก็มีกุศลจิตละกายทุจริต วจีทุจริต ในขณะนั้นก็เป็นกุศลขั้นศีลที่ประกอบด้วยสติและปัญญา

ความจริงแล้ว ตัวอย่างเหล่านี้ก็เป็นการอธิบายการพิจารณาธรรมะตามปกติของผู้ที่เจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันนั่นเองครับ
ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด ก็พึงมีสติเกิดระลึก และปัญญาเกิดขึ้นพิจารณาสิ่งที่ปรากฏเพื่อน้อมไปในกุศล ซึ่งไม่ควรเป็นไปเพื่อการหวังผลมาก หวังอานิสงส์มาก
แต่ควรเป็นไปเพื่อการสละ และ ละคลายความติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ สะสมไปจนกระทั่งวันหนึ่งท่านสามารถตัดเยื่อใยที่ติดข้องสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาได้หมดสิ้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 13 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
aurasa
วันที่ 13 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Sam
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ผมเข้าใจว่าปัญญามีหลายระดับ เช่น ความเข้าใจในกรรมและผลของกรรม ปัญญาในสมถภาวนาอันเป็นไปเพื่อความสงบ และปัญญาในหนทางดับกิเลส ดังนั้น ทานที่เกิดพร้อมปัญญาที่จะเป็นทานบารมี ควรจะเป็นทานที่เกิดพร้อมปัญญาในหนทางดับกิเลสเท่านั้นครับ ส่วนทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาไม่อาจเป็นทานบารมีได้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
guy
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาและขอบพระคุณกับทุกท่านที่ให้ความกระจ่างยิ่งนักครับ

ผมจะเพียรสะสมปัญญาให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกและหมั่นฟังธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 14 ส.ค. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18918 ความคิดเห็นที่ 10 โดย K

ผมเข้าใจว่าปัญญามีหลายระดับ เช่น ความเข้าใจในกรรมและผลของกรรม ปัญญาในสมถภาวนาอันเป็นไปเพื่อความสงบ และปัญญาในหนทางดับกิเลส ดังนั้น ทานที่เกิดพร้อมปัญญาที่จะเป็นทานบารมี ควรจะเป็นทานที่เกิดพร้อมปัญญาในหนทางดับกิเลสเท่านั้นครับ ส่วนทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาไม่อาจเป็นทานบารมีได้เลย

บารมี ที่เป็นทานบารมี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นปัญญาที่เกิดในขณะที่ให้ทานเท่านั้นครับ ทานนั้นจึงจะเป็นทานบารมี แต่ทานใดก็ตามที่เป็นไปด้วยความเข้าใจที่จะดับกิเลส เห็นโทษของกิเลส จึงให้เพื่อที่จะดับกิเลส ถึงพระนิพพาน แม้ในขณะนั้นจะไม่ใช่ทานที่เกิดร่วมกับปัญญาที่เป็นหนทางดับกิเลส คือสติปัฏฐาน แต่ทานนั้นก็เป็นบารมีได้ เพราะเป็นความเข้าใจถูกที่จะดับกิเลส เพื่อถึงพระนิพพานจึงให้ทานเพื่อเป็นปัจจัย คือ การดับกิเลสในอนาคต ทานนั้นจัดเป็นทานบารมีเช่นกัน ดังเช่น พระเวสสันดร ท่านให้ทาน ปรารภถึงการดับกิเลส ให้ลูก ให้ภรรยา เพื่อถึงการดับกิเลสด้วยตนเอง ขณะนั้นพระเวสสันดรไม่มีสติปัฏฐานเกิดในขณะที่ให้ทานแน่นอนครับ แต่ขณะนั้นก็มีปัญญาที่ให้ทาน ให้ลูก ภรรยา เพื่อดับกิเลส เป็นทานบารมีที่เป็นทานอุปบารมีครับ

ในบางพระชาติพระโพธิสัตว์เกิดป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ก็อบรมบารมีได้เช่นกัน เช่น ชาติที่กระต่าย ชื่อ สสบัณฑิต เมื่อวันพระ มีพราหมณ์มาขออาหารจากพระโพธิสัตว์ที่เป็นกระต่าย รักษาศีลในวันพระอยู่ พระโพธิสัตว์คิดว่าเราไม่มีอาหารอะไรเลย เราจะให้พราหมณ์ผู้มาขออย่างไร ท่านจึงสละชีวิต ท่านกระโดดเข้ากองไฟให้พราหมณ์ได้กินตัวท่าน ทานนั้นจัดเป็นทานบารมี ที่เป็นทานปรมัตถบารมี สูงสุดในการบริจาค สูงสุดในความเป็นบารมีในขั้นทานครับ เพราะท่านสละชีวิตเพื่อดับกิเลสในอนาคต แน่นอนครับว่าท่านสติปัฏฐานไม่เกิด แต่ก็มีปัญญาที่เห็นโทษของการเกิด จึงทำกุศลคือสละชีวิต ให้ทาน จึงเป็นทานบารมีได้ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

ดังนั้นแม้ชาติืที่ไ่ม่ได้อบรมปัญญา ชาติที่ไม่ได้เจอพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นโอกาสของการเกิดสติปัฏฐาน หรือ เข้าใจหนทางดับกิเลส ซึ่งชาติเหล่านั้นมีมากกว่าชาติที่ได้พบพระพุทธศาสนาและได้อบรม เข้าใจหนทางดับกิเลส แต่แม้ชาติที่ไม่เจอพระพุทธศาสนาและไม่เกิดสติปัฏฐาน ก็สามารถเจริญ อบรมบารมี มี ทานบารมีได้ หากมีความเข้าใจถูกที่เห็นโทษของกิเลส และเห็นโทษของการเกิด จึงทำกุศลเพื่อมุ่งดับกิเลส เพื่อถึงพระนิพพานได้ครับ เป็นบารมีเช่นกัน แม้ในกุศลขั้นศีลที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนาคราช แล้วออกจากที่อยู่ของท่าน ละสมบัติในนาคภิภพเพื่อรักษาศีล ก็เป็นเนกขัมมะบารมีเช่นกันครับ

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 367

อาฬาระในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรในครั้งนี้. พระเจ้าพาราณสี คือพระอานนท์เถระ. สังขปาลนาคราช คือพระโลกนาถ.

การบริจาคสรีระ ของนาคราชนั้นเป็นทานบารมี. การที่นาคราช ผู้ประกอบด้วยเดชเป็นพิษเห็นปานนั้น เมื่อมีการเบียดเบียนก็ไม่ทำลายศีล ชื่อว่า ศีลบารมี. การละโภคสมบัติเช่นกับโภคสมบัติของเทพ แล้วออกจากนาคพิภพ บำเพ็ญสมณธรรม ชื่อว่า เนกขัมมบารมี. การเตรียมตัวว่าควรทำประโยชน์มีทานเป็นต้น และสิ่งนี้ๆ ชื่อว่า ปัญญาบารมี.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Sam
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณและอนุโมทนาคุณผเดิมที่แสดงธรรมครับ ขอเรียนว่าที่ผมใช้คำว่าปัญญาในหนทางการดับกิเลสนั้น มิได้มุ่งหมายถึงปัญญาในสติปัฏฐานเท่านั้นครับ แต่รวมถึงปัญญาขั้นต้นตั้งแต่ความเข้าใจว่าทานเป็นบารมีหนึ่งที่ช่วยนำสัตว์ให้ถึงฝั่ง

ขออนุญาตถามความชัดเจนขึ้นครับว่า ทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นทานบารมีหรือไม่ครับ ขออนุญาตถามในกรณีของผู้ที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

จากคำถามที่ว่า

ทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นทานบารมีหรือไม่ครับ ขออนุญาตถามในกรณีของผู้ที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ด้วยนะครับ

-------------------------------------------------------------------

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์แต่ก็ต้องมีการสะสมกุศลธรรมประการต่างๆ ที่เป็นบารมี เพราะต้องถึงฝั่งคือการดับกิเลสเช่นกันครับ ซึ่งกุศลบางประเภทก็เป็นบารมี บางประเภทไม่เป็นบารมีก็ได้ครับ ผู้ที่ทำบุญ ทำกุศลและเห็นโทษของกิเลส โดยทำบุญน้อมไปเพื่อถึงการดับกิเลส อันมีปัญญาที่เห็นโทษของการเกิด บุญของผู้นั้นแม้ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ อันนี้เป็นบารมี แต่กุศลขั้นทานนั้นเป็นบารมีก็ได้ ไม่เป็นบารมีก็ได้ครับ หากให้ทานเฉยๆ ไม่ได้เห็นโทษของกิเลส และไม่เป็นไปเพื่อมุ่งดับกิเลสอันเกิดจากปัญญา ก็เป็นกุศลขั้นทานแต่ไม่เป็นทานบารมี คือ กุศลขั้นทานอันเป็นไปเพื่อถึงฝั่งคือดับกิเลส ศาสนาอื่น คนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็มีการทำทาน ทำกุศลประการต่างๆ แต่กุศลนั้นไม่เป็นบารมีเพราะไม่ได้มีความเห็นถูก ไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานในการที่จะดับกิเลสครับ และไม่ได้เห็นโทษของการเกิด และไม่ได้ทำบุญเพื่อมุ่งที่จะดับกิเลส ดับการเกิดครับ กุศลนั้นไม่เป็นบารมีครับ

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 474 ว่าด้วยทำบุญต้องมุ่งนิพพาน

[๘๒๖] คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่านรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน.

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 18 ส.ค. 2554

ขอบคุณครับขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
วิริยะ
วันที่ 19 ส.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
guy
วันที่ 21 ส.ค. 2554

ขอบคุณมากครับ ขออนุโมทนากับทุกท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
peem
วันที่ 24 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ