สมถะ+วิปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔

 
ลุงหมาน
วันที่  5 ส.ค. 2554
หมายเลข  18865
อ่าน  12,751

ขอเรียนถามท่านอาจารย์และท่านผู้รู้ครับ

ในสติปัฏฐาน ๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม ที่อยากทราบว่าทั้ง ๔ บรรพ นี้ บรรพไหนที่เจริญวิปัสสนาได้อย่างเดียว บรรพไหนที่เจริญได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ขอให้ทราบรายละเอียดด้วยครับ ชัดๆ หน่อยครับ

ขอเพิ่มเติมอีกนิดครับ เมื่อเจริญสมถะจนได้ฌานจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาจะยกตรงไหน หมายถึงฌานที่เท่าไร หรือฌานใดก็ได้ครับ (เคยได้ยินมานานแต่ไม่เข้าใจ)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนาภาวนา กับ การเจริญสมถภาวนา ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิงครับ ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด หรือ กำลังเจริญวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นไม่ใช่เจริญสมถภาวนาครับ โดยนัยเดียวกัน ขณะที่เจริญสมถภาวนา ขณะนั้นไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ในบรรพไหนเลยครับ เพราะเป็นเรื่องของสมถภาวนา

สติปัฏฐาน แบ่งเป็นหมวดใหญ่คือ

กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา

สำหรับ ๔ หมวดนี้ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา ๓ หมวด เป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างเดียวครับ ส่วน กายานุปัสสนา เจริญได้ทั้ง สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งกายานุปัสสนาก็ยังแบ่งเป็น บรรพ หมวดย่อยไปอีกครับ มีทั้งหมด ๑๔ บรรพ คือ

อานาปานบรรพ ๑

อิริยาบถบรรพ ๑

จตุสัมปชัญญบรรพ ๑

ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๑

ธาตุมนสิการบรรพ ๑

สีวถิกา (ป่าช้า) ๙ บรรพ

โดยทั่วไปแล้ว อานาปานบรรพ หรือ อานาปานสติ ปฏิกูลมนสิการ เป็นได้ทั้งการเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งสามารถเจริญได้ถึงฌานจิต ถ้าเป็นไปในฝ่ายสมถภาวนา ส่วน ๑๒ บรรพที่เหลือ ไม่ได้ถึงฌานครับ เพียงอุปจารเท่านั้น

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 309

ก็กายานุปัสสนา ๑๔ บรรพ คือ

อานาปานบรรพ ๑

อิริยาบถบรรพ ๑

จตุสัมปชัญญบรรพ ๑

ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๑

ธาตุมนสิการบรรพ ๑

สีวถิกา (ป่าช้า) ๙ บรรพ

เป็นอันจบลง ด้วยคำพรรณนา มีประมาณเพียงเท่านี้.

ใน ๑๔ บรรพนั้น อานาปานบรรพ กับ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ๒ บรรพนี้เท่านั้น เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน ส่วน ๑๒ บรรพที่เหลือ เป็นอุปจารกัมมัฏฐานอย่างเดียว เพราะตรัสไว้ โดยการพิจารณาเห็นโทษแห่งกายอันเกี่ยวด้วยป่าช้า ดังนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ที่สำคัญนะครับ ขณะที่เป็นไปในการเจริญสมถภวานา เช่น เรื่องลมหายใจที่เป็นอานาปานสติ ถ้าเจริญสมถภาวนาอยู่ ก็เท่ากับว่า ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา นะครับ เพราะต้องแยกกันเด็ดขาด และขณะที่พิจารณาลมหายใจอันเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่ ขณะนั้นก็ไม่ได้เจริญสมถภาวนา

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อจะเจริญวิปัสสนาภาวนา จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียว โดยไม่ได้เจริญสมถภาวนาและได้ฌานก่อน จึงจะบรรลุก็มี เช่น นางวิสาขา, ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่สำหรับผู้ที่เจริญสมถภาวนาได้ฌานก่อน แต่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา จึงไม่บรรลุก็มีมากมายครับ

เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนครับว่า การจะบรรลุธรรมด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา และอีกประการหนึ่ง การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ ไม่ใช่ต้องเจริญสมถภาวนาก่อนให้ได้ฌาน จึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ ก็ไม่ใช่เช่นกัน เพราะการเจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียว ก็บรรลุธรรมได้ครับ

หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงองค์ของสมถะและวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือวิปัสสนาภาวนา นั่นเองครับ คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และ มีวิปัสสนา ด้วย

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมา มีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลัง คือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนาภาวนา เจริญมรรคอย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียว ก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหม ในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

เรื่อง มรรคหรือสติปัฏฐาน (วิปัสสนา)

เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373

อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับว่าเป็นทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแล เป็นทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ

อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ส่วนจากคำถามที่ว่า

ขอเพิ่มเติมอีกนิดครับ เมื่อเจริญสมถะจนได้ฌานจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาจะยกตรงไหน

หมายถึงฌานที่เท่าไร หรือฌานใดก็ได้ครับ (เคยได้ยินมานานแต่ไม่เข้าใจ)


ผู้ที่เจริญสมถภาวนาได้ฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือไม่มีการเจริญวิปัสสนามาก่อน ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาตัวจิตที่เป็นฌานได้ครับ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นต้น ดังนั้นไม่มีตัวเราที่ยกฌาน ยกอะไรเลย หากไม่มีความเข้าใจก็ยกไม่ได้ พิจารณาไม่ได้ครับ แต่สำหรับผู้ที่อบรมปัญญามามากในสมัยพุทธกาล ที่เป็นพระอริยเจ้าผู้เลิศ โดยมากท่านได้ฌานและเจริญวิปัสสนา บรรลุธรรมได้ด้วย คือ เมื่อเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน เมื่อออกจากฌาน ซึ่งจะเป็นฌานที่เท่าไหร่ก็ได้ พิจารณาฌาน ซึ่งก็เป็นจิต เป็นจิตตานุปัสสนานั่นเอง เห็นถึงความไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงจิต เห็นถึงความไม่เที่ยงของตัวจิตที่เป็นฌานจิตนั่นเองครับ แต่ผู้นั้นต้องมีปัญญา เข้าใจการเจริญวิปัสสนาอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดจากความเข้าใจผิดว่าจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุและเจริญวิปัสสนาได้เลย เพราะเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภาวนาทั้งสองอย่าง คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ใช่สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา,

สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับ กุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และในขณะนั้นก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย

เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ เมื่ออบรมเจริญความสงบ เมื่อจิตสงบมั่นคงขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ แต่การบรรลุฌานจิตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเห็นได้ว่า การเจริญสมถภาวนา ทำให้จิตสงบได้ ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ละอนุสัยกิเลส อันเป็นพืชเชื้อของกิเลสไม่ได้เลย เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา (โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนา) ไม่สามารถจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิด ว่ามีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ฌานขั้นต่างๆ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่รู้ฌานจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตามความเป็นจริงได้เลย ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไปถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในชีวิตประจำวันนั้น มรรคมีองค์ ๕ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก) ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เพื่อสติจะได้ระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง สัมมาสติ (สติเจตสิก) ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) เพียรระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิ (เอกัคคตเจตสิก) ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ และมรรคทั้งแปดองค์ก็เกิดร่วมกันเมื่อเป็นโลกุตตระ ขณะที่มรรคจิตผลจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกัน คือ พระนิพพาน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยังคงไม่ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐานก็ได้ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้างที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
aurasa
วันที่ 5 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนา ในคำอธิบายของคุณผเดิม และ อ.คำปั่นมากค่ะ และขอบคุณผู้ถามปัญหาด้วย อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 5 ส.ค. 2554

สติปัฏฐาน หมายถึง

๑. ตัวสติ เป็นสภาพระลึกรู้นามธรรม หรือ รูปธรรม

๒. อารมณ์ของสติ ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม มีลักษณะเฉพาะตน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

๓. สติปัฏฐานเป็นหนทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ดำเนินไปแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ลุงหมาน
วันที่ 6 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณทุกคำตอบครับที่ให้ความกระจ่าง

อธิบายให้เข้าใจ ละเอียด ลึกซึ้งมาก

ช่างตรงกับความต้องการที่จะรู้ดีจริงๆ

กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Thanapolb
วันที่ 21 ก.พ. 2555

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ วิปัสสนาภาวนา ที่รู้สภาพธรรมทั้งเป็นรูปธรรม (ปรมัตถ์) และ นามธรรม โดยในส่วนนามธรรมที่รู้ รู้โดยจิตทางมโนทวารนั้น

๑. ไปรู้นามธรรม ที่เป็นจิตและเจตสิก ที่พึ่งดับไปในวิถีจิตนั้นใช่ไหม

๒. นามธรรม (จิตเจตสิก) ที่เกิดทั้งในปัญญจทวาร ด้วยไหม

๓. นามธรรมที่วิปัสสนาญาณ เห็นชัดแจ้งได้ง่าย เช่น เวทนา เป็นต้น และมีอย่างอื่น อะไรบ้าง

๔. สามารถรู้สภาพนามธรรมในชวนะวาระก่อนนี้ (กุศล อกุศล) ด้วยเช่น โลภะ โทสะ อย่างนั้นด้วยใช่ไหม

๕. เหตุที่เกิดสภาพรู้ชัดแจ้งในนามธรรมเพราะ สติระลึก และปัญญา (สัมปชัญญะ) มีกำลังพอ มีปัจจัยพอใช่ไหม อย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 21 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

๑. ไปรู้นามธรรม ที่เป็นจิตและเจตสิก ที่พึ่งดับไปในวิถีจิตนั้นใช่ไหม

- ถูกต้องครับ

๒. นามธรรม (จิตเจตสิก) ที่เกิดทั้งในปัญญจทวาร ด้วยไหม

- ปัญญาเกิดทางปัญจทวารได้ครับ

๓. นามธรรมที่วิปัสสนาญาณ เห็นชัดแจ้งได้ง่าย เช่น เวทนา เป็นต้น และมีอย่างอื่นอะไรบ้าง

- เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส หรือ สภาพธรรมที่เป็นจิตที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน

๔. สามารถรู้สภาพนามธรรมในชวนะวาระก่อนนี้ (กุศล อกุศล) ด้วยเช่นโลภะ โทสะ อย่างนั้นด้วยใช่ไหม

- ต้องรู้ในขณะที่เพิ่งดับไป ไม่ใช่วาระก่อนๆ ครับ

๕. เหตุที่เกิดสภาพรู้ชัดแจ้งในนามธรรมเพราะ สติระลึก และปัญญา (สัมปชัญญะ) มีกำลังพอ มีปัจจัยพอใช่ไหม อย่างไรครับ

- ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Thanapolb
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณครับ และอนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ