เป็นปาณาติบาตหรือไม่

 
แสงจันทร์
วันที่  10 ส.ค. 2554
หมายเลข  18921
อ่าน  2,148

ผมฟังวิทยุพื้นฐานอภิธรรมตอน ๒๕๐ เรื่องการถอดเครื่องหายใจไม่ค่อยเข้าใจว่าเป็น

ปาณาติบาตหรือเปล่าอยากให้ท่านขยายเพิ่มเติมหน่อยว่าเป็นหรือไม่ เป็นอย่างไร

เพราะผมเคยได้ยินพระรูปหนึ่งท่านตอบว่า เหตุที่สัตว์ตายมี ๔อย่าง ๑.สิ้นกรรม ๒.สิ้น

อายุ ๓.สิ้นทั้งกรรมสิ้นทั้งอายุ ๔.มีกรรมไปตัดรอ น ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าท่านไม่มี

ทางท่านรับรู้แล้วและไม่สามารถกลับมารับรู้ได้อีก คือชีวิตรูปไม่สามารถดำรงอยู่ได้แล้ว

แต่เพราะเครื่องช่วยหายใจช่วยไว้ ถ้าหมอพิจารณาเห็นว่าเขาสิ้นกรรมหรือสิ้นอายุแล้ว

ตั้งจิตเป็นอุเบกขาว่าสัตว์ย่อมมีกรรมเป็นของๆ ตนแล้วถอดเครื่องช่วยหายใจ จะเหมือน

ภริยาของนายพรานชื่อว่ากุกกุมิตรที่เป็นพระโสดาบันหยิบเครื่องมือฆ่าสัตว์ให้สามีหรือ

เปล่า ช่วยอธิบายหน่อยนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดอย่าง ยิ่งในเรื่องการถอดเครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะที่กล่าวว่า หมอรู้ว่าเขาสิ้นกรรม สิ้นอายุแล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ "จุติจิต"คือ การตายของสัตว์ได้หรอกครับ ว่า จะเกิดตอนไหน และจะเกิดเพราะอะไร

การสิ้นบุญ สิ้นกรรม หรือ กรรมตัดรอน นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่รู้วาระจิตในอนาคต และรู้ว่าทำกรรมอะไรมา และจะสิ้นกรรมตอนไหน ดังนั้นตัวหมอเอง จะไปวินิจฉัยในเรื่องนี้เอง ด้วยความคิดของปุถุชน ที่ไม่ใช่ปัญญาของพระพุทธเจ้า นั่น ไม่ใช่ฐานะเลยครับ ที่จะรู้ได้ ว่าเพราะสิ้นบุญ สิ้นกรรมแล้ว ที่สำคัญ ขณะที่คิดว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ก็ขณะหนึ่ง ขณะจิตหนึ่ง แต่เจตนาที่ให้เขาจากไป โดย ขณะที่ถอดเครื่องช่วยหายใจ ก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่งครับ จึงเอามาปนกันไม่ได้ครับ เจตนาให้จากไป ก็คือจากไป และโดยการถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่ความหวังดี หรือ ความวางใจเป็นกลาง ก็คนละขณะจิต เอามาปนกันไม่ได้ครับ

ส่วนในการเปรียบเทียบเรื่องภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตรที่เป็พระโสดาบัน แน่นอน

ครับว่า ภรรยาที่เป็นพระโสดาบันไม่มีเจตนาฆ่าแน่นอน และท่านก็หยิบเครื่องมือให้นาย

พราน ไม่ใช่ท่านเป็นคนลงมือฆ่าสัตว์ใช่ไหมครับ หากนายพรานบอกกับภรรยาผู้เป็นพระโสดาบันว่า เธอจงฆ่ากวางตัวนี้ ท่านจะทำไหม.? ไม่ทำแน่นอนครับ เพราะเป็นการลงมือฆ่าเอง ย่อมเป็นปาณาติบาต แม้ด้วยเหตุแห่งชีวิต ท่านก็ยอมตายไม่ยอมกระทำเองครับ

โดยนัยเดียวกัน แพทย์เป็นคนลงมือถอดเครื่องช่วยหายใจเองครับ ไม่ใช่เป็นการส่ง

เครื่องมือแล้วให้ผู้อื่นทำ เหมือนเรื่อง ภรรยาของนายพราน ที่นายพรานสั่งให้หยิบ

เครื่องมือ แต่ภรรยาไม่ได้เป็นคนฆ่าครับ การถอดเครื่องช่วยหายใจก็เช่นกันครับ หมอ

ทำหรือสั่งให้ทำ ก็เป็นการลงมือ หรือ สั่งเอง ก็เหมือนกับเป็นตัวนายพรานที่ทำเอง ไม่ใช่เป็นภรรยาของนายพรานครับ พระธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด

ซึ่งลองอ่านกระทู้นี้จะอธิบายเรื่องการถอดเครื่องช่วยหายใจไว้โดยละเอียดครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ..ควรถอดสายอ๊อกซิเจนให้บุพการีจากไปหรือไม่ค่ะ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แสงจันทร์
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ในตติยปราชิกที่ว่า "ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราเพื่อ

ปลงชีวิตให้กับกายมนุษย์นั้น หรือพรรณาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วย

คำว่าแน่ะนายผู้เป็นชาย มีประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันชั่วนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

ดังนี้เธอมีจิตใจ มีจิตดำริอย่างนี้ พรรณาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดึ โดย

หลายนัยแม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปราชิก หาสังวาสไม่ได้. แสวงหาศัสตราเพื่อปลงชีวิตให้กับ

กายมนุษย์ ยังจัดเป็นปาณาติบาต แล้วทำภริยาของนายพรานชื่อว่ากุุกกุมิตรไม่เป็น

เพราะอะไร อธิบายตรงนี้อีกนิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จากข้อความที่ได้ยกมานั้น จะมีคำที่ว่า ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือ

แสวงหาศัสตราเพื่อปลงชีวิตให้กับกายมนุษย์นั้น...จะเห็นนะครับว่า มีคำว่าจงใจ นั่น

คือมีเจตนาที่จะฆ่า จึงแสวงหาอาวุธเพื่อที่จะฆ่า ด้วยเจตนาที่จงใจ ตั้งใจที่จะฆ่านั่นเอง

ครับ เท่ากับว่า มีเจตนาฆ่า จึงแสวงหาอาวุธเพื่อฆ่าครับ ต่างกับกรณีของภรรยาของ

นายพรานที่เป็นพระโสดาบัน ที่นายพรานให้หยิบอาวุธ ท่านมีเจตนาหยิบทำตามคำสั่ง

ของสามี แต่ท่านไม่มีความคิด จงใจที่เป็นเจตนาฆ่าว่า เราจะหยิบอาวุธเพื่อให้สามีเรา

ไปฆ่าสัตว์เลยครับ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่มีเจตนาฆ่า เพียงแต่มีเจตนาหยิบส่งอาวุธไป

ให้สามี ทำตามคำสั่งเท่านั้นครับ ต่างจากข้อความที่ยกมาข้างต้น มีคำว่า จงใจพราก

กายมนุษย์ มีคำว่าจงใจ ตั้งใจ ที่เป็นเจตนาฆ่าครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แสงจันทร์
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ในส่วนของภริยานายพรานกุกกุมิตร ในอรรถกถาธรรมบท ท่านแก้ว่านางตั้งจิตว่าเราไม่ได้

ปราถนาให้สัตว์เหล่านั้นตาย แต่เราปฏิบัติตามคำของสามีเรา ในกรณีที่แม่อนุญาติหรือ

พยักหน้าให้ถอดลูกๆ คิดว่าเราทำตามคำของแม่ได้ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แสงจันทร์
วันที่ 10 ส.ค. 2554

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 287

องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถ้าปัจจัยข้อที่ ๓ เปลี่ยนไปผมว่าน่าจะไม่ครบองค์
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

เรียนความห็นที่ 4 และ 5 ครับ

จากคำถามที่ว่า

ในส่วนของภริยานายพรานกุกกุมิตร ในอรรถกถาธรรมบท ท่านแก้ว่านางตั้งจิตว่าเราไม่

ได้ปราถนาให้สัตว์เหล่านั้นตาย แต่เราปฏิบัติตามคำของสามีเรา ในกรณีที่แม่อนุญาติ

หรือพยักหน้าให้ถอดลูกๆ คิดว่าเราทำตามคำของแม่ได้ไหมครับ

-----------------------------------------------------------------------

ในความเป็นจริง จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ถาม ลูกๆ ก็รู้ว่าแม่ชีวิตอยู่ได้

ด้วยเครื่องช่วยหายใจ และถ้าถอดก็ต้องสิ้นชีวิต แม่พยักหน้าให้ถอด ซึ่งเราก็รู้แน่ว่าถอด

ต้องตาย ก็ให้ถอด นี่เท่ากับว่ารู้อยู่ครับและก็สั่งให้ถอดครับ ก็เท่ากับว่าเป็นการสั่งให้มี

การถอด เป็นวจีทวารที่เป็นปาณาติบาต ต่างกับกรณีของภรรยานายพรานที่หยิบอาวุธ

ให้นั้น ตัวภรรยาเองไม่ใช่คนสั่งให้ฆ่า เหมือนกับลูกๆ ที่บอกให้ถอดเครื่องช่วยหายใจให้

แม่ ครับ ดังนั้นการทำตามคำของแม่ที่แม่พยักหน้า ไมไ่ด้หมายถึงจะไม่เป็นอนันตริย

กรรม เป็นปาณาติบาตนะครับ เพราะ ขณะที่มีเจตนาให้ถอดทั้งๆ ทีรู้อยู่ว่าแม่ต้องตาย

เพราะการถอด การสั่งให้ถอดก็เท่ากับมีเจตนาฆ่าครับ ดังเช่น เพื่อนเราบาดเจ็บหนัก

ทรมานมาก เรามีปืน เพื่อนบอกช่วยยิงที ทรมานมากเลย เราก็ทำตามคำสั่ง นั่นคือยิงปืน

เพื่อนตาย ถามว่าเป็นปาณาติบาตไหมครับ เพียงเพราะเราทำตามคำสั่งของเืพื่อน คำ

ตอบคือ เป็นปาณาติบาตเพราะทำตามเพื่อนเพื่อให้เพื่อนตาย การถอดเครื่องหายใจแม่

ทำตามแม่ ก็เพื่อให้แม่จากไปสบายเช่นกันครับ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ใช้หัวใจเทียมกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ผู้ป่วยนี้ต้อง

อาศัยไฟฟ้าคอยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่มีไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ หัวใจก็ทำ

งานเองไม่ได้ ก็ต้องหยุดเต้น ก็ต้องตายครับ ซึ่งก็ต้องมีแบตเตอรี่ในเครื่องมือนี้ ซึ่งคน

ไข้ก็ใช้เครื่องมือนี้อยู่หลายปี ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ต่อมาคนไข้ ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่

เพราะป่วยโรคอื่น ต้องทรมาน หรือมีปัญหาชีวิตอะไรก็ตามครับ จึงไม่อยากมีชีวิตอยู่

แล้ว จึงบอกให้ญาติ ถอดแบตเตอรี่ที่กระตุ้นหัวใจของเขาออก ซึ่งญาติก็รู้ว่าคนไข้คนนี้

อยู่ได้ด้วยแบตเตอรี่ที่กระตุ้นหัวใจเขา ถ้าไม่มีแบตเตอรี่ก็ต้องตายแน่ครับแม้คนไข้มี

ความต้องการจะตายก็ตาม แต่เมื่อถอด ญาติก็รู้อยู่ว่าถอดแบตเตอรี่ก็ต้องตาย ดังนั้นการ

ถอดก็เท่ากับมีเจตนาฆ่า เพราะทำตามความประสงค์ของคนไข้ คือ ไม่ให้มีชีวิตอยู่

การกระทำที่ให้เขาไม่มีชีวิตอยู่ จึงเป็นเจตนาฆ่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แสงจันทร์
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ครับ และไม่รู้ทำไมผมชั่งสงสัยจัง

โชคดีที่ยังมีคนชี้แนวทางขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 10 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมาก เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็น อกุศล และเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สภาพจิตที่เป็นอกุศล ที่มีเจตนาที่จะฆ่าผู้อื่นให้ตายไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม ย่อมเป็นอกุศลเจตนา ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลต่างๆ มากมาย ที่จะมาอ้างว่าทำไปเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ก็ตามเพราะขณะที่ฆ่า ก็คือ ฆ่า นั่นเอง อกุศลธรรม น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เป็นโทษ เป็นภัยให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น ซึ่งจะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ไม่เป็นไรที่สงสัยครับ หากสงสัยและถามและเข้าใจก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญาครับ

ขออนุโมทนาบุญที่คุณแสงจันทร์เป็นผู้ที่แสดงถึงความเป็นผู้สนใจธรรมและความ

เป็นผู้ตรงและสอบถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องครับ

ขออนุโมที่ร่วมสนทนาธรรมอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
แสงจันทร์
วันที่ 11 ส.ค. 2554

แสดงว่าถ้าจงใจฆ่า จึงเป็นปาณาติบาต แต่ถ้าไม่จงใจ เช่น ภิกษุชาวเมืองอาฬาวี ช่วยกันก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างส่งมีดขึ้นไป ภิกษุรูปบนรับไม่ดี ตกใส่หัวภิกษุรูปข้างล่างมรณะภาพ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้าๆ ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุทูลว่าไม่ได้จงใจ

ตรัสตอบว่า ไม่เป็นอาบัติ หรือกรณีที่ขับรถตอนกลางคืนแล้วชนแมลงตายติดหน้ารถ อย่างนี้ไม่เป็นปาณาติบาตใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 11 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

ถ้ามีเจตนาฆ่า จงใจฆ่าถึงจะเป็นปาณาติบาต แต่ ไม่มีความจงใจฆ่า ไม่มีเจตนาฆ่าก็ไม่เป็นปาณาติบาตครับ ซึ่งในพระวินัยบางตัวอย่าง จากที่ผู้ถามยกมา ในบางกรณีก็เป็น ปาณาติบาต เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุรูปนั้นทูลว่า ข้าพระองค์มีเจตนาให้เขาสิ้นชีวิต อย่างนี้จึงเป็นปาณาติบาต และท่านต้องอาบัติปาราชิกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แสงจันทร์
วันที่ 11 ส.ค. 2554

เจตนาหํ ภิกขเว กมฺมํ วทามิ

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว่า เจตนาเป็นตัวกรรม

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 ส.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนสอบถามเรื่อง เจตนา หรือ ความจงใจ นะครับ

ในทางโลก คือ ทางกฎหมาย มีคำอธิบายคำว่า "เจตนา" ไว้ว่า นอกจากจะจงใจโดย

ประสงค์ต่อผลแล้ว การกระทำใดๆ ที่อาจเล็งเห็นผลได้ ก็ถือได้ว่ามีเจตนา

เช่น จับคนว่ายน้ำไม่เป็นโยนลงน้ำ โดยไม่ได้ประสงค์จะให้ตาย แต่ก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่า

บุคคลนั้นย่อมตายได้แน่ ผิดกฎหมายฐานมีเจตนาฆ่า

ในทางธรรม ไม่ได้ประสงค์ที่จะให้ตาย แต่ก็เล็งเห็นได้ว่าอาจทำให้บุคคลนั้นตายได้

เป็นเจตนาในองค์ของปาณาติบาตหรือไม่ครับ

ในทางกฎหมายการงดการกระทำใดที่จะป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ถือว่าเป็นการกระทำ ดัง

นั้น หากมีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลว่า บุคคลหรือสัตว์จะต้องตายแน่ แต่

ก็ไม่ป้องกันตามหน้าที่ ตามสมควร

ตัวอย่างเช่น บิดามารดาป่วยหนัก แต่ลูกก็ปล่อยปะละเลยไม่นำท่านไปรักษาพยาบาล

โดยเล็งเห็นได้ว่าท่านต้องตายแน่ๆ ดังนี้ ทางกฎหมายผิดแน่ๆ

ในทางธรรม การงดเว้นการกระทำเช่นตัวอย่างข้างต้นเป็นองค์หนึ่งของการพยายามอัน

เป็นปาณาติบาตด้วยหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 11 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

จากข้อความที่ได้กล่าวมาทำให้ทราบว่า คำว่าเจตนาในทางโลก มุ่งหมายถึงผลของ

การกระทำด้วย ว่าถ้าผลออกมาไม่ดี จะอย่างไรก็แล้วแต่ก็ผิด แต่ในทางธรรม ไมได้มุ่ง

หมายที่ผลเป็นสำคัญ แต่สำคัญที่เจตนาแรกเริ่ม คือ มีเจตนาทีเป็นบาปหรือทุจริต มี

เจตนาฆ่าหรือไม่ ถ้าไม่มี แม้ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้สิ่งนั้นได้รับความเสียหาย หรือ สัตว์

ต้องตายก็ไม่ชื่อว่ามีเจตนาฆ่า เป็นปาณาติบาตครับ ยกตัอวย่างเช่น การที่เราตั้งใจจะ

ช่วยคนให้ว่ายน้ำ เจตนาหวังดี ก็โดยการโยนลงไปในน้ำเพราะเข้าใจว่า คนที่ตกลงไป

ในน้ำย่อมพยายามจะว่ายและทำให้มีโอกาสว่ายเป็นได้ง่ายขึ้นครับ เจตนาแรกที่ทำเป็น

เจตนาหวังดี ไม่ใช่เจตนาทุจริต ดังนั้นจึงไม่ใช่เจตนาฆ่าในขณะนั้น ไมได้เจตนาให้เขา

ตายที่จับโยนลงน้ำ แต่เมื่อโยนลงไป คนนั้นกลับจมน้ำตาย ดังนั้นการตายที่เกิดขึ้นก็

ต้องเป็นกรรมของเขาที่ทำมาครับ ส่วนการที่เราโยนไปนั้นไม่มีเจตนาฆ่าจึงไม่เป็น

ปาณาติบาตสำหรับเรา ส่วนสัตว์ก็ตายตามกรรมทีทำมา แต่ถ้าทางกฎหมายก็พิจารณา

ว่า มีเจตนาฆ่าหรือเพราะความประมาทเลินเล่อ ซึ่งทางธรรมกับกฎหมายในข้อนี้ ในเรื่อง

เจตนาของกฎหมายที่มุ่งหมายถึงผลด้วย ความหมายของเจตนาจึงตรงกันข้ามไม่เหมือน

กันครับ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ยกมาเรื่องรักษาบิดา มารดาที่ป่วยแล้วไม่ยอมรักษา ก็ต้องดูว่ามี

มีเจตนาอย่างไรเป็นสำคัญอีกเช่นกันการปล่อยปละละเลย เป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอนครับ

เท่ากับว่าไม่ประพฤติ จารีตศีล คือการกระทำที่ควรทำที่มีต่อมารดา บิดา แต่การไม่ทำ

ไมได้หมายความว่ามีเจตนาฆ่าครับ ต้องแยกกัน ดังนั้นการงดเว้นที่ไม่ทำเพราะกลัว

ลำบาก ไม่อยากจะทำ เจตนาขณะนั้นไมได้มีเจตนาฆ่า ดังนั้น จึงไม่ใช่ข้อที่มีจิตคิดจะ

ฆ่าและมีเจตนาฆ่าครับ แต่ถามว่าการกระทำนั้นแม้ไม่เป็นปาณาติบาต จะดีไหม ไม่ดี

แน่นอนครับ เหมือนเราเห็นสุนัขถูกรถชน แต่เราไม่ช่วยเพราะไม่อยากลำบาก ขี้เกียจ

ไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาฆ่าครับ ในขณะนั้นแต่จิตก็เป็นอกุศลเช่นกัน ในกรณีของพ่อ

แม่ที่ป่วยหนัก ถ้าลูกไม่ช่วยไม่ดี แต่ไม่มีเจตนาฆ่าในขณะนั้นครับ แต่ถ้าพ่อแม่ป่วยหนัก

และมีเจตนาที่จะให้พ่อแม่ตาย ก็มีจิตคิดจะฆ่าและก็มีความพยายามที่จะฆ่า เช่น ยกไปที่

ที่สกปรก ให้ติดเชื้อ อะไรทำนองนี้และมารดา บิดา ตายก็เป็นปาณาติบาตครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
wannee.s
วันที่ 11 ส.ค. 2554

ศีลของปุถุชนไม่มั่นคง ไม่เหมือนศีลของพระอริยบุคคล ท่านไม่มีทางล่วงศีล 5

แน่นอน ศีลของปุถุชนมีที่สุด เพราะชีวิต เพราะอวัยวะ เพราะทรัพย์ เพราะ

ญาติ เพราะยศ เพราะลาภ ฯลฯ ส่วนพระอริยบุคคล ศีลมั่นคง เช่น

พระราชาสั่งให้พระโสาบันฆ่าไก่ มาทำเป็นอาหาร พระโสดาบันยอมตาย ไม่ยอม

ฆ่าไก่ จนกว่าจะได้ไก่ที่ตายแล้ว จึงทำเป็นอาหารค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 ส.ค. 2554

เข้าใจได้ชัดเจนครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
แสงจันทร์
วันที่ 11 ส.ค. 2554

สิ้นความสงสัยในหัวข้อปาณาติบาต ขออนุโมทนากุศลจิตของท่านอาจารย์paderm และคณะที่อุตสาหะเอื้อเฟื้อในการถามตอบปัญหา และเผยแพร่พุทธศาสนาให้แก่ประชนทั่วไปผู้สนใจและแม้แต่พระภิกษุเองก็หลายรูปที่สนเข้ามาศึกษาหาแง่คิดต่างๆ ขอบุญบารมีคุมครองรักษาทุกๆ ท่านครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 5 ก.ย. 2554

* * * ------------------------- * * *

อนุโมทนากับจิตดีดีครับ

* * * -------------------------------- * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
kinder
วันที่ 8 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนา
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ